เยาวชนรุ่นใหม่ลุกขึ้นทำสื่อเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม
กลุ่มองค์กรผู้ผลิตสื่อร่วมกับเยาวชนคนรุ่นใหม่จับมือลุกขึ้นทำสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม แสดงเจตนารมณ์ ผลิตสื่อทางเลือกเพื่อเป็นสื่อทางรอด ในงานระพีเสวนา “ สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง-media for changes” เนื่องในโอกาสที่ ศ.ระพี สาคริก มีอายุ 90 ปีในปัจจุบัน ณ อาคารสารนิเทศ ๕๐ ปีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาลาเขตบางเขน ซึ่งจัดโดยสถาบันอาศรมศิลป์ร่วมกับมูลนิธิระพี-กัลยา สาคริก สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มูลนิธิสยามกัมมาจล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ศ.ระพี สาคริก อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2 สมัย และในฐานะนักสื่อสารที่ใช้สื่อที่หลากหลายถ่ายทอด วิธีคิดและทัศนคติให้ผู้คนในสังคม มาตลอดชีวิตจนถึงอายุ ๙๐ ปีในปัจจุบัน กล่าวเปิดงานระพีเสวนาในครั้งนี้ว่า “ผมอายุ ๙๐ กว่าแล้ว ยังวางแผนจะทำอะไรอีกหลายอย่าง บางคนถามว่าจะทำอย่างไร เราก็ทำไป มีคนช่วยสานต่อ เราก็ถ่ายทอด แต่การถ่ายทอดไม่ใช่การถ่ายทอดข้อมูล แต่ถ่ายทอดความรอบรู้ ความมีศิลปะภายในใจ คนทุกวันนี้ก้าวร้าวเพราะใช้แต่สมอง แต่ถ้าเรามีศิลปะอยู่ในใจ ความก้าวร้าวในหัวก็จะลดน้อยลง ขอให้เราเปิดใจเข้าหากัน คุยกันฉันท์มิตร จึงจะนำไปสู่การสร้างสรรค์”
สำหรับระพีเสวนาที่กล่าวถึงสื่อที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันนั้น นายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ จากทีวีบูรพา มองว่า สื่อต้องทำให้คนเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต สื่อไม่ใช่แค่เป็นแค่โทรทัศน์ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือว่าละคร เพราะในความเป็นจริงของชีวิตที่คนเราสื่อสารกันอยู่ตลอดเวลานั้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็คือสื่อ จึงเป็นเรื่องน่าสายดายหากคนเราคิดว่าสื่อคือโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือสิ่งที่ใหญ่ๆ เพราะจะทำให้เราไม่ได้ใช้กระบวนการสื่อหรือศักยภาพสื่อในการทำหน้าที่สร้างการเปลี่ยนแปลง
“ผมมองว่าทุกคนที่ทำหน้าที่ต่างๆ ในชีวิตก็กำลังใช้สื่อเพื่อสร้างสรรค์สิ่งเหล่านั้น ตั้งแต่ในครอบครัว การที่เราสอน เราแสดงโลก หรือบ่มเพาะลูก ไม่ใช่เฉพาะการสื่อสารที่เราสื่อกับลูก แต่คือการรับรู้สื่อของลูก ครูในโรงเรียนก็กำลังใช้กระบวนการสื่อต่างๆ ผมกลับคิดว่าสื่อใหญ่เสียอีกที่สร้างปัญหามากมาย แล้วยังไปมีผลกระทบต่อคนที่จะใช้สื่อเล็กๆ หรือสื่อใกล้ตัวอีกด้วย”
“สื่อคือสิ่งที่มีผลต่อการรับรู้และการเรียนรู้ของคนเรา ทำให้เราเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต ความเป็นจริงของโลก เข้าใจการอยู่ร่วมกัน เข้าใจบทบาทหน้าที่ที่มากกว่าการหาประโยชน์สุขให้กับตัวเอง แต่ว่าเข้าใจหน้าที่ที่เรามีต่อผู้อื่น ต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม” สุทธิพงษ์กล่าวในท้ายสุด
ทางด้าน อ.ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง จากคระละครมรดกใหม่ ได้แสดงทัศนะถึงบทบาทสื่อที่สร้างการเปลี่ยนแปลงคนหรือสังคมว่า ก่อนจะสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ นั้น คนทำสื่อต้องเปลี่ยนแปลงก่อน
ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ นักวิชาการผู้ขับเคลื่อน “วิทยุชุมชน” ให้ทัศนะเกี่ยวกับสื่อภาคประชาชนว่าต้องมีการปลดล็อกโครงสร้างอำนาจสังคมเพื่อสิทธิของสื่อภาคประชาชน โดยเชื่อว่าการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนมีสิทธิทำสื่อนั้น สื่อวิทยุถือเป็นสื่อที่เหมาะสมกับประชาชน เข้าถึงง่ายและทำได้ง่าย
ดร.เอื้อจิต ย้ำว่า “ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า ยิ่งผ่านไปยิ่งทำงานยากขึ้นเรื่อยๆ หัวใจที่แข็งแกร่งยังคงอยู่ แต่ความจริงที่เจ็บปวดคือ คลื่นที่ประชาชนใช้นั้นมีคนใช้ซ้ำ ฟังได้แต่ในสถานี เลยรั้วสถานีไปก็ไม่ได้ยินแล้วการสนับสนุนจากประชาชนก็น้อย เพราะประชาชนยังไม่เข้าใจเรื่องการเป็นเจ้าของสื่อ กระทั่งมีการปรับแก้กฎหมายว่า กองทุนใน กสทช.นั้นให้วิทยุชุมชนเสนอขอได้ แต่ดิฉันไม่อยากให้จมูกของวิทยุชุมชนไปอยู่ที่องค์กรที่กำกับดูแล จมูกของชุมชนต้องอยู่ที่ชุมชน ลมหายใจของวิทยุชุมชนต้องอยู่ที่ชุมชน บ้านเรามีคำว่าทางเลือกกับทางรอด แต่น่าแปลกใจว่าทำไมสื่อที่เป็นทางรอดของสังคมถึงต้องเป็นสื่อทางเลือก แล้วสื่อที่นำพาสังคมไปสู่การสร้างปัญหากลับกลายเป็นสื่อกระแสหลัก”
ในช่วงสุดท้ายของการเสวนาในวันนั้น นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวปิดงานและยืนยันว่า จะมีการต่อยอดแนวความคิดจากเวทีเสวนาในวันนี้ เพื่อสู่การปฏิบัติที่แท้จริง เพื่อให้ประเด็นทั้งหมดให้เกิดขึ้นและเป็นจริงได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์