เยาวชนบุโบย ร่วมรักษ์ทะเลอันดามัน

ที่มา : เว็บไซต์ thaipr.net


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ thaipr.net


เยาวชนบุโบย ร่วมรักษ์ทะเลอันดามัน thaihealth


เยาวชนบ้านบุโบย เห็นคุณค่า-ร่วมเรียนรู้และอนุรักษ์ทะเลอันดามัน แหล่งรายได้ครอบครัว สานต่อภารกิจผู้ใหญ่ร่วมพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง


บ้านบุโบย มีพื้นที่ทั้งสิ้น 1,210 ไร่ อาณาเขตทิศเหนือ ติดกับตันหยงลาไน้ มีคลองละงูกั้นขวาง ทิศใต้ติดกับหมูบ้านกาแบง ทิศตะวันออกติดกับป่าชายเลนและคลองสุไหงมุโซ๊ะ และทิศตะวันตกติดต่อทะเลอันดามัน ประชากรทั้งหมด 1,064 คน 247 ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 98 นับถือศาสนาอิสลาม อาชีพของชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นอาชีพทางด้านการประมง ดังนั้นการที่เด็กและเยาวชนจำเป็นต้องเรียนรู้ทรัพยากรบ้านตนเองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก "มะอ๊ะ" หรือ นางหาหรีอ๊ะ ติ่งสง่า หัวหน้า โครงการฯ ได้ดึงเด็กๆ เข้ามาร่วมเรียนรู้งานในชุมชน โดยมีเป้าหมายชัดเจนว่า


"การที่พาเด็กๆ มาทำงานพวกนี้ ตัวเองก็คิดว่าเด็กๆ เขาน่าจะรู้เรื่องราวของชุมชนนะ บ้านเรามีโน้นมีนี่ ถ้าเด็กไม่มีความคุ้นเคย ไม่ได้มีความรู้ไปบ้าง เด็กบางคนไม่รู้เลยว่าพ่อทีหาปูมาให้เรากินทุกวัน ปูที่เป็นรายได้เราทุกวัน มันเป็นอย่างไร นี่ขนาดเป็นของที่อยู่ในครอบครัวตัวเอง แล้วถ้าเป็นของที่อยู่นอกครอบครัวออกไปละ แต่ถ้าเราปลูกฝังเขาในตอนนี้ ทุกคนก็จะร่วมกันหวงแหนและดูแลกลัวว่ามันจะหมด ถ้าเด็กกลุ่มนี้เขาไม่รู้และไม่ดูแล หมดแน่นอน เราก็เอาโครงการมาเป็นเครื่องมือเรียนรู้ชมุชนให้เขา" วันนี้เยาวชนบ้านบุโบยได้ร่วมเรียนรู้ชุมชนภายใต้โครงการชุมชนบริหารจัดการตนเองระยะที่ 2 :เชื่อมร้อยกลุ่มองค์กรในชุมชนบ้านบุโบย ภายใต้โครงการหลัก : โครงการเสริมสร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเองในพื้นที่ประสบพิบัติภัยสึนามิ โดยความร่วมมือของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่นและมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)


เยาวชนมีโครงการของตนเองชื่อว่าโครงการเยาวชนจิตอาสาพัฒนาบ้านบุโบย มีเยาวชนแกนนำ 8 คน ได้แก่ น.ส.อรวรา นิยมเดชา , น.ส.โซฟีนา อุมาจิ ,น.ส.ยาไรนัส จ๊ะคำ,น.ส.โรสธีนา จิมาร,น.ส.กัสตูรี บรรดา,น.ส.ซุมซูมาน เกนุ้ย,น.ส.ชลธิชา เกนุ้ยและน.ส.อธิลดา โสสนุย "เราคิดว่าเราโชคดีที่เกิดมาในพื้นที่เล็กๆ แต่มีโอกาสเยอะ เราได้โอกาสหลายๆ อย่างจากผู้ใหญ่ที่เขาเห็นคุณค่าของเรา ให้เรามาร่วม ให้เรามารู้ ซึ่งเป็นผลดีกับเรามากโชคดีที่มีผู้ใหญ่ที่เข้าใจเรา…"น้ำหอม หรือ น.ส.กัสตูรี บรรดา วัย 16 หนึ่งในแกนนำเยาวชนโครงการเยาวชนจิตอาสาพัฒนาบ้านบุโบย อ.ละงู จ.สตูล เผยถึงความรู้สึกที่มีต่อผู้ใหญ่ในชุมชน 


