เมื่อลูกเป็น LGBTQ+
เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก หนังสือ "แนวปฏิบัติสำหรับครอบครัวที่มีลูกหลานเป็นกระเทย"
ให้สัมภาษณ์โดย คุณพ่ออารี ระมิงค์วงศ์ คุณพ่อของลูกสาวข้ามเพศและตัวแทนจากเครือข่ายผู้ปกครองที่มีบุตรหลานข้ามเพศและหลากหลายทางเพศ
นายคณิศ ปิยะปภากรกูล หรือ เต็งหนึ่ง นักแสดงและศิลปิน
คุณแม่รณิศร ปิยะปภากรกูล คุณแม่ ของเต็งหนึ่ง
ภาพโดย นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า LGBTQ อยู่บ่อยๆ LGBTQ ในที่นี้คือกลุ่มคนที่ความหลากหลายทางเพศ ซึ่งในยุคนี้ถือว่าได้รับการยอมรับและเปิดกว้างมากขึ้น ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน และที่เราเห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ มีการจัดตั้งกลุ่ม LGBTQ ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคมในหลากหลายด้านโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ LGBTQ ได้รับการยอมรับจากคนในสังคม และเพื่อเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายให้เท่าเทียมกับเพศทั่วไป
ทำความรู้จัก LGBTQ
L ย่อมาจาก Lesbian หรือกลุ่มผู้หญิงรักผู้หญิงด้วยกัน
G ย่อมาจาก Gay คือกลุ่มชายรักชาย
B ย่อมาจาก Bisexual หรือกลุ่มที่สามารถรักได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
T ย่อมาจาก Transgender คือ กลุ่มคนข้ามเพศ จากเพศชายเป็นเพศหญิง หรือเพศหญิงเป็นเพศชาย เป็นผู้ที่รับรู้ว่าตนเองมีเพศภาวะไม่สอดคล้องกับเพศสรีระ ตามรูปแบบที่สังคมกำหนด
Q ย่อมาจาก Queer คือ กลุ่มคนที่พึงพอใจต่อเพศใดเพศหนึ่งแล้วแต่ความชอบ ไม่ได้จำกัดในเรื่องเพศและความรัก รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์
สำหรับประเทศไทย กลุ่ม LGBTQ ถือว่าได้รับการยอมรับในระดับดีเมื่อเทียบกลับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ถึงแม้ว่า LGBTQ จะได้รับการยอมรับจากสังคมในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ยังมีสังคมบางส่วนที่ยังไม่เปิดรับและเข้าใจคนกลุ่มนี้มากนัก โดยเฉพาะคนในครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยสังคมขนาดเล็กที่สุด แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกครอบครัวที่พ่อแม่จะสามารถยอมรับความพิเศษของ LGBTQ ได้ พ่อแม่หลายคนอาจไม่ทันตั้งตัว และไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน แต่ต้องยอมรับว่าสถาบันครอบครัวเป็นผู้บ่มเพาะเพศทางเลือกที่แสนวิเศษและดีที่สุด
