เริ่มต้น “ออมเงินเตรียมเกษียณ”

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


เริ่มต้น


แฟ้มภาพ


"ออมเงินเตรียมเกษียณ" รับสังคมสูงวัยกับ "ประชารัฐเพื่อสังคม"


ประเด็นเร่งด่วนต่อเนื่องตาม "โครงการประชารัฐเพื่อสังคม"อีกหนึ่งประเด็น คือ การส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณอายุ ซึ่งรัฐบาล ภาคเอกชนและเครือข่ายภาคประชาสังคม เล็งเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอีก 4 ปีข้างหน้า จึงจำเป็นต้องสร้างหลักประกันทางรายได้สำหรับทั้งผู้สูงอายุและประชากรรุ่นใหม่ไปพร้อมกัน ถือเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในการเพิ่มความสามารถทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของไทยตามบริบทสังคมผู้สูงอายุอีกด้วย


จากข้อมูลวิจัยโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยและภาคีเครือข่าย จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2558 ในประเด็นเศรษฐกิจพบว่า ผู้สูงอายุไทยมากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด (ประมาณ 11 ล้านคน) มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน* หรือ ร้อยละ 34.3 กล่าวคือ มีรายได้ต่ำกว่า 2,647 บาทต่อเดือน จากการสำรวจยังพบว่า แหล่งรายได้ของผู้สูงอายุจากบุตรลดลง ในขณะที่รายได้จากการทำงานมี แนวโน้มสูงขึ้น สะท้อนถึงศักยภาพในการสร้างรายได้ที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ต่อเนื่องและเกิดการสะสมเตรียมพร้อมเพื่อการดำรงชีวิตหลังเกษียณได้ด้วยตัวเอง


นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ  หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)และเลขานุการภาครัฐคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม กล่าวว่า เรื่องการออมเพื่อการเกษียณ ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเข้ามาร่วมดำเนินการตามโครงการประชารัฐเพื่อสังคมด้วย เนื่องจากทำงานเรื่องการรณรงค์ในสถานประกอบการที่อยู่ในระบบประกันสังคมอยู่แล้ว ส่วนตัวมองว่า เรื่องวินัยการออมควรเป็นเรื่องสำหรับคนทั่วไป แม้กระทั่ง เด็กๆ ด้วยต้องให้ความรู้ความเข้าใจอย่างรอบด้านและชัดเจน มีข้อมูลสำรวจรายงานว่า ถ้าคนไทยจะมีเงินใช้เดือนละ 15,000 บาท หลังเกษียณจากการทำงาน (60 ปี -80 ปี) ต้องมีเงินเก็บ โดยประมาณ 4 ล้านบาท ด้วยสาเหตุนี้ ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมกำลังอยู่ระหว่างหารือว่าจะมีมาตรการต่อไปที่เป็นรูปธรรมเพื่อประชาชนอย่างไร เนื่องจากปัจจุบันมีการนำร่องการให้ความรู้ข้อมูลโดย ตลาดหลักทรัพย์ฯสำหรับแรงงานในระบบภาคเอกชนและภาครัฐแต่ส่วนแรงงานนอกระบบกำลังจะร่วมหารือเพื่อหาแนวทางกันต่อไป โดยจะน้อมนำหลักการเศรษฐกิจ พอเพียงและการออมต่อเนื่องระยะยาว ร่วมประยุกต์เข้าด้วยกัน


นางธนาภรณ์ กล่าวต่อว่า ตามแนวทางจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ในความร่วมมือโครงการประชารัฐเพื่อสังคมนี้จะขับเคลื่อนการออมเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน รองรับสังคมผู้สูงอายุหรือ Happy Money, Happy Retirement Project เมื่อเกิดความร่วมมือของหลายหน่วยงานเข้ามาจะสามารถเห็น การดำเนินงานและการต่อยอด  ภารกิจสำคัญคือ ร่วมกันพัฒนา ส่งเสริมความรู้และวินัยทางการเงินและการออมเพื่อการเกษียณอายุให้กับคนไทย เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินตลอดทุกช่วงชีวิตคนไทยมีความตระหนักรู้และมีวัฒนธรรมการออมการลงทุนอย่างสม่ำเสมอนำไปสู่การมีสุขภาพทางการเงินที่เข้มแข็ง ของประชาชนต่อไปในอนาคต


