เมื่อ “การศึกษา” ต้องอาศัยมากกว่า “นักการศึกษา”

“It Takes a Village to raise a child” สุภาษิตแอฟริกันที่สะท้อนให้เห็นว่า การดูแลเด็กสักคนต้องอาศัยความร่วมมือจากคนทั้งหมู่บ้าน ในฐานะ “นักรณรงค์สื่อสาร” จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่พวกเขาจะกลายเป็น “กลไล” ขับเคลื่อนที่สร้างให้เกิด “ยุทธศาสตร์” และ “ช่องทาง” ในการส่งสัญญาณเพื่อการเปลี่ยนแปลงในสังคม ผ่านการสะท้อนจากสิ่งคนในพื้นที่ต้องการ และมีวิสัยทัศน์ที่มองไปข้างหน้าเพื่อหวังให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อตัวเด็กเยาวชนได้


เมื่อ “การศึกษา” ต้องอาศัยมากกว่า “นักการศึกษา” thaihealth


สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อนงานจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างกลไกการสื่อสารในพื้นที่ จึงได้ร่วมมือกับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) และกรมประชาสัมพันธ์ จัดการประชุมปฏิบัติการนักรณรงค์สื่อสารรุ่นใหม่ในกลุ่มจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ครั้งที่ 3 : ย่อยข้อมูลให้เป็นภาพ นำเสนอให้เห็นประเด็น เพื่อติดอาวุธนักรณรงค์สื่อสารในท้องถิ่นให้มีทักษะและเห็นความจำเป็นในการเข้ามามีส่วนในการกระตุ้นสร้างความเข้าใจให้คนในจังหวัดในประเด็น “การศึกษาเชิงพื้นที่” ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากสื่อภาครัฐ สื่อท้องถิ่น และสื่อสาธารณะในเครือข่ายจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ 13 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา น่าน ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ อำนาจเจริญ ลำปาง และยะลา


ผศ.สุกานดา วรพันธุ์พงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ทีมงานวิจัยและติดตามโครงการรณรงค์สื่อสารจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ กล่าวว่า ปัจจัยที่เห็นได้ชัดถึงผลสำเร็จของงานขับเคลื่อนจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การก่อตั้งเป็น “สมัชชาการศึกษาระดับจังหวัด” คือ “ทีมรณรงค์สื่อสาร” ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจให้คนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันขับการปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่ จนสามารถสร้างภาคีกลุ่มต่างๆ ได้ และเป็นเครื่องมือในการสานข้อมูลจนเกิดเป็นเครือข่ายที่มีพลัง เมื่อมองหา “นักรณรงค์สื่อสาร” แล้ว ในแต่ละจังหวัดต่างมี “ต้นทุน” มากน้อยไม่เท่ากัน และบางครั้งคนที่ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนงานการศึกษากลับไม่ใช่ “นักการศึกษา”


ไกรศักดิ์ วรทัต ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ นักปกครองที่กระโดดลงมาสวมหมวก “นักสื่อสาร” กล่าวว่า สุรินทร์มีปัญหาเด็กหลุดออกนอกระบบสูงกว่าตัวเลขที่โชว์ในระบบ การค้นหาเด็กเพื่อให้ได้จำนวนที่ชัดเจนเพื่อนำสู่การแก้ปัญหา หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสังคมไม่เข้าใจ ก็จะทำให้ได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน การสร้างความเข้าใจผ่านการสื่อสารในจังหวัดสุรินทร์จึงมีเป้าเพื่อสร้างความร่วมมือ ก่อนที่จะยกระดับเป็นสมัชชาการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ โดยได้ตั้งคณะกรรมการด้านสื่อสารซึ่งทำงานควบคู่ไปกับคณะทำงานหลัก นอกจากนี้ยังรับความอนุเคราะห์จากวิทยากรจาก Thai PBS ลงพื้นที่เพิ่มทักษะให้สื่อท้องถิ่น นักวิชาการ รวมถึงเชื่อมเครือข่ายนักข่าวพลเมืองของ Thai PBS ให้เข้าใจปัญหาคนสุรินทร์ เพื่อนำสู่การระดมความร่วมมือกันต่อไป


