เมื่อเงาะ กำลังจะถอดรูป พลิกโฉม “ราชภัฏ” มหาวิทยาลัยสร้างสุขภาพ

สสส.หนุนราชภัฏ 24 แห่งเป็นสังคมสร้างสุขภาพ

 

เมื่อเงาะ กำลังจะถอดรูป พลิกโฉม “ราชภัฏ” มหาวิทยาลัยสร้างสุขภาพ            มหาวิทยาลัยราชภัฏ นับเป็นสถาบันอุดมศึกษาขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ เพราะในแต่ละปี ต้องรองรับจำนวนนักศึกษาไม่ต่ำกว่า 500,000 คนทั่วประเทศ

 

            นับเป็นบทหนักและสำคัญของการผลิตบัณฑิตที่เป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างมีคุณภาพ

 

            เนื่องจากสถานการณ์เยาวชนรอบรั้วสถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่ โดยผลการศึกษาของสถาบันรามจิตติ พบว่า พฤติกรรมของเยาวชนในสถาบันอุดมศึกษาที่น่าตกใจคือ เยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี ก่อคดีอาชญากรรม 32,000 คดีต่อปี วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 19 ปี มาทำคลอดปีละ 70,000 คน เยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ปีละ 70,000 คน และเยาวชนอายุระหว่าง 19-25 ปี พยายามฆ่าตัวตาย ปีละ 4,000 คน

 

            ซ้ำยังพบปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของอาจารย์ในรั้วสถานศึกษา ดังตัวอย่าง “พฤติกรรมอึ๊บแลกเกรด” ของอาจารย์หนุ่มจากรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอาจารย์อาวุโสระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์จากรั้วมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

            ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จับมือร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎทั้ง 24 แห่ง อันประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สวนสุนันทา เชียงราย อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ ลำปาง เพชรบูรณ์ พิบูลสงคราม กำแพงเพชร สกลนคร มหาสารคาม อุดรธานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี นครราชสีมา ราชนครินทร์ เทพสตรีรำไพพรรณี เพชรบุรี หมู่บ้านจอมบึง กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช และ ภูเก็ต นำร่อง “โครงการสร้างเสริมสุขภาวะในมหาวิทยาลัยราชภัฏ” เพื่อพลิกโฉม ให้เป็นมหาวิทยาลัยสร้างสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพสังคม และสุขภาพปัญญา

 

            “ผศ.ดร.โสภณ พวงสุวรรณ” ประธานโครงการสร้างสุขภาวะในมหาวิทยาลัยราชภัฏ เล่าว่า พฤติกรรมเสี่ยงในการดำเนินชีวิตของนักศึกษา ล้วนแต่มีบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องดังนั้นการขจัดปัญหาจึงต้องแก้ส่วนอื่นๆ ไปพร้อมๆ กัน มหาวิทยาลัยราชภัฏจึงถือเป็นกลไกสำคัญ เพราะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะขณะนี้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏจากทั่วประเทศมีจำนวน 533,192 คน มีอาจารย์ประจำกว่า 1 หมื่นคน อาจารย์พิเศษ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และผู้ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากทีเดียว

 

            “การจะพัฒนาจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมุ่งให้บุคลากรมีสุขภาพจิต สุขภาพใจและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี หากทุกอย่างที่กล่าวมาดี สถาบันการศึกษาก็จะเป็นแหล่งเพื่อเอื้อต่อการให้ความรู้และพัฒนาทักษะแก่นักเรียนนักศึกษา”

 

            แนวทางของการพัฒนาให้เป็นมหาวิทยาลัยสุขภาพ จึงประกอบด้วย 1. ผลักดันให้มีนโยบายการสร้างเสริมสุขภาวะในมหาวิทยาลัยราชภัฎ 2. พัฒนานักศึกษา อาจารย์ ผู้บริหาร และบุคลากร ให้มีความรู้และคุณลักษณะทางจิตเพื่อนำสู่การเกิดพฤติกรรมสุขภาพ 3. จัดระบบสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่สร้างเสริมสุขภาพ 4. ส่งเสริมการจัดกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ 5. สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพ และ 6. พัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยราชภัฏให้มีศักยภาพในการดำเนินงานการสร้างเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

 

            “การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสี่ยงถือเป็นปัจจัยสำคัญในการลดปัญหาในรั้วมหาวิทยาลัยแม้จะเป็นเรื่องยากแต่หากไม่เริ่มต้นแก้ไขปัญหาที่มีอยู่แล้วก็คงจะเพิ่มพูนมากขึ้น ดังนั้นเราจึงเชื่อว่าหากโครงการนี้นำร่องไปด้วยดีและประสบความสำเร็จในการลดพฤติกรรมเสี่ยงของบุคลากรที่เกี่ยวข้องต่อไปสถาบันการศึกษาอื่นๆ อาจจะเข้าร่วมมากขึ้น โครงการนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะกอบกู้ภาพลักษณ์ของสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้กลับคืนมา เพื่อให้สถาบันการศึกษายังเป็นที่พึ่งของสังคม” ผศ.ดร.โสภณ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

Update 02-09-51

Shares:
QR Code :
QR Code