นายคณิศ ปิยะปภากรกูล หรือ เต็งหนึ่ง นักแสดงและศิลปิน เล่าว่า ตัวเองเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แบ่งปันประสบการณ์ว่า แม่ของเขา ต้องพบคำถามมาโดยตลอด ว่าลูกชายเป็นเกย์หรือไม่ แต่โชคดีที่แม่เข้าใจ และแม่รับรู้มาโดยตลอดว่าลูกชายเป็นอย่างไร แต่ก็เคารพการตัดสินใจของลูกชาย จนเมื่อพร้อม เต็งหนึ่ง จึงตัดสินใจบอกกับครอบครัว ในวัย 25 ปี
“ผมคุยกับคุณแม่เรื่องนี้มา 7 ปี ตั้งแต่อายุ 25 จนตอนนี้อายุ 32 ปีแล้ว คุณแม่ก็พยายามเชียร์อัพว่าอยากให้เปิดเผยต่อสาธารณะมาตลอด เพราะไม่อยากที่จะตอบคำถามว่า “ลูกเป็นเกย์หรอ” ผมเคยหนีไปอยู่ต่างประเทศมาพักหนึ่ง สุดท้ายผมก็หนีไม่พ้นการมีชื่อเสียงอยู่ดี ผมจึงตัดสินใจว่าผมก็จะเป็นโมเดลให้คนที่เป็น LGBTQ เขาสามารถที่จะเป็นคนปกติทั่วไปได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเอายังไงกับชีวิตดี ผมยังรู้สึกว่าผมสามารถทำตัวเป็นสุภาพบุรุษได้ เทคแคร์ผู้หญิงได้ ทำตัวปกติได้ ผมโชคดีที่มีครอบครัวและจิตใจที่แข็งแรงพอที่จะรับเรื่องอะไรแบบนี้ได้” เต็งหนึ่งเล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจ
ทำอย่างไรเมื่อลูกเป็น LGBTQ
เมื่อลูกเป็น LGBTQ หน้าที่ของพ่อแม่ไม่ใช่การหาสาเหตุและพยายามแก้ปมปัญหา หากแต่เป็นการเข้าใจให้ลึกซึ้งถึงแก่นแท้ของตัวลูก และรู้ว่าพฤติกรรมไหนที่ควรปฏิบัติต่อลูก การที่ยอมรับพฤติกรรม หรือความเป็น LGBTQ ของลูก จะช่วยทำให้ลูกของคุณดำเนินชีวิตได้ด้วยความสุข มีวุฒิภาวะ ทั้งยังทำให้ลูกมีความภาคภูมิใจในตนเอง และนำไปสู่การพัฒนาเอกลักษณ์ทางเพศในเชิงบวกอีกด้วย
คุณพ่ออารี ระมิงค์วงศ์ คุณพ่อของลูกสาวข้ามเพศและตัวแทนจากเครือข่ายผู้ปกครองที่มีบุตรหลานข้ามเพศ และหลากหลายทางเพศ เล่าว่า ครั้งแรกที่รู้ก็ “อึ้ง” ตกใจนิดหนึ่งแต่ก็ไม่ได้เกลียดลูกเรานะ ผมไม่เกลียดลูกเลย เขาเป็นลูกเรา เกลียดไม่ลง ที่รู้เพราะลูกชอบทำกิจกรรม หลายอย่างๆที่ทำก็จะชอบแต่งตัวเป็นผู้หญิง ก็มีคลิปมีรูปถ่ายมาบ้างเราก็ดู ก็เอ๊ะ ลูกเรามันเขาท่านะ ลูกเราแต่งหญิงเหมือนอ่ะ คือ เรียนเก่ง ไม่มีอะไรเสียหายเลย ผมเคยปรึกษากับแฟนว่าลูกเป็นแบบนี้ควรจะทำยังไง พอปรึกษากับแฟนก็ได้คำตอบว่า “เราต้องเข้าใจลูกนะ” ผมมีเรื่องเล่าเยอะคือสมัยก่อนย้อนไปเมื่อหลายปีผมเลยล้มเหลวทางธุรกิจ เกิดความเครียด แต่ลูกกลับกลายเป็นคนที่ทำให้เราลุกขึ้นสู้อีกครั้ง ลูกเรานี่แหละคือความสุขจริงๆ ผมเคยเห็นพ่อคนหนึ่งอุ้มลูกที่ป่วยในโรงพยาบาล เกิดความรู้สึกว่าลูกเป็นขนาดนี้ายังรักลูกเลย แล้วเราล่ะ แค่ลูกเกิดมาครบ 32 นี่ก็ดีที่สุดแล้ว
