เยาวชนรวมพลังต้านแอลกอฮอล์ สะท้อนปัญหาผ่านตัวละครโชว์ชาวโลก
ปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับการทำหน้าที่เจ้าภาพการจัดประชุมนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก (global alcohol policy conference :gapc) ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ศูนย์ประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี ภายใต้หัวข้อ “จากแผนยุทธศาสตร์ระดับโลกสู่การปฏิบัติระดับชาติและท้องถิ่น” เพื่อลดปัญหาและอันตรายจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (global strategy to reduce harmful use of alcohol endorsed) ตามแนวยุทธศาสตร์ที่ร่วมวางไว้
สำหรับข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกยังชี้ชัดว่า ประชากรทั่วโลกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 2,000 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก เฉลี่ยดื่มคนละ 6.13 ลิตร และมีรายงานผู้เสียชีวิตปีละ 2,500,000 คน ซึ่งหากย้อนดูสถิติการดื่มของประเทษไทย ถือว่าติดอันดับการดื่มที่ 40 ของโลก และอายุนักดื่มลดน้อยลงเรื่อยๆ
จากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนยังไม่ตระหนักถึงพิษภัย และอันตรายที่เกิดขึ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังตัวอย่างละครเรื่อง “โศกนาฏกรรมให้เหล้าเท่ากับแช่ง” ของ นิสิต นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ และเยาวชนศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษกร่วมสะท้อนถึงพิษภัยอันตรายของแอลกอฮอล์ ผ่านตัวละคร อวดสายตาชาวต่างชาติที่เข้าประชุมในครั้งนี้ด้วย โดยมีเครือข่ายละครรณรงค์งดเหล้า(ดีดี๊ดี) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้ใหญ่ใจดีเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้โชว์ศักยภาพในงานครั้งนี้
นายสมศักดิ์ ศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการเครือข่ายละครรณรงค์งดเหล้า (ดีดี๊ดี) บอกถึงแนวคิดของละครครั้งนี้ว่า ละครชุด” โศกนาฏกรรมให้เหล้าเท่ากับแช่ง “โดยให้เยาวชนได้มีโอกาสร่วมคิดแนวทางการดำเนินเรื่องภายใต้แนวคิดที่ว่า “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง”น้องๆ ที่เข้าร่วมแสดงจะได้แนวคิดมาจากประสบ การณ์ของพวกเขาเอง ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของการจัดทำละครนี้ คือ “เยาวชนกับการให้ของขวัญปีใหม่” เป็นการแสดงที่ชี้ให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเยาวชนที่ดื่มและไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ปัญหาเรื่องสุขภาพ อุบัติเหตุการเสียชีวิต สำหรับเยาวชนผู้หญิงก็คือ ปัญหา ท้องแท้ง ทิ้ง ทารุณ เป็นต้น
นายสมศักดิ์ เล่าว่า ในการทำละครชุดนี้ เราจะดึงศักยภาพของเด็กแต่ละคนออกมา สะท้อนให้เห็นปัญหาของแอลกอฮอล์ว่า ไม่ใช่แค่ปัญหาเดียวเท่านั้น แต่มันจะมีปัญหาต่างๆตามมาอีก นอกจากนี้เยาวชนที่ร่วมแสดงยังรู้สึกว่า การร่วมรณรงค์ต่อต้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของพวกเขาเป็นการยกระดับของชาติได้อีกทางหนึ่ง และทำให้นานาชาติเห็นว่า เยาวชนไทยเอาจริงเอาจังกับปัญหาแอลกอฮอล์
“พลังของเยาวชนเขาพร้อมที่จะลุกขึ้น ผู้ใหญ่ควรจะลุกขึ้นมาปกป้องเด็กได้แล้ว ในสายตาของต่างชาติจะมองว่า พลังของเยาวชนจะมีบทบาทต่อการเปลี่ยนนโยบายของชาติได้เช่นกัน และอยากให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายใช้กฎหมายที่มีอยู่ปกป้องเยาวชน ไม่เช่นนั้นเยาวชนก็จะตกเป็นเหยื่อของแอลกอฮอล์ต่อไป”
ด้าน น้องกิต หรือ นายสุกฤต อ่องชาติ เยาวชนหนึ่งในผู้เล่นละคร “โศกนาฏกรรมให้เหล้าเท่ากับแช่ง” เล่าว่า ตนเองสวมบทบาทเป็นสมาชิกในครอบครัวหนึ่งที่ให้ของขวัญวันปีใหม่เป็นกระเช้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเกิดอุบัติเหตุตามมา ซึ่งในการแสดงครั้งนี้ตนรู้สึกประทับใจที่สามารถแสดงให้นานาชาติเห็นว่า เยาวชนมีศักยภาพ ลุกขึ้นมามีสิทธิมีเสียงที่จะแสดงเจตนารมณ์ว่า เราไม่อยากให้มีแอลกอฮอล์อยู่ในประเทศ
“สังคมไทยสมัยนี้ทุกคนค่อนข้างรู้ผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการแสดงละครเรื่องนี้ทำให้ผู้ชมได้รู้สึกผลกระทบโดยตรงของแอลกอฮอล์มากกว่าที่จะการพูดปากเปล่าเพียงอย่างเดียว”
นอกจากนี้ น้องกิต ยังได้ฝากแง่คิดให้กับเยาวชนบางคนที่ยังดื่มเครื่องแอลกอฮอล์อยู่ ว่า ถ้าจะพูดให้คุณเลิกทันทีคงทำไม่ได้ แต่อยากให้คุณมองย้อนไปว่า ก่อนดื่ม และหลังดื่ม พวกคุณเป็นอย่างไรทั้งด้านสุขภาพ การเงิน การเรียน ลองเปรียบเทียบกันดูการที่เราจะลด ละ เลิก ดื่มแอลกอฮอล์ได้นั้นคงต้องปฏิญาณกับตัวเองเลยว่า จากนี้ไปเราจะไม่ยุ่งกับแอลกอฮอล์อีก ซึ่งมันก็เหมือนหยดน้ำหยดหนึ่ง ถ้าเรานำความรู้ที่มีอยู่ถ่ายทอดไปยังเพื่อน หรือผู้ใกล้ชิดแล้ว ก็จะกลายเป็นหยดน้ำหลายหยดที่มารวมกันและจะทำให้เยาวชนละ ละ เลิกการดื่มแอลกอฮอล์ได้เช่นกัน
ณ วันนี้ คงไม่มีใครการันตีได้ว่า เมื่อใดสังคมไทยจะปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เสียที แต่การขับเคลื่อนของเยาวชนครั้งนี้ จะเป็นพลังเล็กๆส่วนหนึ่งที่กระตุ้นเตือนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลุกขึ้นมาสนใจกับการแก้ไขปัญหาแอลกอฮอล์อย่างจริงจังเสียที…หยดน้ำเล็กๆ หลายหยดเมื่อมารวมกันก็สามารถแปรสภาพเป็นมวลน้ำก้อนใหญ่ได้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยจะลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย