เมื่อสูงวัยต้องรับมือกับ “ฮอร์โมน”

เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมุลจาก : วัยทอง วัยมอด เรื่องรักใคร่? สำนักศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เรียบเรียงข้อมูลจาก 108 คำตอบ เติมพลังผู้สูงวัย จุดไฟความสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)


สังคมผู้สูงอายุ” ประโยคที่ใครๆ ก็คงเคยได้ยิน เพราะขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 7 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และประชากรโลกจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในอีก 35 ปีข้างหน้า โดยจะมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด


เมื่อสูงวัยต้องรับมือกับ “ฮอร์โมน”  thaihealth


เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ปัญหาที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องสุขภาพทางกายที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ที่เรียกว่าอาการของ “วัยทอง”  โดยเกิดขึ้นในหญิงและชายที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ฮอร์โมนเพศ หรือฮอร์โมนเอสโตรเจน จะลดลงเรื่อยๆ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคนด้วย


เมื่อระดับฮอร์โมนเพศลดลง เกิดอะไรขึ้น?


โดยทั่วไปจะเกิดอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตัว รู้สึกร้อนวูบวาบตามร่างกาย เหงื่อออกและใจสั่น รวมถึงอาการทางจิตใจและสมอง เช่น ความจำลดลง สมาธิสั้น ตกใจ หงุดหงิดง่าย ตลอดจนเรื่องของอารมณ์ทางเพศที่ลดลงตามไปด้วย


กินฮอร์โมนทดแทน จะดีหรือไม่?


การใช้ฮอร์โมนทดแทน ขึ้นอยู่กับว่ามีอาการที่กระทบชีวิตประจำวันมากน้อยแค่ไหน เพราะอาการอารมณ์แปรปรวน เครียดง่าย นอนไม่หลับ หรือร้อนวูบวาบเป็นอาการที่กระทบต่อคุณภาพชีวิต ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการลดลงของฮอร์โมนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดอาการรุนแรง ที่เกิดจากความเครียดจากครอบครัวและการงาน รวมถึงสภาพจิตใจดั้งเดิมของแต่ละคน ดังนั้นหากไม่ได้รับผลกระทบมาก ไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนทดแทน ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อนหากต้องการใช้เพื่อความปลอดภัย


เสริมฮอร์โมนด้วยอาหาร


ทั้งนี้ เราสามารถเสริมฮอร์โมนได้ด้วย อาหารที่มีส่วนประกอบตามธรรมชาติคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เรียกว่า ไฟโตเอสโตรเจน ได้แก่


1.ฟลาโวนอยด์


ในกลุ่มเบตาแคโรทีน ช่วยในการขจัดสารพิษในสมองและช่วยให้สมองได้รับออกซิเจนพบมากในผลไม้ที่มีสีต่างๆ เช่น แครอท ฟักทอง แคนตาลูป มะเขือเทศ มะละกอ ส้มและผักใบเขียว เช่น ตําลึง คะน้า บล็อคโคลี เป็นต้น


2. วิตามินบี


ช่วยส่งเสริมระบบไหลเวียนเลือด การทํางานของฮอร์โมน ประสาท และส่งเสริมให้ระบบกล้ามเนื้อแข็งแรง โดยวิตามินบี 6 มีมากในจมูกขาวสาลี กล้วย ไก่ ปลา กะหล่ำดอก ส่วนวิตามินบี 12 มีมากในตับ เนื้อวัว เนื้อหมู ปลาเนื้อขาว ไข่ ธัญพืช นม


3. วิตามินซี


ช่วยด้านการไหลเวียนโลหิต ทําให้เส้นเลือดมีความยืดหยุ่นและขยายตัวได้ดี และช่วยให้อสุจิแข็งแรง ไม่จับตัวเป็นกลุ่ม พบได้ในผักและผลไม้สดทุกชนิด


4. วิตามินอี


ช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระ เสริมความแข็งแกร่งของเซลล์เนื้อเยื่อหัวใจและกล้ามเนื้อต่างๆ ป้องกันการเสื่อมชราของเนื้อเยื่อและสร้างฮอร์โมน สร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย


5. แคลเซียม


ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบประสาทเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติทางเพศและการตอบสนองต่อสิ่งเร้าอารมณ์ พบได้ในนม ผลิตภัณฑ์จากนมและถั่วเหลือง ผักใบเขียว เช่น คะน้า ตําลึง เป็นต้น


6. โครเมียม


หากขาดโครเมียมจะทําให้ความต้องการทางเพศลดลง พบได้ในแอปเปิ้ล องุ่น ลูกเกด ผักใบเขียว เห็ด ถั่ว เป็นต้น


7. สังกะสี


มีบทบาทสําคัญในการสร้างฮอร์โมนเพศชาย และการทํางานของต่อมลูกหมาก พบมากใน หอยนางรม เนื้อปู เมล็ดฟักทอง ถั่ว หัวหอม ไข่แดง เป็นต้น


วิตามินและเกลือแรกต่างๆ ที่ได้แนะนำนั้นล้วนส่งผลดีต่อร่างกาย แต่ควรกินอย่างพอเหมาะของร่างกาย รวมถึงอย่าหลงเชื่อการรับประทานยาหรือสมุนไพรตามคำโฆษณา เพราะยาเหล่านี้อาจส่งผลเสียของร่างกาย โดยลูกหลานก็ต้องช่วยกันดูแลผู้สูงวัยอย่างใกล้ชิด โดยหากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์เป็นวิธีที่ดีที่สุดค่ะ

Shares:
QR Code :
QR Code