เมื่ออาสากู้ชีพ-กู้ภัยฝึกเป็นนักสืบอุบัติเหตุ

เมื่ออาสากู้ชีพ-กู้ภัยฝึกเป็นนักสืบอุบัติเหตุ thaihealth


แฟ้มภาพ


ความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุถือเป็นปัญหาใหญ่ของไทยทำให้มีผู้บาดเจ็บ พิการและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ระบุว่าตั้งแต่ปี 2543-2552 มีอุบัติเหตุทางถนนกว่า 900,000 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 100,000 ราย และบาดเจ็บกว่า 150,000 คน


จากความสูญเสียที่เกิดขึ้นส่งผลให้ไทยนำปัญหาเรื่องอุบัติเหตุมาเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ไข พร้อมประกาศให้ปี 2554-2563 เป็นทศวรรษความปลอดภัยทางถนน ทุกหน่วยงานเกิดความตื่นตัว ภาคประชาคม กลุ่มองค์กรเข้ามามีบทบาทในการจัดการและแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งกลุ่มอาสาสมัครกู้ชีพ กู้ภัย ถือเป็นกลุ่มแรกที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย จึงมีข้อมูลและภาพการเกิดอุบัติเหตุที่เป็นข้อมูลเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุด ที่ผ่านมาบทบาทหน้าที่หลักของอาสาสมัครคือการช่วยคนเจ็บ เก็บคนตาย เท่านั้น


น.ส.กมลทิพย์ แซ่เล้า ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและบริหารคุณภาพ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เล็งเห็นศักยภาพของเครือข่ายอาสาสมัครกู้ชีพ กู้ภัย จึงจัดการอบรมพัฒนาศักยภาพการทำงานให้อาสาสมัครได้รู้จักคิด วิเคราะห์ หาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจากคน รถ ถนนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเกิดพลังคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักสืบอุบัติเหตุครอบคลุมทุกพื้นที่ ภายใต้โครงการ การพัฒนาศักยภาพการสื่อสารสาธารณะของเครือข่ายกู้ชีพเพื่อความปลอดภัยทางถนน โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สสส.และเครือข่ายกู้ชีพ กู้ภัย ที่ผลักดันให้มีการพัฒนาศักยภาพของกู้ชีพ กู้ภัย ให้เป็นนักสืบอุบัติเหตุ


"อาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัยมีข้อมูลพื้นที่เกิดอุบัติเหตุ บ่อยครั้งจึงไปตั้งจุดการช่วยเหลือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุก็เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้ทันที จึงมองว่าคนกลุ่มนี้มีศักยภาพ ขณะที่หน่วยงานรับผิดชอบอย่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินเองมีการรณรงค์เกี่ยวกับอุบัติเหตุมานานแล้ว แต่จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตไม่ลดลง จึงมีแนวคิดว่าน่าจะมีโครงการฝึกอบรมกลุ่มอาสาสมัครกู้ชีพ กู้ภัย ให้นำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนแก้ปัญหาอุบัติเหตุในพื้นที่ เพราะอาสาสมัครกลุ่มนี้จะเข้าถึงพื้นที่ก่อนจึงมีข้อมูลเชิงลึก หากเพิ่มศักยภาพในการคิด วิเคราะห์ และนำข้อมูลมาใช้จะทำให้เป็นแรงสำคัญในการป้องกันอุบัติเหตุได้"


ที่ผ่านมาเคยมีอาสาสมัครกู้ชีพ กู้ภัย ที่ให้ความสำคัญกับงานป้องกันการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าการรอให้เกิดอุบัติเหตุหรือเกิดความสูญเสียแล้วจึงทำหน้าที่เก็บคนเจ็บ คนตาย เช่น นายพลเสฏฐ์ เลาหกรรณวนิช รองเลขาฯ ประธานหน่วยกู้ภัย มูลนิธิสว่างเบญจธรรม สมุทรสงคราม ที่เห็นเหตุหญิงได้รับบาดเจ็บนั่งอุ้มลูกสาวที่เสียชีวิตนอนบนตัก จึงจุดประกายทำให้เขาหันมาปรับเปลี่ยนการทำงานป้องกันอุบัติเหตุในเชิงรุกด้วยการจดบันทึกข้อมูลรายละเอียดการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งวัน เวลา สิ่งแวดล้อมและอาการผู้บาดเจ็บ พร้อมนำเรื่องราวประสบการณ์มาถ่ายทอดสู่เครือข่าย หาแนวร่วมในการทำงานเชิงป้องกันร่วมกัน แต่กว่าจะก้าวผ่านความคิดเดิมๆ ที่ว่ากู้ภัยคือการช่วยคนเจ็บ เก็บคนตาย มาสู่งานป้องกันให้เกิดอุบัติเหตุน้อยได้ต้องใช้เวลานานนับสิบปี


