เยาวชน ‘ลำพูน’ โชว์พลัง ‘พัฒนาเมือง’
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์
“พลังเยาวชนคนหละปูน” โชว์ศักยภาพเยาวชนรุ่นใหม่ คนไทยในอนาคต พลังในการพัฒนาประเทศ
สถาบันวิจัยหริภุญชัย และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล จัดงานสืบฮีต สานฮอย ฮ้อยกำกึ๊ด คนฮักหละปูน ครั้งที่ 2 “บุญตานข้าวใหม่ ปู๋จาพระธาตุเจ้าหริภุญชัย และงาน “พลังเยาวชนคนหละปูน” ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.ลำพูน ภายใต้โครงการพัฒนาองค์กรระดับจังหวัดเพื่อสร้างพลเมืองเยาวชน โดยเริ่มดำเนินโครงการในปี 2560 เพื่อสนับสนุนเยาวชนลำพูนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองเป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) ที่เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาเมืองลำพูน
จากการดำเนินการดังกล่าว ผลความสำเร็จ คือ เกิดโครงการชุมชนที่มีเด็กและเยาวชนลำพูนเป็นผู้รับผิดชอบ 15 โครงการ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) โครงการด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น จำนวน 10 โครงการ 2) โครงการด้านการเกษตร จำนวน 2 โครงการ และ 3) โครงการด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 3 โครงการ เกิดแกนนำเยาวชน จำนวน 87 คน พี่เลี้ยงกลุ่มเยาวชน จำนวน 26 คน โดยมีผลประเมินการเรียนรู้ของเยาวชนเพิ่มขึ้นทั้ง 6 ด้าน คือ สำนึกรักษ์ท้องถิ่น สำนึกพลเมือง การทำงานเป็นทีม รู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยี คิดเป็นเหตุเป็นผล และรู้จักตนเอง
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานว่า สืบฮีต สานฮอย มีความหมายว่า การสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามของบรรพบุรุษ และฮ้อยกำกึ๊ด คนฮักหละปูน หมายถึงความพยายามเชื่อมโยงความรัก สามัคคี ความร่วมมือร่วมใจ ของคนที่อยากเห็นลำพูนเป็นเมืองที่น่าอยู่ ร่มเย็นในบวรพุทธศาสนา การจัดงานบุญตานข้าวใหม่ ปู๋จาพระธาตุเจ้าหริภุญชัย การจัดงานในครั้งนี้เป็นปีที่ 2 ซึ่งเป็นโอกาสดีที่เด็กและเยาวชนจะได้มาร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมในที่ศักดิ์สิทธ์แห่งนี้ เพราะจังหวัดลำพูนเป็นเมืองที่เก่าที่สุดในล้านนา และยังเป็นเมืองที่อบอุ่นและเป็นสุข จึงอยากให้เด็กและเยาวชน ได้เรียนรู้จากบรรพบุรษที่สืบสานต่อกันมา เพื่อปลูกฝังให้ลูกหลานซึมซับและสืบสานประเพณี วัฒนธรรมที่มีคุณค่าให้ยั่งยืนต่อไป
นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า ยินดีที่เด็กและเยาวชนทุกคนทำโครงการได้สำเร็จ และที่สำคัญยิ่งกว่าคือต้องยินดีกับคนลำพูนที่มีลูกหลานที่ เก่ง กล้า สามารถ ซึ่งความสำคัญอยู่ที่ได้ทำเพราะโครงการจะสำเร็จออกมาเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่น้อง ๆ ทำมีความหมาย การที่ผู้ใหญ่ให้โอกาสเด็กและเยาวชน จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จังหวัดลำพูนได้ทำเป็นจังหวัดต้น ๆ ซึ่งจังหวัดอื่นควรนำไปเป็นเยี่ยงอย่าง ทั้งนี้ การทำโครงการโดยการเรียนรู้ชุมชนของตนเอง จากที่เคยเห็นก็จะมาทำความเข้าใจและเมื่อเข้าใจก็เลือกโครงการมาทำจนเกิดความสำเร็จ หลายโครงการอยากจะเลิกกลางทางเมื่อเจอปัญหา แต่ก็สู้และอดทน เราอยากเห็นคนรุ่นใหม่ เวลาเจอปัญหาแล้วบอกว่าอยากจะสู้กับมันสักตั้ง แบบน้อง ๆ เหล่านี้ ดังนั้น บทบาทของพี่เลี้ยงโครงการและผู้ใหญ่ที่ให้โอกาสเป็นเรื่องที่ดีมาก และน่าภาคภูมิใจที่มีผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ชุมชน สนับสนุน จนโครงการสำเร็จ
“กว่า 1 ปี ที่เด็กและเยาวชนลำพูนเลือกทำโครงการจากพื้นที่ได้เรียนรู้ รู้จักตนเอง ภูมิใจในตนเอง ว่าเขามีดี และเรียนรู้การเข้าสังคมกับเพื่อน ๆ นี่คือการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่จะหาไม่ได้ในโรงเรียน โจทย์ที่ดึงมาจากชุมชนคือโจทย์ชีวิตจริงแท้ ๆ แก้ปัญหาจากเรื่องจริง สำเร็จจริง ใช้ประโยชน์ได้จริง นี่คือการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นแบบย่างที่ดีให้กับอีกหลายจังหวัด ต้องชื่นชมน้องๆ ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งความสำเร็จที่น้องทำและมาแสดงให้ผู้ใหญ่เห็นเป็นความสำเร็จเบื้องต้น เพราะยังต้องไปในเส้นทางอีกยาว แต่ขอให้จดจำความภาคภูมิใจนี้ไว้” นางปิยาภรณ์ กล่าว