เธอเล่าย้อนหลังว่าเมื่อ สาม-สี่ปีที่แล้ว ตั้งแต่โครงการฯ เฟสที่ 1 "ธนาคารปูม้า" ผู้ใหญ่ได้ดึงพวกเธอมาร่วมโครงการ มีหน้าที่ ช่วยสำรวจเก็บข้อมูล สัมภาษณ์คนทำไซปู "ตอนนั้นเรายังเด็ก ตอนแรกที่เราอ่านแบบฟอร์มข้อมูลเราก็งงๆ เพราะว่ายังไม่รู้จัก ที่บ้านพวกเรา ก็ทำประมง แต่เราไม่มีความรู้เลย อย่างบุตพ่อทำแต่ก็ไม่รู้จักเลย ได้รับโจทย์ ต้องรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านที่ทำการประมงพื้นบ้าน เก็บข้อมูลการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ ว่าออกทะเลใช้อะไรในการทำมาหากิน รายได้ต่อวันเท่าไร ต่อเดือนเท่าไร เจาะจงลงไปอีกไซนั้นมีขนาดเท่าไร และสิ่งที่นำไปลงในเรือมันมีอะไรบ้าง นำมาขายผ่านพ่อค้าคนกลางหรือไม่…สิ่งที่เราค้นพบในการทำกิจกรรมครั้งนั้น ทำให้พวกเราได้รู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ เพราะว่าเราไม่เคยสนใจเลยว่าจะทำอย่างไร แต่พอเราไปถามเราก็ได้รู้ว่า อ๋อ ไซปูมันเป็นอย่างนี้ หรือว่าได้รู้ว่าเขาทำอย่างไร "มันตื่นเต้นได้รู้อาชีพของพ่อแม่ พอมีคนถามว่าพ่อแม่ทำอะไรเราบอกได้ ไม่อายเลย ชุมชนเราทำอะไร เรารู้บอกได้"


น้ำหอมและเพื่อนๆ ช่วยกันเล่าด้วยนัยน์ตาเป็นประกาย จุดเริ่มต้นเล็กๆ เดินตามผู้ใหญ่คอยจดบันทึก สัมภาษณ์ ทำให้ทั้ง 8 คนเติบโตและเรียนรู้ เมื่อชุมชนเริ่มโครงการในระยะที่ 2 ผู้ใหญ่จึงเปิดโอกาสให้จัดทำโครงการเป็นของตนเอง มีบทบาทเป็นแกนนำเยาวชนพาเด็กในชุมชนเรียนรู้โครงการที่ผู้ใหญ่ทำ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว,ศาสนา,ไซปูม้า,ปูดำ เป็นต้น เมื่อเรียนรู้แล้วก็นำความรู้นั้นมาขยายผล ประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนได้รู้ข้อมูลผ่านเสียงตามสาย เช่น อย่าจับปูตัวเล็ก เป็นต้น แต่ที่น้องๆ เยาวชนได้ลองใช้ทักษะของตนเองในการ คิด ทำ ด้วยตนเองคือการจัดค่ายเยาวชนจิตอาสา เมื่อวันที่ 15-16 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านบุโบย เป็นภารกิจหลักที่จะหาแกนนำเยาวชนรุ่นต่อๆ ไป และสร้างสัมพันธ์เด็กเยาวชนในชุมชนได้ผลเกินเป้าจากเด็ก 30 คน มีเข้าร่วมถึง 50 คน ผู้ปกครองให้ความสนใจเข้ามาเข้าดูน้องๆ ทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ แผนที่ทะเล แผนที่ชุมชน แผนที่สถานที่สำคัญ เล่นละครย้อนรอยประเพณี (ซอดำนา,แห่บ่าวแขกและการขึ้นเปลของเด็กแรกเกิด) เรียนรู้ชุมชน ดูธนาคารปู ทดลองท่องเที่ยวในชุมชน มีโต๊ะอิหม่ามมาบรรยายเรื่องบทบาทของเยาวชนในการอนุรักษ์หมู่บ้านของเรา


