เยาวชนท่ามะปราง สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น
ที่มา : สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม
เยาวชน “ขาเลาะ” ท่ามะปรางชวน “หาเรื่อง” เปลี่ยนเด็กหลังห้องสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น
เต้ย เล่าว่า สมัยที่เรียนอยู่เราเป็นเด็กหลังห้อง ไม่สนใจอะไรใครเลย ไม่เอาการเรียน ไม่เข้าร่วมกิจกรรม หรืองานสังคมก็ไม่เอาเลย แต่เมื่อมีโอกาสนี้เข้ามา ทำให้เราคิดว่า เป็นสิ่งที่ท้ายท้าย ว่าเด็กหลังห้องจะทำอะไรเพื่อสังคมได้หรือเปล่า แม้ส่วนใหญ่เขาจะมองว่าเราจะทำอะไรได้ แต่เราก็อยากทำ เราอยากเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่คนมองเราในทางที่ไม่ดีด้วย ก็เลยมารวมกลุ่มกันโดยมีสมาชิกเป็นเด็กในตำบลท่ามะปราง โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “เยาวชนลูกท่ามะปราง” มีแกนนำจำนวน 12 คน โดยแกนนำรุ่นแรกๆ เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วจะเป็นเด็กหลังห้องทั้งหมด แต่ตอนนี้จะมีเด็กอาสาเข้ามาผสมกันไป ตอนนี้มีเด็กเครือข่ายรวมมากกว่า 60 คน ด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็ก ให้กล้าคิดกล้าแสดงออก เข้ากับสังคมได้ และสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองในกระแสโลกยุคปัจจุบันได้
พิชิตพงษ์ พันธุ์ปั้น หรือ “เต้ย” คือ เยาวชนจากตำบลท่ามะปราง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี คือตัวอย่างของเด็กหลังห้องที่เคยเกเร ทุกวันมักจะโดดเรียนไปอยู่ร้านเกมมากกว่าที่จะอยู่ห้องเรียนเหมือนคนอื่นๆ แม้จะไม่มีเรื่องของสิ่งเสพติด หรือเป็นเด็กแว้น แต่การติดเกมแบบงอมแงมก็ทำให้ผลการเรียนของเขาแย่ลง
เมื่อได้รับโอกาส “เต้ย” ก็ไม่รอช้าที่จะรีบชักชวนเพื่อนๆ น้องๆ รวมกลุ่มทำกิจกรรมภายใต้ชื่อ “เด็กหาเรื่อง” ซึ่งได้ขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยการนำเด็กๆ ในชุมชนไปหาเรื่องทำความดี เรียนรู้และสืบสานภูมิปัญญาจากผู้เฒ่าผู้แก่ และยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้สูงอายุให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น
“โดยเราจะพาน้องๆ ช่วงอายุตั้งแต่ 10-12 ขวบ ไปเยี่ยมผู้เฒ่าผู้แก่ที่บ้าน เพื่อเรียนรู้ภูมิปัญญาต่าง ทั้งการทำอาหาร ทำเครื่องใช้สอย เครื่องจักสานหรือการละเล่นโบราณ ซึ่งเราเห็นว่าเมื่อก่อนบ้านเรามีภูมิปัญญานี้เยอะมาก แต่เริ่มหายไป และเด็กสมัยใหม่ก็เริ่มจะไม่สนใจแล้ว ซึ่งเราจะลงพื้นที่อย่างน้อยเดือนละครั้ง พร้อมทั้งเรียนรู้วิถีบริบทและประวัติชุมชน ช่วยกันเก็บขยะภายในหมู่บ้าน ร่วมจัดกิจกรรมเล่นว่าวเผาข้าวหลาม ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต” อดีตเด็กหลังห้องที่ตอนนี้เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน กล่าว
การส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้สูงอายุ คือสิ่งสำคัญที่ “เด็กหาเรื่อง” ต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับกิจกรรม และใช้เวลาว่างได้สอนลูกหลาน เช่นกิจกรรมช่วงเปิดเทอมวันแรก ที่ได้จัดกิจกรรม “เปิดเทองเรื่องกล้วยๆ” ด้วยการนำเอาพ่อแม่ผู้ปกครอง และผู้เฒ่าผู้แก่ มาร่วมกิจกรรมถ่ายทอดภูมิปัญญาจาก “กล้วย” พืชผลไม้ใกล้ตัว ทำให้เปิดเทอมที่อาจจะวันแรกที่แสนวุ่นวาย น่าเบื่อของใครหลายๆ คน และเปลี่ยนวันประชุมผู้ปกครองให้มีคุณค่า กลายเป็นการเริ่มต้นภาคเรียนที่มีความสุข