ด้าน น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า ฟังเรื่องราวความสำเร็จใน 15 พื้นที่ ได้เห็นแววตาที่เป็นประกายแห่งความสนุกและภาคภูมิใจของเด็กและเยาวชน สะท้อนให้เห็นว่านี่คือหน้าที่ของผู้ใหญ่อย่างเราที่ทำได้ ควรทำ และบอกต่อผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ที่มีบทบาทเป็นพ่อแม่ เป็นผู้ปกครอง เป็นผู้ใหญ่ที่ทำหน้าที่ในสถานศึกษา หรือผู้ใหญ่ที่สวมหมวกเป็นนักการเมือง สื่อมวลชน ว่าต้องถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะบ่มเพาะเด็กให้เติบโตโดยมีแววตาแห่งความสนุก ความตื่นเต้น ความภาคภูมิใจ เมื่อได้ลงมือทำสิ่งที่เขาสนใจและเป็นประโยชน์ต่อชุมชน
“สังคมไทยไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องช่วยกันทำสังคมให้เป็นสังคมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย ให้เขาได้เติบโตใช้ศักยภาพของเขาได้อย่างเต็มที่แล้วพาเราก้าวข้ามความเป็นสังคมสูงวัย ผู้ใหญ่ยุคนี้ต้องพึ่งพาอาศัยศักยภาพเด็กและเยาวชน โดยผู้ใหญ่ในวันนี้ มีหน้าที่ที่สำคัญในการเอื้ออำนวยความรู้และโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ และที่สำคัญมาก ๆ อีกอย่างจากที่ฟังประสบการณ์จากน้อง ๆ พบว่าหลายครั้งที่เขาล้ม ท้อ ผิดใจกันเองไม่อยากทำโครงการต่อแล้ว แต่มีการสนับสนุนที่ทำให้เขาล้มแล้วลุกขึ้นได้ พลาดแล้วเริ่มใหม่ได้ นี่เป็นหน้าที่สำคัญของผู้ใหญ่ทุกคนที่มีต่อเด็กและเยาวชน” น.ส.ณัฐยา กล่าว
น้องโอ๊ต นายจารุวัฒน์ จันทิดง นักศึกษา ปวส. ชั้นปี 2 สาขาธุรกิจสถานพยาบาล วิทยาลัยอาชีวศึกษาจันทร์รวี เผยว่า โครงการนักสืบเดินดินต๋ามกอยบ้านเกิด เป็นโครงการที่ทำขึ้นเพื่อพาเยาวชนบ้านดงใต้พัฒนาออกไปศึกษาทำความรู้จักของดีที่มีอยู่ในชุมชน เพื่อให้เกิดความรัก หวงแหนในสิ่งดี ๆ ที่อยู่ในชุมชนและกลับมาเอาใจใส่ ตลอดจนช่วยกันรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีให้คงอยู่เหมือนเช่นคนรุ่นก่อนช่วยกันรักษาสืบมา
“ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในชุมชนไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีความเข้มแข็งที่เกิดจากพลังของเด็กและเยาวชนที่พร้อมสานต่อขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมไม่ให้สูญหาย โดยจะสืบทอดต่อไปให้นานเท่านาน ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับตนเอง ทำให้กล้าพูด กล้าคิด กล้าแสดงออก เพื่อนบางคนได้มีการพัฒนาไปสู่อาชีพ เช่น ได้ประสบการณ์ในเรื่องการตัดต่อเพลง งานพิธีกร การบริหารจัดการ จากการได้เรียนรู้ชุมชนของตนเอง ซึ่งเคยมีคนบอกว่าเกรดทำให้คนมีงานทำ แต่ประสบการณ์ทำให้คนทำงานเป็น” น้องโอ๊ต กล่าว
น้องพีท นายปฏิภาณ ณ บางช้าง นักเรียนชั้น ม. 3 โรงเรียนมงคลวิทยา เผยว่า ผมทำโครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านสันคะยอมรุ่นสู่รุ่น เพราะป่าในจังหวัดลำพูนถูกทำลายจากไฟป่า การบุกรุกที่ทำกิน การตัดไม้ การขุดดินออกไปขาย เยาวชนจึงรวมตัวกันทำโครงการเพื่อรณรงค์ปลูกจิตสำนึกเยาวชนและชาวบ้านให้ร่วมกันอนุรักษ์ป่าชุมชนและสร้างเครือข่ายเยาวชนในการทำกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“จากอดีตสายแว้น เล่มเกม โลกส่วนตัวสูง ทำให้คนรอบข้างเดือดร้อนไม่พอใจ เมื่อมีโอกาสได้มาเข้าร่วมทำโครงการฯ ได้รับความมั่นใจ กล้าแสดงออกมากขึ้น เพราะการกล้าแสดงออกส่งผลให้มีชีวิตที่ดีขึ้น นิสัยก็เปลี่ยนไปปรับตัวเข้าหาสังคมและเข้ากับคนได้มากขึ้น ที่สำคัญจากการทำโครงการผลที่เกิดขึ้นกับชุมชนคือชุมชนมีอาหารจากป่ามากขึ้นผืนป่าอุดมสมบูรณ์มากขึ้น” น้องพีท เผย