เยาวชนวิถี ‘พอเพียง’

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


เยาวชนวิถี  'พอเพียง' thaihealth


ภาพของ "นักเรียนนักศึกษากลุ่มจิตอาสา"  ที่ร่วมกันเก็บขยะ ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่มาแสดงความอาลัยพระบรมศพของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้คนที่พบเห็นปลื้มไปกับน้ำใจของพวกเขา


จิตอาสาของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ เกิดขึ้นจากการสำนึกในคำสอนของพระองค์ในการสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ หากคนรุ่นใหม่มีสำนึกดีย่อมเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนชาติในยุคต่อไปได้


โครงการเพิ่มศักยภาพแกนนำสภาเด็กและเยาวชนในการ ขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การมีสุขภาวะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นโครงการหนึ่งที่น้อมนำแนวพระราชดำริมาปรับใช้กับกลุ่มเยาวชน เพื่อให้เห็นว่า สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตจริงได้


การเพิ่มศักยภาพแกนนำสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด ขับเคลื่อนปรัชญา "ความพอเพียง" โดยนำไปประยุกต์ใช้ในมิติต่างๆ ถูกส่งผ่านไปใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ด้วยกิจกรรมค่ายเรียนรู้ โดยมีตัวแทนจากพื้นที่แต่ละจังหวัดเข้าร่วมโครงการเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้กับเยาวชน


ด้วยเห็นว่าเด็กและเยาวชน เป็นรากฐานสำคัญของชาติ จึงต้อง บ่มเพาะแกนนำเหล่านี้ให้มีทักษะในการดำเนินชีวิตให้มีสุขภาวะที่ดีทั้ง กาย ใจ และสังคม และสามารถนำความรู้ ประสบการณ์จากการเรียนรู้ในกิจกรรมไป "ต่อยอด" และ "ส่งต่อ" ให้กับเยาวชนคนอื่นๆ เพื่อขยายเครือข่ายสังคมเยาวชนสุขภาวะที่ดี มีจิตอาสา ลดการใช้ชีวิตแบบมีพฤติกรรมเสี่ยง เพราะโลกยุคใหม่ที่หมุนเร็วขึ้น ทำให้เยาวชนต้องเผชิญหน้ากับพฤติกรรมเสี่ยงที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ อินเทอร์เน็ต และโลกของ โซเชียล มีเดีย ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรม เกิดกระแส "วัฒนธรรมเสมือนจริง" สังคมไซเบอร์ที่มีการแพร่กระจายตัวอย่างรวดเร็ว กระแสดราม่า หรือตามล่า "มนุษย์ป้า" เรียกว่า "ชี้เป็นชี้ตาย" ผู้คนได้ชั่วข้ามคืน โดยขาดเหตุผลไตร่ตรองอย่างถ้วนถี่


สิ่งที่เกิดตามมาเป็นลูกโซ่ คือ เด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ขาดวิจารณญาณกลั่นกรอง ย่อมเสี่ยงต่อการรับวัฒนธรรมที่ไม่ดีงามมาใช้โดยง่าย และโดยส่วนใหญ่ เยาวชนก็มักหยิบรูปแบบวัฒนธรรมที่พบเห็นในโลกออนไลน์มาใช้ในเชิงสร้างปัญหา มากกว่า สร้างสรรค์


ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน คือ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างลดลง หลายคนสร้างพื้นที่ส่วนตัวไว้อย่างแน่นหนา ก่อนขังตัวเองไว้ในนั้น จนไม่มีใครเข้าถึง ที่สุดปัญหานี้ก็เริ่มลุกลามขยายไปสู่ความแตกแยกในครอบครัวและการมีส่วนร่วมในสังคมลดลง


กรณ์-ปรากรณ์ เปลี่ยนทองดี แกนนำสภาเด็กและเยาวชน จังหวัดจันทบุรี เล่าว่า ได้รับการถ่ายทอดความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการ ในรูปแบบ "พี่สอนน้อง" อย่างต่อเนื่อง โดยได้นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปต่อยอด ด้วยการคิดเชิงระบบ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง เริ่มจากเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว เช่น ด้านการใช้จ่ายเงินอย่างมีเหตุผลยิ่งขึ้น เปลี่ยนพฤติกรรมจากการรับประทานอาหารญี่ปุ่นเป็นประจำ เป็นเลือกรับประทานอาหารในร้านธรรมดา ราคาไม่แพง แต่ได้รับคุณค่า ทางโภชนาการ จนมีเงินเหลือสำหรับใช้จ่ายซื้อของในสิ่งที่จำเป็น เลือกดูภาพยนตร์ในวันพุธ ซึ่งตั๋วลดราคา รวมถึงได้ช่วยงานย่าในช่วง สุดสัปดาห์ ซึ่งมีอาชีพทำสวน ทำให้เห็นคุณค่าของเงินที่ได้มาอย่างลำบาก 


ด้าน เพชร-คงเพชร หรั่งแก้ว แกนนำสภาเด็กและเยาวชน จังหวัดสุโขทัย เล่าว่า ได้นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสอดแทรกกิจกรรมต่อต้านยาเสพติด การติดเกม ผ่านกิจกรรมง่ายๆ พฤติกรรมใกล้ตัว เช่น การออมเงิน โดยการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ปลูกผักปลอดสารพิษไว้บริโภคในครัวเรือน และแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้านในชุมชน


สิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ และได้ตระหนักว่า ความพอเพียง พอประมาณนั้นสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง ได้กลายเป็นภูมิคุ้มกันให้กับ ตัวพวกเขาเอง และเมล็ดพันธุ์เล็กๆ เหล่านี้จะขยายผลสู่ครอบครัวและชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code