“เยาวชนบ้านกาญจน์ฯ” ร่วมถอดบทเรียน “พนัน”

จากสุภาษิตไทยที่ว่า “โจรขึ้นบ้านสิบครั้งไม่เท่าไฟไหม้บ้านครั้งเดียว ไฟไหม้บ้านสิบครั้งยังไม่เท่ากับการเล่นเสียพนันครั้งเดียว” ก็คงไม่เกินความจริง เพราะโจรขึ้นบ้านอย่างไรก็ยังเหลือบ้าน และไฟไหม้อย่างไรก็ยังเหลือที่ดิน แต่ถ้าเล่นเสียพนัน จะไม่เหลือทั้งบ้านและที่ดิน เรียกว่า มีทองขายทอง มีบ้านขายบ้านกันเลยทีเดียว

 “พนัน” ปัญหาที่ยังรอการแก้ไข

ปัจจุบันปัญหาการพนันเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่อยู่ในวัยอยากรู้อยากลอง มีการเข้าถึงการพนันได้ง่าย โดยส่วนใหญ่มักเป็นปัญหาการพนันทายผลการแข่งขันฟุตบอล ทั้งที่เป็นลักษณะโต๊ะบอล และพนันออนไลน์ รวมถึงการพนันทุกชนิดในโลกออนไลน์ เช่น ไพ่ป๊อก บาคาร่า และแบล็คแจ๊ก เป็นต้น

ที่ผ่านมาจากการศึกษาวิจัยของ ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ระบุว่า ธุรกิจพนันออนไลน์มีการเติบโตถึงปีละ 20% และปัจจุบันพบว่ามีร้านอินเตอร์เน็ต ร้านเกมออนไลน์ เป็นจำนวนมากที่ตั้งอยู่รายล้อมสถานศึกษา เปิดให้เด็กและเยาวชน นิสิตนักศึกษาเข้าไปเล่นพนันออนไลน์ กลายเป็นปัญหาสังคมที่กฎหมายไม่สามารถจัดการได้ เนื่องจากความล้าหลังของพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ครอบคลุมถึงการพนันออนไลน์ดังกล่าว และกลายเป็นช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมาย ในขณะเดียวกันการพนันในรูปแบบเดิมๆ อย่างหวย ไพ่ ไฮโล ฯลฯ ก็ยังคงมีอยู่และดูเหมือนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยไปเสียแล้ว

จากสภาพปัญหาดังกล่าว เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา เครือข่ายองค์กรงดเหล้า และเครือข่ายละครรณรงค์ ddd สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก จัดโครงการ “ถอดบทเรียนเยาวชนกับการพนัน เพื่อป้องกันและแก้ไข” โดยนำเยาวชนที่เคยหลงผิดกว่า 40 คนมาเข้าค่าย “เพื่อนกัน…รู้ทันพนัน” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มุมมอง ประสบการณ์ชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม พร้อมกับสร้างความตระหนักเกี่ยวกับพิษภัยของการพนัน รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชน เพื่อให้สามารถเป็นกระจกสะท้อนสังคมและเป็นบทเรียนให้กับเยาวชนรวมทั้งประชาชนโดยทั่วไปให้ห่างไกลจากการพนันทุกรูปแบบ

นางสาวทัศนี บุญเรืองศรี นักวิชาการอบรมและฝึกวิชาชีพ ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ให้ความเห็นว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้เด็กเยาวชนได้แสดงออกถึงศักยภาพที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ และมีทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องการพนันเปลี่ยนไปจากเดิมมาก จากที่เคยมองว่าไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เริ่มเห็นถึงข้อเสียและผลกระทบที่จะเกิดจากการเล่นพนันมากขึ้น เช่น ที่ผ่านมาเด็กหลายคนเคยได้ยินว่า การเปิดบ่อนเสรีเป็นเรื่องดี เงินทองจะได้ไม่ไหลออกนอกประเทศ กลับสะท้อนมุมมองใหม่ว่า เป็นการมอมเมาประชาชนทั้งประเทศ และอาจก่อให้เกิดอาชญากรรมมากขึ้น ทั้งนี้ทางศูนย์ฯ จะนำกิจกรรมนี้ไปต่อยอดในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเล่นพนันให้เด็กและเยาวชนในศูนย์ฯที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้ต่อไป

ด้านเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ร่วมสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับโครงการนี้ว่า ตนได้เปิดโลกทัศน์และรู้ถึงพิษภัยจากการเล่นพนันมากขึ้น พร้อมกับได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับเพื่อนๆ ที่เคยหลงผิดในรูปแบบต่างๆ ได้มองเห็นปัญหาของแต่ละคน และเห็นที่มาของปัญหาว่าเกิดจากอะไรมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ตลอดจนได้ร่วมกันหาทางแก้ไข ทำให้เกิดความตระหนักและคิดว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการพนันอีกเลย

“ที่ผ่านมาเยาวชนที่เข้ามาอยู่ในบ้านกาญจนฯ เกินกว่าครึ่งเคยหลงผิดติดการพนัน ด้วยความอยากรู้อยากลอง เพราะเห็นว่าได้เงินง่าย อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะพนันออนไลน์ที่มีอยู่ตามร้านอินเทอร์เน็ตทั่วไป จึงทำให้หลงเข้าสู่วังวนนี้โดยไม่รู้ตัว ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มากๆ เพื่อเป็นการสร้างเกราะป้องกันและเพื่ออนาคตที่ดีของเยาวชนไทย” เยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าว

ทั้งนี้ หลังจากเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ได้ร่วมกันถอดบทเรียนเกี่ยวกับการพนัน พร้อมกับร่วมกันหาทางป้องกันและแก้ไขแล้ว เพื่อให้เยาวชน คนสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวมากขึ้น จึงได้มีการจัดเสวนา “เด็กและเยาวชน…กับวิกฤตพนันในสังคมไทย” โดยการเปิดใจ 2 เยาวชนที่เคยตกเป็นเหยื่อการพนัน พร้อมกับผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน กับภาพรวมการพนันในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งงานดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคม 2554 เวลา 10.00 น. ห้องทับทิม โรงแรมรัตนโกสินทร์

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code