"ให้น้องๆ ทำ เป็นการฝึกความคิดของเด็กๆ ให้น้องได้เรียนแผนที่ให้ถูกต้องเพราะน้องบางคนยังบอกทิศไม่ถูกเลย น้องได้ฝึกทักษะการวาดรูป การแชร์กันในกลุ่มเพื่อน บางคนอยู่โรงเรียนเดียวกันไม่เคยคุยกัน พวกเราไม่เคยจัดค่ายมาก่อน เราจัดเป็นรุ่นแรก ดีใจเพราะคนเกือบทั้งหมู่บ้านมารวมกันอยู่ตรงนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองมาดูลูกตัวเองแสดงละคร" เหล่าแกนนำเยาวชนร่วมสะท้อนประโยชน์ของการเข้าร่วมโครงการฯ กับผู้ใหญ่ เริ่มที่…น.ส.อรวรา นิยมเดชา หรือ หนี อายุ 16 ปี เรียนอยู่โรงเรียนกำแพงวิทยา ม.5 "…หนูได้ความรับผิดชอบ ในฐานะเราเป็นพี่เลี้ยงดูแลน้องๆ มีความรับผิดชอบต่อการเรียน ต่อเพื่อน ต่อครู ต่อสิ่งที่เขามอบหมายให้เราทำ การสานสัมพันธ์กับคนในหมู่บ้านเพิ่มขึ้น เพราะเราเป็นนักเรียน เช้าไปเรียนข้างนอก ค่ำก็กลับบ้านเท่านี้ แต่พอเราเข้าโครงการ ได้แลกเปลี่ยนกัน เราก็สานสัมพันธ์ให้ใกล้ขึ้น เกิดความอนุรักษ์บ้านเกิด รักบ้านเกิดมากขึ้น ใครถามเราก็สามารถเล่าประวัติได้ว่าสำคัญกับเราอย่างไร สามารถไปคุยกับคนภายนอกได้ว่ารู้ว่าเงินที่เราได้มาโรงเรียนวันละร้อยนี่เราได้มาจากทะเลนะ จากที่เราทำตรงนี้ พ่อแม่ก็ภูมิใจว่าเรามีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น มีความเป็นเป็นผู้ใหญ่ ดูแลสิ่งของเราได้ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทำให้การเรียนเราดีขึ้นด้วย "น.ส.ชลธิชา เกนุ้ย หรือ หนี อายุ 16 ปี เรียนอยู่โรงเรียนกำแพงวิทยา ม.4 ร่วมสะท้อนว่า "ได้รู้ว่าเราต้องรักษาบ้านเกิดของเรา ต้องอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรในหมู่บ้านเรา รักบ้านเกิดมันสำคัญนะคะ พ่อหนูทำประมง หนูมาอยู่ตรงนี้ หนูได้บอกพ่อว่าเราควรอนุรักษ์สัตว์น้ำตัวเล็กๆ อย่างไปจับมัน มันก็สำคัญกับอาชีพพ่อแม่ทำให้ยั่งยืน และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อน ได้คุยเรื่องของหมู่บ้าน ได้ความรู้เพิ่มขึ้น"


ส่วน "น้ำหอม" สะท้อนว่า "เราได้รู้มากขึ้น รู้เยอะขึ้น พอเรารู้แล้วเราก็จะมีการคิดวิเคราะห์ ยังได้นำมาใช้กับการเรียนด้วย เมื่อเรารู้อะไรแล้วเราก็นำมาวิเคราะห์ เมื่อวิเคราะห์แล้วเราจะได้หวงแหนและจะมีจิตสำนึกอนุรักษ์บ้านเกิดของเรามากขึ้น สำคัญเพราะว่ามันจะเป็นสิ่งที่จะติดตัวเราไปตลอด เราออกไปข้างนอก เขาถามว่าบุโบยอยู่ไหน มีดีอะไร เราก็ได้ประชาสัมพันธ์ในสิ่งที่เราเรียนรู้มา มีปูดำนะ มีธนาคารปูม้า มีธนาคารปูไข่"


"น้ำหอม" ยังได้ฝากทิ้งท้ายไว้กับผู้ใหญ่ "อยากบอกผู้ใหญ่ที่อื่นว่า ขอให้เห็นคุณค่าของเยาวชนในพื้นที่ เพราะว่าเยาวชนสามารถทำอะไรได้เยอะมาก ให้พวกเรามาเป็นแนวร่วม เพราะว่าทุกการขับเคลื่อนต้องใช้เยาวชน ถ้าคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันจะต้องส่งผลมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลานก็ขอให้เด็กๆ ได้มาศึกษาได้มารู้ด้วย เผื่อว่าเราจะได้ทำต่อไปให้ได้" 

Shares:
QR Code :
QR Code