เยาวชนจิตอาสา ‘โพนทอง’ เรียนรู้ สุขใจ ทั้งผู้ให้และผู้รับ
การขยายตัวของความเป็นเมือง ได้ทำให้สังคมชนบทในหลายพื้นที่ มีสภาพไม่ต่างจากสังคมคนเมืองเท่าใดนัก นั่นคือต่างคนต่างอยู่ ไม่มีใครสนใจใคร ชนบทในวันนี้จึงค่อยๆ กลายเป็นสังคมกึ่งเมืองกึ่งชนบทไปโดยปริยาย
สำหรับชาวบ้านใน ต.โพนทอง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ สามัคคี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ยังปรากฏชัดและเหนียวแน่น เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ภายใต้การนำของนายศานิต กล้าแท้ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งได้พัฒนาชุมชนโดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนอื่นๆ ในหลายมิติ อาทิ ระบบอาสาพัฒนาสุขภาพ กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน กลุ่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ เป็นต้น โดยการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ชาวตำบลโพนทอง ไม่ได้มีเพียงแค่ผู้ใหญ่ที่คอยช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันเท่านั้น ธารน้ำใจไมตรียังได้รับการถ่ายทอดไปสู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ จนก่อเกิดกลุ่มเยาวชนจิตอาสาหลายกลุ่ม อาทิ อาสาสมัครดูแลผู้ป่วย ผู้พิการ อาสาสมัครเครือข่ายเอดส์ หรือ ctw น้อย (community team work) ฯลฯ
“ทุกคนเหมือนญาติผู้ใหญ่ของเรา การเข้าไปดูแลท่านเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ได้ลำบากอะไรเลย หนูใช้เวลาว่างวันเสาร์-อาทิตย์ หรือไม่ก็ตอนเย็น ก็จะไปกับเพื่อนๆ ไปนั่งคุยกับท่านบ้างเพื่อไม่ให้เหงา ไปบีบนวดเล็กๆ น้อยๆ บ้าง อย่างผู้ป่วยเบาหวานก็จะคอยดูแลสุขภาพเบื้องต้น ซึ่งก็จะได้รับการอบรมความรู้เรื่องเบื้องต้นของการดูแลผู้ป่วยเบาหวานจากผู้ใหญ่ทีม อสม.ของโรงพยาบาลส่งเสริมตำบลอีกทีค่ะ” น้องจูนน.ส.แพรวพรรณ เมืองนาค นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสตรีชัยภูมิ หนึ่งในเยาวชนจิตอาสาโพนทอง เล่าให้ฟังขณะกำลังปฏิบัติการ “เช็คความรู้สึกฝ่าเท้า” ด้วยการใช้วัสดุแข็งๆ ขีดไปบนฝ่าเท้าของผู้ป่วยเบาหวานรายหนึ่ง
“เมื่อขีดลงไปบนฝ่าเท้าแล้ว เราจะคอยถามผู้ป่วยว่ารู้สึกไหม ถ้ายังมีความรู้สึกก็ไม่น่าห่วง แต่ถ้าไม่รู้สึกเมื่อไหร่ต้องรีบแจ้งทางอาสาสมัครผู้ใหญ่อีกที เพื่อจะได้รีบดำเนินการรักษาในขั้นต่อไป เพราะถ้าเราเพิกเฉยผู้ป่วยมีโอกาสเกิดแผลได้โดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ ซึ่งอาจจะอันตรายถึงขั้นตัดขาได้ ถ้าไม่รีบดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ” น้องอาย-น.ส.พิชชาพร ตาปราบ อีกหนึ่งอาสาสมัคร กล่าวเสริมด้วยรอยยิ้ม
เยาวชนจิตอาสาในกลุ่มของน้องจูนและน้องอาย ยังประกอบด้วย น้องพิม-น.ส.พิมผกา พวงจันทร์, น้องดาว-น.ส.กัลยา แมนสถิตย์ และน้องแนน-น.ส.พิจิตรา ภูนากาย ซึ่งกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยรู้สึกเหนื่อยหรือเบื่อเลยในการมาดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ เพราะทุกคนในตำบลเป็นเหมือนญาติผู้ใหญ่ โดยกิจกรรมที่ทำเป็นประจำในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มนี้คือ นวดเท้า จี้จุดเท้า นวดฝ่ามือ นวดตัว บ่า ไหล่ หรือแม้กระทั่งฟ้อนรำวงกับคุณยาย คุณป้า คุณน้าทั้งหลายเพื่อสร้างความบันเทิง ช่วยคลายความเครียดและการซึมเศร้าจากอาการเจ็บป่วย
“สนุกค่ะ ไม่เบื่อเลย เห็นคุณยาย คุณป้า น้า อา ยิ้ม หัวเราะ เห็นคนที่เราดูแลเค้าสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น เขามีความสุข หนูก็สุขใจ ที่สำคัญหนูยังได้นำความรู้ที่ได้รับจากการเป็นอาสาสมัครกลับไปดูแลคุณยายที่บ้านซึ่งก็ป่วยเป็นโรคเบาหวานเหมือนกัน” น้องแนน กล่าว
ด้านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพนทอง กล่าวเสริมว่า ในการทำงานเราจะให้เยาวชนมีส่วนร่วมในเกือบทุกกิจกรรม เพื่อสร้างจิตสำนึกในการช่วยเหลือผู้อื่นให้กับเยาวชนของเรา โดยมีผู้ใหญ่เป็นแกนนำในทุกเรื่อง ทุกกิจกรรม ทั้งกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อช่วยผู้ป่วยโรคเบาหวาน กลุ่มอาสาสมัครและจิตอาสาดูแลผู้พิการ (นอนติดเตียง) กลุ่มอาสาสมัครเครือข่ายเอดส์ และ ctw (community team work) น้อย รวมทั้งกลุ่มเยาวชนอาสาสมัครช่วยน้องอ่านหนังสือในห้องสมุดกลางของตำบล
“อย่างอาสาสมัครเครือข่ายเอดส์ ก็จะให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องเอดส์ โดยมีตัวแทนหมู่บ้านละ 2 คน มาให้ความรู้แก่เยาวชน สร้างแกนนำเยาวชนให้มีความรู้ความเข้าใจในการติดต่อของเชื้อ และสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่เพื่อนๆ เยาวชนด้วยกันได้ ทำให้เกิดเครือข่ายการทำงานด้านเอดส์ หรือแม้กระทั่งเรื่องเพศสัมพันธ์ ก็ต้องให้ความรู้เพื่อป้องกันการท้องไม่พร้อมด้วย” นายก อบต. กล่าว
ภาพการทำงานเป็นทีมทั้งระดับผู้นำ แกนนำระดับหมู่บ้าน รวมทั้งเยาวชน เกิดเป็นเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็ง ทำให้วันนี้คนในตำบลโพนทองไม่เดียวดาย เพราะมีทั้งคนในตำบลที่มาเยี่ยมเยียนดูแล และมีทั้งคนจากชุมชนอื่นที่มาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้”แนวทางในการดูแลซึ่งกันและกัน” ของตำบลโพนทองอย่างไม่ขาดสายนั่นเอง