เยาวชนหวังครอบครัวไทยมีความรักความผูกพัน

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า 


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เยาวชนหวังครอบครัวไทยมีความรักความผูกพัน thaihealth


โพลล์ชี้เยาวชนหวังครอบครัวไทยมีความรักความผูกพัน..สุดกังวล 'สุขภาพ-ความรุนแรง-หนี้สิน'


เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซอยงามดูพลี ย่านทุ่งมหาเมฆ กทม. มีงานแถลงข่าวเรื่อง “คลี่ครอบครัวไทย 4.0” โดยมีการเปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนไทยอายุ 15-24 ปี จำนวน 824 ในเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัว พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.15 ระบุว่า ทุกวันนี้อยู่กันแบบครอบครัวเดี่ยว มีพ่อแม่และลูก อันดับ 2 ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ลูกอยู่กับพ่อหรือแม่เพียงคนเดียวเท่านั้น ร้อยละ 15.89 และอันดับ 3 ครอบครัว 3 รุ่น มีรุ่นปู่ย่าตายาย พ่อแม่และลูก ร้อยละ 14.55


เมื่อถามว่าอะไรคือความหมายของครอบครัว กลุ่มตัวอย่างตอบว่า อันดับ 1 มีความรักความผูกพัน รองลงมา การอยู่ร่วมกัน และอันดับ 3 คือการมีความมั่นคงทางรายได้ของหัวหน้าครอบครัว กับการให้การศึกษากับสมาชิกในครอบครัวหรือบุตรหลาน ส่วนความรู้สึกต่อวันครอบครัว 14 เมษายน ของทุกปี เยาวชนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 54 ตอบว่า รู้สึกเฉยๆ รองลงมา ร้อยละ 43 ดีใจ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.7 ระบุว่า หากนึกถึงวันครอบครัวจะนึกถึงความสุขเป็นอย่างแรก รองลงมา ร้อยละ 39.8 นึกถึงการไปเที่ยว ทำกิจกรรมร่วมกัน


อิทธิพล ทองแดง ในประเด็นความเข้มแข็งของครอบครัว เยาวชนกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 52 ระบุว่า เข้มแข็งมาก อันดับ 2 ร้อยละ 39 เข้มแข็งปานกลาง เช่นเดียวกับความอบอุ่น ร้อยละ 52.34 ตอบว่า อบอุ่นมาก รองลงมา ร้อยละ 38.32 อบอุ่นปานกลาง ส่วนความคาดหวังต่อครอบครัว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 24.2 ตอบว่า มีความรักต่อกัน รองลงมา ร้อยละ 21.7 มีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่มีการทะเลาะใช้ความรุนแรงกันในครอบครัว และอันดับ 3 ร้อยละ 20.5 มีบ้านที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง


เยาวชนหวังครอบครัวไทยมีความรักความผูกพัน thaihealth


สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับครอบครัว อันดับ 1 เรื่องสุขภาพ อันดับ 2 การทะเลาะหรือใช้ความรุนแรง อันดับ 3 ภาระหนี้สิน ซึ่งเรื่องของหนี้สิน พบว่ายิ่งผู้ตอบแบบสอบถามอยู่ในครอบครัวรายได้น้อยเท่าไร ก็จะยิ่งมีความกังวลมากเท่านั้น เช่นเดียวกับอบายมุขสิ่งเสพติดต่างๆ ส่วนความภาคภูมิใจต่อครอบครัว อันดับ 1 สมาชิกในครอบครัวมีความรักต่อกัน รองลงมา มีบ้านมีที่อยู่เป็นของตนเอง และอันดับ 3 พึ่งตนเองได้ ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ระบุว่า การอยู่กับครอบครัวยังมีทั้งความสุข ความปลอดภัย และยังให้การยอมรับในการแสดงความคิดเห็นของเยาวชน


น.ส.ณัฐยา บุญภักดี เจ้าหน้าที่บริหารแผนงานเยาวชน กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) กล่าวว่า ปัจจุบันคำว่าครอบครัวในสังคมไทยซับซ้อนมากขึ้น อาทิ ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวที่ไม่มีลูก ครอบครัวที่เป็นคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับ ทำให้ไม่ได้รับสิทธิต่างๆ เช่น การลดหย่อนภาษีเงินได้ การรักษาพยาบาล การรับบุตรบุญธรรม และการรับมรดก หรือครอบครัวที่สมาชิกแต่ละคนมาอยู่รวมกันทั้งที่ไม่ใช่ญาติ แม้กระทั่งคนอยู่เป็นโสด ดังนั้นภาครัฐจึงไม่สามารถใช้นิยามครอบครัวแบบเดิมๆ มาจัดทำนโยบายได้อีกต่อไป


“การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับครอบครัว ไม่สามารถเอาสถิติตัวเลขระดับชาติมากำหนดได้เลย เพราะไม่ละเอียดอ่อน ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตจริงๆ ของคนที่ใช้กันอยู่ อย่างที่เคยถามน้องๆ ว่าครอบครัวของคุณเป็นประเภทไหน ส่วนใหญ่ก็จะตอบว่าครอบครัวแบบพ่อแม่ลูก แต่พอถามอีกว่าทุกวันนี้อยู่กับใคร ก็ตอบว่าอยู่เดียวเพราะต้องเรียนหนังสือ มันก็สะท้อนเหมือนกันว่าถ้าเราตั้งคำถามไม่ละเอียดอ่อนพอ เราก็จะได้ข้อมูลที่ยังไม่สะท้อนความเป็นจริง” น.ส.ณัฐยา กล่าว


เยาวชนหวังครอบครัวไทยมีความรักความผูกพัน thaihealth


น.ส.ณัฐยา ยังกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม แม้สมาชิกในครอบครัวจะแยกย้ายกันไปอยู่คนละที่ด้วยหน้าที่การงานการเรียน แต่ยุคปัจจุบันรวมถึงยุคต่อๆ ไป เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จะใช้อย่างไรเพื่อเชื่อมความรักความผูกพันของครอบครัวเข้าด้วยกัน อาทิ ผลสำรวจข้างต้น เยาวชนไม่ได้ตอบว่าครอบครัวอบอุ่นคือครอบครัวที่ต้องมีสมาชิกครบหรือต้องอยู่ร่วมกันเสมอไป แต่หมายถึงแม้ตัวจะไมได้อยู่ด้วยกัน แต่เมื่อติดต่อกันเมื่อไรก็ได้รับการตอบรับที่ดี มีปัญหาปรึกษากันได้ มีเรื่องทุกข์ใจเล่าให้ฟังได้ ทำให้ความหมายของครอบครัวขยายไปจากเดิมมาก


ขณะที่ นายอิทธิพล ทองแดง อายุ 21 ปี ประธานสภาเด็กและเยาวชน จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า จากการประชุมเชิงปฏิบัติการของตัวแทนเยาวชน จำนวน 91 คน ใน 21 จังหวัด เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นครอบครัวไทยในมุมมองของเยาวชน เมื่อ 26-28 มี.ค. ที่ผ่านมา พบว่า ภาพที่เด็กและเยาวชนไม่อยากเห็นในครอบครัวของตน อาทิ การหย่าร้าง แยกทาง ทะเลาะเบาะแว้ง ใช้ความรุนแรงทั้งทางกายและทางวาจา หรือแม้กระทั่งการทะเลาะแบบเงียบงัน อยู่บ้านเดียวกันแต่ไม่พูดคุยกัน


นายอิทธิพล ระบุว่า สาเหตุสำคัญของปัญหาในครอบครัว มักมาจากผู้เป็นพ่อที่ติดเครื่องดื่มมึนเมา บางครอบครัวพบว่าดื่มมากจนถึงขั้นต้องออกจากงาน ติดการพนัน การนอกใจ นอกจากนี้ยังพบปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว ปัญหาการเกี่ยงกันดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว หรือปัญหาสังคมก้มหน้า แม้อยู่ในบ้านเดียวกันแต่แทบไม่พูดคุยกันเพราะต่างคนต่างจ้องโทรศัพท์มือถือคนละเครื่อง เป็นต้น ส่วนสิ่งที่เด็กและเยาวชนอยากเห็น คือการที่ในครอบครัวมีความรักความผูกพัน มีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน และปรึกษาพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง


และสิ่งที่เยาวชนคาดหวังจากชุมชนและสังคม เพื่อให้ครอบครัวสามารถช่วยให้เยาวชนมีคุณภาพ ชุมชนก็หมายถึงคนรอบข้าง อยากให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นใจกัน ไม่กดขี่ข่มเหงแบ่งแยกชนชั้น ลดการนินทาจ้องจับผิด อย่างเพื่อนบ้านชอบฟ้องผู้ปกครองบอกว่าไปนั่นไปนี่ ทำให้ผู้ปกครองดุเด็ก พ่อแม่ก็เชื่อคนข้างบ้านมากกว่า ปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับสังคม จนเด็กคิดว่าตัวเองด้อย ไม่มีความสามารถ ไม่เก่ง เด็กก็จะขาดโอกาสในการใช้ความคิดของตัวเองในการพัฒนาตนเอง” นายอิทธิพล ระบุ

Shares:
QR Code :
QR Code