เริ่มที่น้ำ จบที่น้ำ
ที่มา : สุขภาวะชุมชน จากหนังสือ "เมื่อเราร่วมแรงและแบ่งปัน"
ที่ต.โคกจาน อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี จุดเริ่มต้นของการจัดการตนเองของหมู่บ้านโนนสว่างนั้นเกิดขึ้นเพราะปัญหาจากน้ำ โดย ต.โคกจาน มีปัญหาเรื่องน้ำมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยิ่งปีใดฝนขาดช่วง ชาวบ้านจะได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า เกิดคำถามว่าจะทำอย่างไรให้มีน้ำพอใช้ จึงเริ่มมีการประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน โดย อบต. ประสานความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกเข้ามาจัดทำฝายเพื่ออุปโภคบริโภค ตลอดจนทำการเกษตรและปศุสัตว์
เป็นที่มาของฝายแม้วที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างขึ้นในปี 2553 เพื่อกั้นน้ำในช่วงหน้าแล้ง โดยใช้กระสอบทรายวางเรียงกันเป็นชั้น ตัดกลางลำห้วย เพื่อชะลอให้น้ำไหลได้ช้า แล้วยังมีฝายประชาร่วมใจ ซึ่งทาง อบต. หาวัสดุมาให้ ชาวบ้านเป็นคนลงแรงช่วยกันก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีฝายของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพื่อกักเก็บน้ำจากห้วงกวางโตน
นอกเหนือจากการทำนาแล้ว ชาวบ้านหมู่บ้านโนนสว่างยังปลูกผักสวนครัวบริเวณรั้วบ้านไว้เก็บรับประทานกันในครัวเรือน บ้านหนึ่งปลูกสามอย่าง บ้านหนึ่งปลูกสี่อย่าง ทุกบ้านสามารถนำผักมาแลกกันกินได้ เป็นการลดภาระรายจ่ายในครัวเรือน โดยวันนี้มี 3 ครัวเรือนที่หันมาปลูกผักขายอย่างจริงจัง และเป็นผักปลอดสารด้วย
เมื่อมีน้ำก็เหมือนมีหลักประกัน การันตีปากท้องและรายได้ที่ได้มาในแต่ละปี ชาวบ้านไม่ต้องลำบากหรือวิตกกังวลเหมือนก่อน วันนี้ทุกคนยังยืนหยัดบนถนนสายเกษตรกรรม ทุกบ้านยังคงทำนา ที่สำคัญคนบ้านเรายังคงทำนาด้วยสองมือ ภาพของเกษตรกรรมในวันก่อนยังเห็นได้ที่นี่ เพราะเราทำเพื่อกินในครัวเรือน มีเหลือจึงขาย
ทาง อบต.โคกจาน ก็ส่งเสริมให้ชาวบ้านยืนหยัดกับวิถีชีวิต รวมถึงสร้างการรวมกลุ่มให้มีความเข้มแข็ง ผ่านการจัดประกวดคุ้มบ้านของตำบล เพื่อให้ทุกหมู่บ้านเกิดการรวมกลุ่ม โดยทำมาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งหมู่บ้านโนนสว่างก็เป็นหมู่บ้านที่ได้รางวัล
ความสำเร็จของหมู่บ้านโนนสว่างเป็นแรงผลักดันให้หมู่อื่นๆ ดำเนินรอยตาม ซึ่งไม่มีเพียงแต่ในระดับตำบลเท่านั้น เพราะหมู่บ้านโนนสว่างเป็นตัวแทนอำเภอ เข้าประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงระดับจังหวัดโดยกรมพัฒนาชุมชน เมื่อปี 2554