ฐิติรัตน์ ศรีธีระวิโรจน์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี กล่าวถึงจุดแข็งของชลบุรีคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอเป็นผู้นำในการดำเนินการสร้างต้นแบบจังหวัดที่มีบริบทเมืองท่องเที่ยว อุตสาหกรรม โดยแสดงวิสัยทัศน์เปลี่ยนทัศนคติการมุ่งปริญญาตรี ให้เลือกเรียนสายอาชีพตามความต้องการของเด็ก จึงเกิดแนวคิด “ชลบุรีโมเดล” เปิดโอกาสให้พื้นที่ร่วมคิด กำหนดทิศทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน ดึงศักยภาพภาคธุรกิจมาร่วมปฏิรูปการศึกษา โดยสร้างนิสัยอุตสาหกรรมตั้งแต่ปฐมวัยถึงอุดมศึกษา เพื่อสร้างทักษะเรื่องการมีงานทำ โดยบรรจุลงหลักสูตรการศึกษาเพื่อการมีงานทำของเด็กชลบุรี ภาพการสื่อสารในอนาคต ต้องเปิดช่องอุตสาหกรรมในความหมายโลก สร้างคุณลักษณะอุตสาหกรรมในโลกศตวรรษที่ 21 ในฐานะสื่อภาครัฐเห็นว่า หากจะมีการยกระดับการให้ประเด็นการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เป็นประเด็นร่วมนั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเชื่อมกับแผนพัฒนาประเทศด้านการศึกษา ซึ่งปัจจุบันมุ่งไปเรื่องตอบโจทย์เศรษฐกิจ ก็จะทำให้มีแรงหนุนของภาคประชาสังคม ขณะเดียวกันก็จะตอบเป้าประสงค์ในการเคลื่อนงานสื่อสารในฐานะสื่อภาครัฐของกรมประชาสัมพันธ์ด้วย


บุษยา ใจเปี่ยม ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยนำเครือข่ายเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมทำงาน และสร้างอัตลักษณ์เด็กและเยาวชนภูเก็ต โดยใช้คำว่า “ตงห่อ” ซึ่งหมายถึงการเป็นคนดีในทุกด้านเป็นจุดขาย


อีกทั้ง “บัณฑูร ทองตัน” อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานคดีแรงงานภาค 8 (ภูเก็ต) ที่ผันตัวมาเป็นพ่อทัพจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ภูเก็ตในการเชื่อมประสานภาคีทุกส่วนมาทำงานร่วมกัน ร่วมทั้งด้านสื่อสารทำให้มีเพื่อนทำงานมากขึ้น “ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ต มีการจัดทำระบบฐานข้อมูล ผ่านแอพพลิเคชั่น ร่วมกับเด็กนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ มีการทำงานเชิงเครือข่าย โดยจัดกิจกรรมร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้องและดึงมาร่วมเป็นเครือข่ายเพิ่ม โดยในเดือนมกราคม 2558 นี้จะมีการจัดมหกรรมเปิดโลกสัมมาชีพ เพื่อเปิดเป็นคลินิกให้ความรู้ถึง 60 คลินิกวิชาชีพ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ ศิลปะและการบริการภาษาต่างๆ การประชาสัมพันธ์สื่อสารจึงเป็น “เครื่องมือ” ในการส่งสัญญาณผ่านสื่อช่องทางต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจให้คนภูเก็ตเกิดการตื่นตัว”


ธีรวัฒน์ รัตนกุล อดีตหัวหน้ากองการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.สุราษฎร์ธานี หัวหน้าทีมงานจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดสุราษฎร์ธานี เล่าว่ายุทธศาสตร์การศึกษาสู่การขับเคลื่อนสมัชชาการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานีเกิดขึ้นจากการประสานความร่วมมือผ่านคณะกรรมการทั้ง 5 คณะ ได้แก่ 1.คณะทำงานข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาและการมีงานทำ โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเป็นผู้ขับเคลื่อน 2.คณะทำงานหลักสูตรพุทธทาสศึกษา ทำหลักสูตรสอนนักเรียนให้เป็นคนดี 3.คณะทำงานพัฒนาเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) โดยให้ศูนย์การศึกษาพิเศษเป็นแม่งาน 4.คณะทำงานการพัฒนาครูโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน (PLC) ให้อบจ.สุราษฎร์ธานีเป็นผู้ขับเคลื่อน และ 5.คณะทำงานรณรงค์สื่อประชาสัมพันธ์ โดยให้ยุพินทร์ สุทธิโสภณ ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นแม่งาน เชื่อมประสานความก้าวหน้าโดยตรงต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งการขับเคลื่อนกลไกเหล่านี้ คนที่เป็นเนื้อประสานต้องเป็นน้ำที่ดี ทำงานละเอียดอ่อนในการเชื่อมเครือข่าย สุดท้ายเพื่อให้เครือข่ายมั่นคงและจะกลายร่างเป็นสมัชชาการศึกษาที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนและเป็นกลไกสำคัญ


13 จังหวัดต้นแบบจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ ซึ่งมีกลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ แต่ใครจะรู้? หากขาดซึ่งการสื่อสาร สร้างความตระหนัก โดยใช้เครื่องมือ เทคโนโลยี ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย โดยค้นหา “นักรณรงค์สื่อสาร” ในพื้นที่ให้เจอ เพื่อเป็นผู้ชี้เป้า ส่งสารเรื่องราวดีๆ กระจายในวงกว้าง ต่อยอดการพัฒนา


 


 


ที่มา : เว็บไซต์บ้านเมือง  


ภาพประกอบจากเว็บไซต์บ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code