เมื่อ Work Life (ไม่) Balance ร่างพัง แต่ยังไปกันต่อ

เรื่องโดย ภินันท์ชญา สมคำ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก งานแถลงข่าวเปิดรับสมัครองค์กร เพื่อเข้าร่วมคัดเลือกสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต  

ภาพโดย ภินันท์ชญา สมคำ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                     คิดยังไงกับคนที่บอกว่า wok life balance ( WLB ) ไม่มีทางกลายเป็นคนที่ประสบผลสำเร็จในชีวิตได้ ? กลายเป็นคำถามที่ท้าทายสำหรับคนยุคใหม่ ทั้งที่ทำงานประจำและอาชีพอิสระ

                     ความจริงแล้ว Work Life Balance ไม่ใช่เพื่อสุขภาพและความสุขของคุณเท่านั้น แต่เป็นไปเพื่อประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมอีกด้วย ดังนั้น การสร้างความสมดุลที่เหมาะสม มักจะถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนทำงานมีความสุขและเป็นวัฒนธรรมองค์กร ที่น่าชื่นชมตามมาอีกด้วย

                     คนรุ่นก่อน อาจเคยมองว่า งาน คือ สิ่งที่สำคัญที่สุด แต่เมื่อทุกคนเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างงานกับสุขภาพมากขึ้น จะพบว่า การขาดสมดุลอาจนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” ในที่สุด

                     กระนั้นก็ตาม ยังมีคนอยู่มากเชื่อว่า คนที่ประสบผลสำเร็จในชีวิต ต้องอดทน ทำงานหนัก ทุ่มเทเสียสละ  ใช้เวลามากกว่าคนอื่น  โดยหารู้ไหมว่าการ Work Life (ไม่) Balance แม้ยังไปต่อกันได้  แต่อาจนำไปสู่ร่างกายเสื่อมสภาพ สุขภาพจิตถดถอย เนื่องจากไม่มีเวลาในด้านอื่น ๆ ของชีวิต  หรือ บางคนอาจจำยอมแพ้ไปเมื่อถึงจุดหนึ่งอายุมากขึ้น ร่างกายไม่ไหวต้องยอมรับความจริง ก็เกือบสายไปเสียแล้ว

                     ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ฐานะผู้ร่วมก่อตั้งสถาบัน TIMS ระบุผลการสำรวจสุขภาวะคนทำงาน และปัจจัยสำคัญสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร ปี 2566 พบ พนักงานมีปัญหาสุขภาพจิต ร้อยละ 42.7 ในจำนวนนี้ แม้มีปัญหาสุขภาพจิต ร้อยละ 27.5 มีภาวะการณ์ฝืนทำงาน

                     “…เราทำงานไม่ใช่เพียงแค่ 11 ชั่วโมง ในความจริงเราทำมากกว่านั้น เรายังฝันหรือหลับตาบางทีก็ยังคิดเรื่องงานอยู่ จากเสียงของพนักงานต้องการสิ่งที่เรียกว่า การหยุดพักระหว่างการทำงาน ช่วยให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นหลังพักกลางวันต้องการพักหรืองีบ 30 นาที รวมถึงในเรื่องของการสื่อสารที่มีความเข้าอกเข้าใจกัน ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มักได้ยินว่า “คนไม่ใช่เครื่องจักร”…ดร.เจนนิเฟอร์ เธอกล่าว

                     เพราะฉะนั้นองค์กรต้องมีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้สุขภาวะของพนักงานดีไปด้วย

                     จากแบบสอบถามออนไลน์ ประมาณ 200 กว่าคน ทั้งภาครัฐและเอกชน กว่าร้อยละ 50 เคยฝืนตัวเองไปทำงาน แม้มีความเจ็บป่วย บางคนอาจจะครั้งสองครั้ง หรือบางคน 5 ครั้งขึ้นไป เป็นปรากฎการณ์ที่นักจิตวิทยาหันมาให้ความสนใจกันมากยิ่งขึ้น เมื่อเราป่วยเราควรได้พักและชาร์จพลังอย่างเต็มที่