ทำให้มูลนิธิสว่างเบญจธรรม สมุทรสงคราม เป็นมูลนิธิต้นแบบของกู้ชีพ กู้ภัยที่เน้นการทำงานป้องกันอุบัติเหตุ ข้อมูลนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่งต่อให้โรงพยาบาลตำรวจ บริษัทประกันภัย และผู้ประสบเหตุ เป็นข้อมูลให้แพทย์ได้นำไปใช้ในการรักษาอาการบาดเจ็บ ใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องคดี เป็นกรณีศึกษาในการนำไปวิเคราะห์ จุดเสี่ยง ความประมาทและวิศวกรรมทางถนน จนนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุได้จริง


"เดิมทำงานตั้งรับคือเมื่อเกิดเหตุจะไปช่วยเหลือ ทุกครั้งจะเห็นความสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สินและที่ประเมินค่าไม่ได้คือการสูญเสียทางจิตใจ แรกๆ ที่เข้ามาทำงานเชิงป้องกันถือว่ามีแรงกดดันทั้งจากประชาชน หรืออาสาสมัครด้วยกันเอง ที่มองว่าไม่ใช่งานของกู้ภัยแต่เป็นงานของเจ้าหน้าที่ แต่เราเข้าไปหนุนเสริมด้านข้อมูลทั้งด้านสถิติ สาเหตุ วิศวกรรมจราจร พร้อมกับรณรงค์ให้ความรู้ การขยายเครือข่าย เมื่อเข้ามาทำงานอย่างจริงจังเราเห็นประโยชน์ที่จะเกิดกับประชาชน" การพัฒนาและเพิ่มความรู้ให้เครือข่ายกู้ชีพ กู้ภัย ที่เป็นนักสืบอุบัติเหตุ จึงเป็นอีกหนึ่งมิติที่นำศักยภาพพลังคนรุ่นใหม่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ พร้อมเข้ามามีบทบาทในการจัดการและแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเพื่อให้สังคมไทยเกิดความตระหนัก สร้างวัฒนธรรมและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนส่วนรวม นำไปสู่การลดอุบัติเหตุและลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ


เมื่อสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สสส.และเครือข่ายกู้ชีพ กู้ภัย พัฒนาศักยภาพการสื่อสารสาธารณะของเครือข่ายกู้ชีพ เพื่อความปลอดภัยทางถนน หน่วยกู้ภัย มูลนิธิสว่างเบญจธรรม สมุทรสงคราม จึงเข้าร่วมถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานของกลุ่มคนกู้ชีพ กู้ภัยที่พร้อมจะทำงานป้องกัน


การลงพื้นที่หาสาเหตุและถ่ายภาพการเกิดอุบัติเหตุจากเหตุการณ์จำลองรถเก๋งขับตัดหน้ารถจักรยานยนต์ทำให้เสียหลักล้มมีผู้ได้รับบาดเจ็บที่ นายธนิษฐ์ อู่เกียรติภากรณ์ อาสาสมัครกู้ชีพจากมูลนิธิสว่างเมตตาธรรม จ.นครราชสีมา ลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติร่วมกับกู้ชีพกู้ภัยกว่า 30 คนในภาคอีสาน เป็นหนึ่งบททดสอบการเพิ่มศักยภาพให้กลุ่มอาสาสมัครมีทักษะการทำงานมากกว่าการช่วยคนเจ็บ เก็บคนตาย คือ การหาสาเหตุ การวิเคราะห์ และมีแนวทางในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ


"การอบรมกู้ชีพ กู้ภัยให้เป็นนักสืบอุบัติเหตุก็เป็นอีกหนึ่งหลักสูตรที่ทำให้เปิดมุมมองการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ เพราะภาพของกู้ชีพ กู้ภัยของประชาชน คือการช่วยเหลือประชาชนนำส่งโรงพยาบาล จับงู หรืองานที่ประชาชนต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น แต่การนำข้อมูลอุบัติเหตุที่เห็นมาคิด วิเคราะห์หาสาเหตุ เพื่อนำไปแก้ไขลดอุบัติเหตุถือเป็นประสบการณ์ใหม่ ตั้งใจว่าจากนี้จะนำความรู้ไปปรับใช้กับการทำงานเพื่อมีข้อมูลอ้างอิงนำเสนอหน่วยงาน พร้อมกับนำไปวางแผนป้องกันอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลลอยกระทงและเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่จะถึงนี้”


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Shares:
QR Code :
QR Code