จากที่ประชุมประชารัฐเพื่อสังคม มี เป้าหมายที่ร่วมหารือโดยตลาดหลักทรัพย์ ภาคีภาคเอกชน ภาครัฐและภาคประชาสังคม ร่วมกำหนดการดำเนินงานในระยะ 5 ปี 2560-2564 ใน 2 กลุ่มคือ 1. วัยทำงานเน้นส่งเสริมให้คนไทยวัยทำงานประมาณ 40 ล้านคนตระหนักและได้รับความรู้การออม เพื่อเกษียณและส่งเสริมให้เกิดการออม เพื่อเกษียณผ่านผลิตภัณฑ์และช่องทางต่างๆ และ 2.วัยหลังเกษียณ เน้นส่งเสริมให้ คนไทยวัยหลังเกษียณประมาณ 10 ล้านคน ได้รับความรู้ สามารถสร้างและบริหารเงินออม ได้อย่างเหมาะสมและพอใช้ไปตลอดชีวิตและสนับสนุนให้เกิดการบริหารเงินออมผ่านผลิตภัณฑ์และช่องทางต่างๆ ซึ่งทั้ง 3 ภาคส่วนที่เข้ามาร่วมในโครงการประชารัฐเพื่อสังคมนี้ กำลังหารือและเร่งดำเนินการในระยะต่อไป


ด้าน ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)และเลขานุการภาคประชาสังคมคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม กล่าวว่า การออมเพื่อการเกษียณอายุที่พิจารณา 2 ส่วน คือ แรงงานในระบบกับแรงงานนอกระบบ ในระบบคือ กลุ่มที่เป็นพนักงานทั่วไปตามบริษัทเอกชนที่มีประกันสังคม ส่วนนี้ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ และทีมงานรับเป็นผู้นำในการให้สร้างความตระหนัก ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการวางแผนการออมและบริหารเพื่อเกษียณ โดยนำร่องตัวอย่างในบริษัทที่จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์เป็นทำงานเครือข่ายภาคเอกชนของตลาดหลักทรัพย์เองแล้วดังที่กล่าว


ดร.ประกาศิต กล่าวว่า อีกส่วนที่สำคัญคือ  กลุ่มแรงงานนอกระบบ ตามโครงการประชารัฐเพื่อสังคม จะดำเนินการร่วมกับ กองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.) และเครือข่ายทุกภาคส่วน ซึ่ง สสส. ได้ร่วมสนับสนุนเครือข่ายแรงงานนอกระบบผลักดันให้ได้เกิดพื้นที่แสดงความคิดเห็น ความต้องการ และการดูแลรวมถึงมีส่วนร่วมเพิ่มเติมของ กลุ่มนี้ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯและเครือข่ายได้ร่วมปรับปรุงชุดความรู้ เครื่องมือ สร้างความรู้และทักษะเรื่องการจัดการหนี้ การควบคุมค่าใช้จ่าย และการออมเพื่อเกษียณส่งเสริมให้ออมเพื่อเกษียณผ่าน กอช. ความร่วมมือจะทำให้เห็นภาพรวมการกระจายการสื่อสาร การทำความเข้าใจ การเข้าถึงชุดความรู้ของทุกกลุ่มคนโดยประชารัฐเพื่อสังคมจะดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคม มี สสส. เป็นตัวเชื่อม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างหารือเพื่อสร้างกลไกที่เป็นรูปธรรม


ดร.ประกาศิตกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวคิด กอช. และเครือข่ายนี้ถือเป็นทางเลือกใหม่ในหลักประกันทางรายได้เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุแล้ว มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงระบบการออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อเป็นผู้สูงอายุสำหรับคนที่ไม่ใช่ผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมหรือมิได้เป็นสมาชิกระบบบำนาญอื่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการดูแลของหน่วยงานเดียวตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนการออมแห่งชาติ เป็นการสร้างความมั่นคงทางรายได้ กลุ่มเป้าหมายของกองทุนเน้นไปที่กลุ่มแรงงานนอกระบบจำนวนกว่า 30 ล้านคนทั่วประเทศ ที่เป็นกลุ่มที่ควรได้รับหลักประกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและความมั่งคงทางรายได้ช่วงสูงอายุ เพราะไม่มีสวัสดิการรองรับ ไม่ได้รับประโยชน์ทดแทนชราภาพเหมือนกลุ่มแรงงานในระบบทั่วไป


การเตรียมความพร้อมเพื่อให้ประเทศไทยรับมือการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมผู้สูงอายุ อย่างรอบด้าน ในหลากหลายประเด็นทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ ฯลฯ จึงไม่ใช่เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือภาครัฐเท่านั้นที่ควรรับผิดชอบ ดังจะเห็นตามโครงการที่เกิดขึ้น จึงควรเป็นความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่ร่วมแบ่งปัน ส่งเสริมจุดแข็งของแต่ละหน่วยงาน อุดรูรั่วปัญหาอย่างตรงจุด ทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนา ประชาชนดำเนินชีวิตได้อย่างมั่งคั่งและยั่งยืนตลอดวัยเกษียณและตลอดไป

Shares:
QR Code :
QR Code