                     ไล่มาถึง ร่างพัง แต่ยังทำงานต่อ ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุ คิดว่าไม่มีใครทำงานแทนได้ งานสำคัญและจำเป็น และ ความจำเป็นด้านการเงิน ถ้าไม่ทำจะถูกหักโบนัสหรือเงินเดือน ล้วนมีความรู้สึกเครียด รู้สึกแย่ทางสุขภาพจิต และมีแนวโน้มและเผชิญกับภาวะซึมเศร้า หมดไฟมากขึ้น จึงเป็นข้อมูลที่เราต้องมาพูดคุย

                     รวมถึงหาทางออกแก้ไขร่วมกันโดยมี องค์กร หัวหน้างาน หัวหน้าทีม มีส่วนร่วมช่วยแก้ไขปัญหา

                     นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. ระบุในวันแถลงข่าวเปิดรับสมัครองค์กรเข้าร่วมคัดเลือกสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards) ภายใต้โครงการพัฒนากลไกวิชาการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านสร้างเสริมสุขภาพจิต ว่า สสส. กับการสร้างเสริมสุขภาพจิต มุ่งเป้าหมายให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี สอดคล้องกับแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ฉบับที่ 1 มุ่งเน้นการสร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มวัยแรงงาน

                     จากข้อมูล สายด่วนสุขภาพจิต 1323 เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 พบว่า วัยแรงงานขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงาน สูงอันดับ 1 รวมกว่า 6,337 สาย จากทั้งหมด 8,528 สาย สะท้อนความต้องการวิธีจัดการกับปัญหาสุขภาพจิต และ ชาวออฟฟิศ ร้อยละ 42.7 รู้ตัวว่ามีปัญหาสุขภาพจิต แต่ยังฝืนไปทำงาน งานเร่ง คิดว่าไหว ส่งผลให้ไม่มีความสุขในที่ทำงาน

                     สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) เข้ามาทำงานด้านนี้ ให้ข้อมูลรูปแบบการทำงานแบบใหม่ เพื่อผลการทำงานดีขึ้น

                     ดร.นพ. วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) กล่าวว่า ในปัจจุบันเกือบ 7 ล้านคน ยังไม่เข้าถึงการรักษาสุขภาพจิต ในขณะที่ Ai มีบทบาทในการทำงานมากขึ้น เอไอไม่น่ากลัวเเต่คนใช้เอไอน่ากลัว หลายองค์กรกำลังมองข้ามคนที่ทำงาน  สนใจเทคโนโลยีมากขึ้น คนห่วงตกงาน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องช่วยกัน

                     ผศ.ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้รับผิดชอบโครงการ Thai Mind Awards กล่าวว่า การดูแลพนักงานที่ดี ไม่เพียงเฉพาะแค่สิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพ เพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญของการเสริมสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดี ต้องครอบคลุมมิติทั้ง 5 ด้าน ที่เรียกว่า “GRACE”

                     ประกอบไปด้วย G : Growth & Development การสนับสนุนด้านการเติบโตและพัฒนาการ R : Recognition การแสดงออกและการรับรู้ความสามารถและความสำเร็จ A : All for inclusion การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม C : Care for health & safety การดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัย E : work-life Enrichment การมีนโยบายด้านความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน

                     ก็ฝากมาถึงองค์กรใดสนใจสมัครเข้าร่วมประกวดคัดเลือกเป็นสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards) ส่งใบสมัครและผลงานเข้าร่วมประกวดมาได้ที่เว็บไซต์ https://chulapsychology.qualtrics.com/jfe/form/SV_eDKHjhhzzZV1I2i ที่กำลังเปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันนี้ ถึง 15 ก.ย. 2567 จำกัดสิทธิ์การรับสมัครเพียง 50 องค์กร โดยจะคัดเลือกแค่ 5 องค์กร ที่มีความโดดเด่นใน 4 มิติภายใต้แนวคิด GRACE และมีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีให้แก่พนักงาน

                     โดยทุกองค์กรที่เข้าร่วมประกวด จะได้รับประกาศนียบัตร  และ ได้รับผลการประเมินสุขภาวะทางจิตของพนักงานภายในองค์กรของตนเอง ที่ผ่านการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยา

                     เพราะหัวใจสำคัญของ Work Life Balance คือ การทำให้แน่ใจว่าคุณและทีมงาน สามารถปรับตัวเองเข้ากับวิธีคิดนี้ได้ โดยไม่บั่นทอนความสุขในชีวิตส่วนตัวและครอบครัว

Shares:
QR Code :
QR Code