เมื่อลูกน้อยไม่อยากไปโรงเรียน

ที่มา: กรมการแพทย์


เมื่อลูกน้อยไม่อยากไปโรงเรียน thaihealth


แฟ้มภาพ


สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ เผยเด็กไม่ยอมไปโรงเรียน เป็นเรื่องที่พบเจอได้บ่อยในเด็กเล็ก เนื่องจากยังไม่มีการปรับตัวและกังวลที่ต้องแยกจากพ่อแม่ แนะรับมืออย่างใจเย็น เปิดใจรับฟังความรู้สึกของเด็กอย่างเข้าใจและพร้อมให้ความช่วยเหลือ


          นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงเวลาเปิดเทอม เด็กๆต้องเปลี่ยนการดำเนินชีวิตจากที่เคยนอนดึกตื่นสาย ไปเที่ยว ทำกิจกรรมกับครอบครัวและเพื่อนๆ กลายเป็นต้องนอนไวตื่นแต่เช้าเพื่อไปโรงเรียน เด็กจะรู้สึกขี้เกียจและงอแงไม่อยากไปโรงเรียน ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องปกติที่พบในช่วงอายุประมาณ 3 ปี ถึง 4 ปี ที่เริ่มไปโรงเรียนใหม่ๆ ซึ่งการแยกจากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูจะทำให้เด็กมีความกังวล รวมทั้งต้องพบเจอสิ่งแวดล้อมใหม่  การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น หรือถูกทำโทษที่โรงเรียน เด็กบางคนแสดงออกด้วยการร้องไห้ บางคนสะสมความเครียดจนทำให้ตัวเองเจ็บป่วย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ ซึ่งเป็นกลไกการต่อต้านทางร่างกาย พ่อแม่ผู้ปกครองควรเปิดใจให้กว้างรับฟังความรู้สึกของเด็กและค่อยๆสอนอย่างใจเย็น พร้อมทั้งหาทางแก้ไขและให้ความช่วยเหลือ


          นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น พ่อแม่ควรรับมือแก้ไขปัญหาอย่างมีสติ ปรับเปลี่ยนการเลี้ยงดู ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองและช่วยเหลืองานบ้านเพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ผู้ปกครอง โดยพ่อแม่คอยดูแลอย่างใกล้ชิดและให้กำลังใจ นอกจากนี้ควรฝึกทักษะพื้นฐานในด้านการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ทั้งนี้ ควรให้เด็กไปโรงเรียนทุกวันโดยไม่จำเป็นต้องหยุด ไม่ควรตำหนิเด็กหากชักช้าไม่ยอมอาบน้ำ หรือไม่รับประทานอาหารเช้าที่บ้าน ควรจัดใส่กล่องให้และบอกเด็กว่าต้องไปโรงเรียน และขอความช่วยเหลือจากคุณครูให้รับเด็กภายหลังจากพ่อแม่มาส่งเพื่อทำให้ระยะเวลาการแยกจากที่โรงเรียนสั้นที่สุด ผู้ปกครองต้องไม่ยืนเกาะรั้วเฝ้ามองด้วยความเป็นห่วงเพราะยิ่งจะทำให้เด็กเกิดความกังวลมากขึ้น อีกทั้งขณะเดินทางควรพูดถึงโรงเรียนให้เป็นเรื่องสนุกสนาน หรือวางแผนกิจกรรมที่จะทำช่วงหลังเลิกเรียน และคุณพ่อคุณแม่จะต้องให้ความมั่นใจกับลูกว่าจะไปรับกลับแน่ๆ ไม่ทอดทิ้งโดยมารับให้ตรงเวลา หากปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวแล้วไม่ได้ผลควรปรึกษาจิตแพทย์เด็กเพื่อช่วยกันดูแลให้เด็กปรับตัวไปโรงเรียนอย่างมีความสุข

Shares:
QR Code :
QR Code