เริ่มต้นนำร่อง ช่วยเหลือวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม
สถานการณ์วัยรุ่นตั้งครรภ์ไม่พร้อม ถือเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนกำลังให้ความสำคัญ และเร่งดำเนินการเพื่อป้องกัน แก้ไขและพัฒนาระบบบริการที่ทั่วถึงและเป็นมิตรเพื่อช่วยเหลือ “ผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม” ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงการมีชีวิตทางเพศที่เป็นสุขและปลอดภัย
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ร่วมกับแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศและมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดการศึกษาดูงานเพื่อพัฒนาระบบบริการช่วยเหลือผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ภายใต้โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งของระบบช่วยเหลือวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ณ บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลปทุมธานี และสหทัยมูลนิธิโดยโครงการสร้างความเข้มแข็งของระบบช่วยเหลือวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือในการดำเนินงานภายใต้การทำบันทึกข้อตกลง(mou) ร่วมกันระหว่าง สสส. กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีเป้าหมายเพื่อสร้างต้นแบบของระบบบริการช่วยเหลือผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยกำหนดพื้นที่ 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพหมานคร ปทุมธานี นครสวรรค์ ขอนแก่น ศรีสะเกษ และศูนย์ประชาบดี
คุณสุมาลี โตกทอง ผู้ประสานงานโครงการศึกษาดูงานเพื่อพัฒนาระบบบริการช่วยเหลือผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ กล่าวถึง สถานการณ์เรื่องท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นในสังคมปัจจุบันว่าอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นส่งผลต่อโอกาสและคุณภาพชีวิตของวัยรุ่น ทำให้เกิดความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการทำงานเพื่อป้องกันและช่วยเหลือ โครงการจัดศึกษาดูงานเป็นส่วนหนึ่งของการขยายมุมมองต่อการให้บริการของบุคลากรในบ้านพักเด็กและครอบครัว เพื่อพัฒนาระบบช่วยเหลือผู้ที่ท้องไม่พร้อมในบ้านพักเด็กฯ ให้สอดคล้องกับปัญหาในแต่ละพื้นที่ และเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบการทำงานองค์กรต่อไป ทั้งด้านการให้บริการ การจัดระบบช่วยเหลือรองรับ การเชื่อมประสานเครือข่ายส่งต่อ และการสนับสนุนคุณภาพชีวิตของผู้รับริการเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำ
คุณอัญชลี ลิ่มไชย พนักงานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก พูดถึงหัวใจสำคัญในการพัฒนาระบบบริการว่า หากเราจะปรับระบบบริการหลักใหญ่ๆ คือการปรับความคิดและทัศคติของคนทำงานให้มีทัศนะคติต่อผู้รับบริการให้ดีขึ้น จากนั้นก็ปรับระบบของบ้านพักให้ชัดเจน เนื่องจากบ้านพักเด็กและครอบครัวต้องให้บริการหลายกลุ่มเป้าหมาย จึงทำให้การช่วยเหลือเป็นไปได้ไม่เต็มที่ อีกทั้งควรมีการส่งเสริมงบประมาณด้านการช่วยเหลือ การแก้ไขปัญหาในการประสานส่งต่อ และให้ข้อเสนอว่า ควรมีการเสริมสร้างกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อพร้อมรับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ต้องเจออีกด้วย
ทางด้านคุณเชวง ดีด้านค้อ นักสังคมสงเคราะห์ ศูนย์ประชาบดี 1300 กล่าวว่า การมาดูงานในครั้งนี้ ได้เห็นการทำงานที่สามารถนำมาปรับใช้กับงานของหน่วยงานของตนสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.ส่วนผู้ปฏิบัติงาน/ผู้ให้บริการ ต้องมีทัศนคติที่ดีต่อผู้ประสบปัญหา มีหัวใจที่พร้อมที่จะให้บริการ และผู้ปฏิบัติงานต้องมีการเสริมพลังให้ตัวเองเพื่อให้มีความพร้อมและมีกำลังในการให้บริการ 2.ส่วนของการปฏิบัติงาน ซึ่งการมาดูงานในครั้งนี้ทำให้ได้แนวทางการทำงาน และการเชื่อมต่อเครือข่ายให้ความช่วยเหลือเพื่อทำงานร่วมกัน การทำงานด้านครอบครัวอุปถัมภ์ ที่นำไปปรับใช้ในการทำงานของหน่วยงานตัวเองได้ 3.ผู้รับบริการควรได้รับประโยชน์สูงสุด และที่สำคัญคือการเตรียมความพร้อมให้วัยรุ่นท้องไม่พร้อมคืนสู่สังคม มองว่าหน่วยงานตัวเองควรมีเรื่องการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาอาชีพ หากสามารถทำได้ครบวงจรจะส่งผลดีต่อผู้รับบริการที่จะคืนสู่สังคมต่อไป
คุณณัฐยา บุญภักดี ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ กล่าวว่าสำหรับผู้ปฏิบัติงานการที่เรารู้ว่าเราไม่ได้ทำงานอย่างโดดเดี่ยว และมีเพื่อนร่วมทางในการทำงานก็จะทำให้เรามีแรงใจในการทำงานมากขึ้น เพราฉะนั้นงานอย่างที่พวกเราทำอยู่นั้น เป็นงานที่ได้ช่วยเหลือคนพอเห็นผู้ประสบปัญหาดีขึ้นเราก็ชื่นใจ ความชื่นใจนี้แหละที่เป็นพลังใจที่ดีในการทำงานกันต่อไป
คุณณัฐยา เล่าถึงยุทธศาสตร์ช่วยเหลือและป้องกันวัยรุ่นท้องไม่พร้อมของประเทศอังกฤษ เพื่อเป็นแนวทางให้คนทำงานต่อยอดและพัฒนางานช่วยเหลือต่อไปว่า เป้าหมายหลักของยุทธศาสตร์วัยรุ่นท้องไม่พร้อมของประเทศอังกฤษ คือ ลดอัตราท้องไม่พร้อมของวัยรุ่น 60% ภายใน10 ปี และการช่วยเหลือพ่อแม่วัยใสให้เข้มแข็ง โดยวาง 3 แนวทางหลักไว้ได้แก่ ป้องกันให้ดีที่สุด ช่วยเหลือดูแลพ่อแม่วัยรุ่นให้ดีที่สุด และสื่อสารสังคมสร้างความเข้าใจ ซึ่งจากที่ประเทศอังกฤษเคยเป็นประเทศหนึ่งที่มีปัญหาวัยรุ่นท้องไม่พร้อมสูง แต่หลังจากใช้ยุทธศาสตร์นี้ปัญหาลดลงถึง 40%
สำหรับประเทศไทยการทำงานให้ความช่วยเหลือวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมในระดับประเทศ ระดับภาค และระดับจังหวัด ใน 3 ระดับนี้ ได้มีการทำบันทึกข้อตกลง (mou) ร่วมกันระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และขับเคลื่อนงานโดยสสส. เพื่อเชื่อมกระทรวงพัฒนาสังคม กระทรวงสาธารณะสุข กระทรวงศึกษาธิการ กรมปกครองท้องถิ่น(กระทรวงมหาดไทย) และสปสช.เพื่อทำงานในเรื่องนี้ร่วมกันอย่างจริงจัง เราคงต้องมารอดูกันว่ายุทธศาสตร์ที่แต่ละกระทรวงมีจะสามารถมาขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันในเรื่องนี้ได้อย่างไร ภายใต้กรอบ “การป้องกันให้ดีที่สุด ช่วยเหลือให้ดีที่สุด และสื่อสารสังคมสร้างความเข้าใจ”
ที่มา : แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