เมื่อ(ท้อง)ผูกแล้วต้องแก้
ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
คำว่า “ผูก” ในที่นี้หลายคน คงสงสัยว่าคืออะไร แต่บางคนอาจจะเดาได้แล้วว่าเรากำลังจะพูดถึงคำว่า “ท้องผูก” ซึ่งเป็นอาการที่อาจจะเกิดกับใครก็ได้
อาการท้องผูก จะหมายถึง การที่กากอาหารที่เหลือเคลื่อนผ่านลงสู่ลำไส้ใหญ่ช้ากว่าปกติ แต่ยังขับออกมาได้ เมื่อใดที่เราจะพูดว่าท้องผูกแล้ว เราจะดูจากจำนวนครั้งที่ถ่าย ความถี่ โดยทั่วไปของการถ่ายหนักคือสองถึงสามครั้งต่อวัน หรือวันละครั้ง แต่ถ้าถ่ายเพียงสัปดาห์ละครั้งหรือสองครั้งเท่านั้นจะถือว่า มีอาการท้องผูก
สาเหตุที่มาของอาการท้องผูก โดยทั่วไปคือ
- การขาดปัจจัยสำคัญเกี่ยวกับการถ่ายอุจาระ นั่นคือ อาหารที่มีใยอาหาร โดยเฉพาะผักและผลไม้ รวมทั้งน้ำสะอาดที่ดื่มน้อยกว่าปกติในวันหนึ่ง ๆ
- มีโรคของระบบทางเดินอาหารรบกวนอยู่ เช่น ถุงโป่งพองในลำไส้ การเป็นไส้เลื่อน เนื้องอก การอักเสบของเนื้อเยื่อภายในลำไส้ใหญ่ การมีรอยรั่วระหว่างผนังเนื้อเยื่อในลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
- ความผิดปกติของต่อมธัยรอยด์ที่ทำงานน้อยกว่าปกติ
- ความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญสารอาหารในบางภาวะ ตัวอย่างเช่น เบาหวาน ไตวาย-เรื้อรัง ภาวะโพแทสเซียมต่ำ ภาวะตะกั่วเป็นพิษ
- ยาบางประเภทที่มีฤทธิ์ข้างเคียงทำให้เกิดอาการท้องผูก เช่น ยาเคลือบกระเพาะอาหาร ยาขับปัสสาวะ ยาชา ยากันชัก ยาแก้เศร้าซึม
- สาเหตุจากระบบประสาทและจิต โรคทางระบบประสาทส่งผลให้การขับถ่ายผิดปกติได้ เช่น ภาวะเก็บกด ไขสันหลังได้รับความกระทบกระเทือน โรคพาร์กินสัน เนื้องอกในสมอง
- อุปนิสัย สิ่งแวดล้อม และความเคยชินในการทำกิจวัตรประจำวัน
การแก้ไขอาการท้องผูก
- วิธีแก้ไขท้องผูกที่ดีที่สุด คือการประพฤติตนให้ดี พยายามถ่ายให้ได้ทุกเช้า หรือทุกครั้งเมื่อรู้สึกอยากถ่าย อย่าผลัดกับตัวเองเพราะจะติดเป็นนิสัย
- มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ๆ ละ 10-15 นาที โดยเฉพาะการบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหูรูด
- อาหารและน้ำ นับว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากในการแก้ไขปัญหาท้องผูก เรื่องของผักและผลไม้ นับเป็นแหล่งที่ดีของใยอาหาร ซึ่งหาไม่ได้ในเนื้อสัตว์และไขมัน ในร่างกายไม่มีน้ำย่อยที่จะย่อยใยอาหาร ใยอาหารจึงผ่านลงสู่ลำไส้ลำไส้ใหญ่ และถูกแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ย่อยสลาย เป็นผลทางอ้อมให้อุจจาระอุ้มน้ำไว้ได้มากขึ้น พร้อมกับเพิ่มปริมาณของอุจจาระด้วย นอกจากนี้ยังมีผลต่อการบีบตัวของทวารหนัก เร่งการขับถ่ายอุจจาระออกมา
- ถ้าเด็กเล็กมีอาการท้องผูกไม่ยอมถ่าย แม้จะออกแรงเบ่งจนหน้าเขียวหน้าดำแล้วก็ตาม คุณแม่ไม่ควรใช้ลูกยางสวนทวาร หรือปรอทวัดไข้ชนิดแบบที่สวนทวารได้ ไม่ควรนำมาใช้กับเด็ก แต่ให้นำเด็กไปปรึกษาแพทย์ เพราะท้องผูกนั้นมีหลายสาเหตุและบ่อยครั้งที่เกิดจากสภาพจิตใจ ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้เหมือนปัญหาทางกาย