คุณพ่ออารี เล่าต่ออีกว่า ผมพยายามจะสอนลูกว่าคนข้ามเพศมักจะอยู่ในสังคมแบบนี้มันยากมาก ลูกต้องดูคนที่ลำบาก ลูกอยากเป็นอะไรเป็น อยากทำอะไรทำเลย ทำในสิ่งที่ถูกที่ควร ทำอะไรต้องอดทน หากลูกไม่มีความอดทนเราก็ผ่านมันไปไม่ได้ ในสังคมเรา เราจะให้อะไรกลับไปสู่สังคมได้บ้าง และอย่าเบียดเบียนตัวเองมากเกินไป
ทางด้าน คุณแม่รณิศร ปิยะปภากรกูล คุณแม่ ของเต็งหนึ่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า “ลูกมีความคิด ความรู้สึกอยู่ในสมองของตัวเองว่า คิดยังไง ชอบอะไร เราเป็นพ่อเป็นแม่ก็ดูพฤติกรรมลูกได้ว่าลูกเราจะมาทางไหน แต่เราอย่าไปตัดสินใจว่าลูกเราผิด ความคิดแต่ละคนไม่เหมือนกัน เรายังคิดไม่เหมือนลูกเลย ลูกก็มีความคิดเป็นของตัวเอง ว่าจะชอบทางไหน มันอยู่ในสมองอยู่แล้ว เราจะไปปรับเปลี่ยนไม่ได้ เราต้องเข้าใจลูก” คุณแม่รณิศร กล่าว
แนวปฏิบัติเพื่อการก้าวข้ามและเรียนรู้ไปกับลูกหลานที่เป็น LGBTQ
1. ไม่เปรียบเทียบลูกหลานของตนกับลูกหลานของคนอื่นๆ และส่งเสริมการรู้คุณค่าในตนเอง เพราะการเปรียบเทียบจะสร้างความกดดัน ให้ลูกหลานและผลักให้เขาไม่อยากเปิดใจกับเรามากยิ่งขึ้น
2. มีการสื่อสารระหว่างกัน โดยเน้นการสื่อสารในเชิงบวก คือ มองประโยชน์มากว่าโทษหรือผลเสียที่จะเกิดขึ้น
3. ให้ความสำคัญ กับความสนใจ และความถนัดของลูกหลาน ชื่นชมในสิ่งที่ทำได้ แต่ไม่ใช่เยินยอเกินจริง เพราะอาจส่งผลตรงข้าม
4. ให้โอกาสลูกหลานได้เรียนรู้จากประสบการณ์โดยที่พ่อ – แม่ผู้ปกครองเป็นผู้ดูแลอยู่ห่างๆ และให้ความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น
5. ให้บ้านเป็นสถานที่ในการพักผ่อน และเป็นที่พึ่งพิงทางใจสำหรับลูกหลาน
6. ใช้คำถามปลายเปิดเพื่อเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้พูด เล่าเรื่องราว ถามสารทุกข์สุกดิบของลูกหลาน เช่น ช่วงนี้ เป็นอย่างไรบ้าง
7. มีความละเอียดอ่อนต่อประเด็นเรื่องเพศ ไม่ใช่เฉพาะกะเทยหรือคนข้ามเพศเท่านั้นรวมถึงผู้ชายและผู้หญิงด้วย ซึ่งไม่ใช่ปฏิบัติแตกต่างกันจนรู้สึกแปลก อาจใช้จินตนาการเข้าช่วยว่าเราอยากให้คนปฏิบัติแบบไหนกับเรา
สสส. ส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความเท่าเทียมกันในด้านสิทธิมนุษยชน มุ่งเน้นการทำงานเพื่อลดความแตกต่างด้านการเข้าถึงสิทธิและโอกาสในการดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาวะและสนับสนุนการเสริมสร้างความเข็มแข็งให้เครือข่ายครอบครัวที่มีบุตรหลานหลากหลายทางเพศ ให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถลดความตึงเครียดภายในครอบครัวได้