เริ่มต้นชีวิตคู่อย่างไร ให้สุขใจสบายกระเป๋า

          เมื่อชายหญิงตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน อาจเรียกได้ว่า เป็นการใช้ชีวิตในเส้นทางใหม่ เพราะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตหลายด้าน รวมทั้งด้านการเงิน เพราะเงินที่เคยอยู่ในกระเป๋าของคนๆ เดียว ก็จะต้องนำมาแบ่งปันกันใช้ และวางแผนร่วมกันในครอบครัว นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องของการเงินของคนที่จดทะเบียนสมรสที่แตกต่างจากคนโสดก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เช่นกันค่

/data/content/19574/cms/bfkpsy123479.jpg

บริหารเงินใช้จ่ายให้คุ้มค่า

          การบริหารเงินค่าใช้จ่ายของคู่สามีภรรยามีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับการตกลงกันของทั้งคู่ หากสามีเป็นผู้หารายได้เพียงฝ่ายเดียว ก็สามารถจัดสรรเงินไว้ให้ภรรยาใช้จ่ายภายในบ้านได้ไม่ยาก แต่ในกรณีที่ทั้งสามีและภรรยามีรายได้ทั้งคู่ คงต้องตกลงกันตั้งแต่แรกว่า จะแบ่งกันรับผิดชอบค่าใช้จ่ายภายในบ้านอย่างไร นอกจากนี้ การบริหารจัดการเงินค่าใช้จ่ายก็เป็นสิ่งสำคัญค่ะ แนะนำให้ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อให้ทราบว่า ในแต่ละเดือนครอบครัวมีเงินเหลือมากน้อยแค่ไหน และหมดเงินไปกับค่าใช้จ่ายส่วนใดเป็นจำนวนมาก

 

ส่วนการเก็บออมเงินที่เหลือในแต่ละเดือนนั้น นอกจากการฝากเงินในบัญชีเงินฝากที่เราคุ้นเคยแล้ว กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นหรือกองทุนรวมตลาดเงินเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ โดยกองทุนประเภทนี้จะนำเงินของเราไปลงทุนในตราสารหนี้อย่างพันธบัตร หุ้นกู้ หรือเงินฝาก ที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ส่งผลให้ผลตอบแทนที่ได้รับสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ กองทุนประเภทนี้อาจมีสภาพคล่องต่ำกว่าบัญชีเงินฝากเล็กน้อย โดยหากต้องการใช้เงิน เราจะต้องส่งคำสั่งขายกองทุน แล้วจะได้รับเงินในวันทำการถัดไปค่ะ

วางแผนอย่างฉลาดเพื่อเป้าหมายของครอบครัว

          สำหรับครอบครัวใหม่เชื่อว่า คงมีการตั้งเป้าหมายทางการเงินหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือการส่งเสียให้ลูกมีการศึกษาที่ดี ทำให้ต้องมีการจัดสรรเงินอย่างเหมาะสม เพราะการจะออมหรือลงทุนเพื่อหลายเป้าหมายในเวลาเดียวกัน อาจทำได้ยาก จึงต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมาย เช่น หากต้องการซื้อบ้านและรถใหม่ การซื้อบ้านหลังใหม่อาจมีความสำคัญกว่า เพราะสมาชิกครอบครัวมีจำนวนมากขึ้น ส่วนในช่วงที่ยังไม่ได้ซื้อรถนั้น อาจจำเป็นต้องใช้บริการรถขนส่งมวลชนแทนไปก่อนระยะหนึ่งค่ะ

           นอกจากนี้ การเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อออมหรือลงทุนสำหรับเป้าหมายต่างๆ ให้เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญค่ะ เป้าหมายที่ระยะเวลาสั้นไม่ถึง 3 ปี อย่างการซื้อรถหรือดาวน์บ้าน ควรเลือกสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝาก กองทุนตราสารหนี้ แม้ว่าจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนไม่มากนักประมาณ 2-3% ต่อปี แต่เราก็มั่นใจว่า เงินต้นที่เราตั้งใจเก็บออมจะอยู่ครบ ส่วนเป้าหมายการออมเงินเพื่อการศึกษาของลูกที่มีเวลาเก็บออมนาน ก็สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เพื่อโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทน แนะนำให้ลงทุนในกองทุนผสมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ ซึ่งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีประมาณ 5-8% ต่อปีค่ะ

ศึกษาข้อแตกต่างของการจดหรือไม่จดทะเบียนสมรส

          อีกหนึ่งเรื่องที่คู่แต่งงานใหม่ไม่ควรละเลยคือ การศึกษาถึงข้อแตกต่างของการจดทะเบียนและไม่จดทะเบียนสมรส เพราะจะมีผลกับการจัดการทรัพย์สินของเราไม่น้อยเลยล่ะค่ะ โดยเมื่อคู่แต่งงานจดทะเบียนฯ กันแล้ว ทรัพย์สินที่คู่สมรสหามาได้ระหว่างสมรสถือว่าเป็นสินสมรส แต่หากยังไม่จดทะเบียนฯ กัน ทรัพย์สินต่างๆ ยังถือว่าเป็นสินส่วนตัว นอกจากนี้ ในเรื่องของการยื่นภาษี คู่สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกันแล้ว อย่าลืมศึกษาวิธีการยื่นภาษีแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการยื่นรวมหรือแยกยื่น เพื่อให้สามารถเลือกวิธีการยื่นได้เหมาะสมที่สุด ส่วนคู่ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนฯ ยังคงใช้การยื่นภาษีแบบแยกยื่นเหมือนตอนที่โสด

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 

Shares:
QR Code :
QR Code