เมื่อตั้งใจจริงๆ เราก็ทำได้
เพื่อนช่วยเพื่อน “ศูนย์ฯ ฟื้นฟูภัยพิบัติ”
ชาวบ้านช่วยชาวบ้านประชาชนช่วยประชาชน We never walk alone
เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วว่า บ้านเรา เมืองเรา เผชิญกับภาวะภูมิอากาศแปรปรวน หลังจากฝนแล้งทิ้งช่วงยาวนาน แล้วก็ฝนเทหนักในช่วงต้นเดือนตุลาคมทันที ทั้งชาวบ้านและเกษตรกรไม่มีใครคิดหรอกว่าเราจะเจอมวลน้ำมากขนาดนี้ ถ้าจะมาร์คจุดแล้วดูแผนที่จังหวัดทั้งประเทศในสัปดาห์นี้ มองหาจังหวัดที่น้ำไม่ท่วมอาจจะง่ายกว่า บ้านเราตอนนี้นอกจากเทวดาจะไม่อาทรกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศแล้ว โครงสร้างภาครัฐในการจัดการน้ำและการจัดการประชาชนผู้ประสบภัยก็ยังปรับตัวไม่ไวต่อความแปรปรวนของสังคม เศรษฐกิจและการเมืองเช่นกัน
บทเรียนที่ประชาชนได้ชุ่มฉ่ำจนถึงเปียกโชกกันเกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เราก็พบว่า การช่วยเหลือกันและกัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการตนเองนั้นเป็นคำตอบของการวิดวิกฤตที่ท่วมออกไปจากบ้านเรา คุณสมลักษณ์ หุตานุวัตร จาก SVN (Social volunteer network) ได้เริ่มการก่อตัวของไอแนวคิด “ศูนย์อาสาประชาชนฟื้นฟูภัยพิบัติ (ศอบ.)” ในปัจจุบัน ด้วยบทเรียนจากน้ำท่วมในปลายปี 49 เหตุการณ์สึนามิในปี 2546 ประกอบกับบทเรียนที่พบในปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาจากองค์กรในภาคประชาชนทั้งหมดกว่า 50 องค์กรที่ลงไปทำงานในพื้นที่ แทบทั้งหมดมีความคิดเห็นในปัญหาและการหาวิธีแก้ที่ตรงกันอย่างที่ไม่น่าเชื่อว่า การลดปัญหาการเข้าไม่ถึงชุมชนที่ตกค้าง และการได้รับความช่วยเหลือที่ไม่เท่าเทียมนั้น ควรให้ชาวบ้านหรือภาคประชาสังคมในพื้นที่ ทำหน้าที่มดงานขนข้าวขนของเข้าไปจัดสรรและแบ่งปันในชุมชนของตนเอง เพราะมดงานเหล่านี้รู้จักพื้นที่ของตนเองดีที่สุด จึงควรใช้การโยงให้ชุมชนที่ประสบภัยได้รับความช่วยเหลือแบบชาวบ้าน ให้ช่วยชาวบ้านด้วยกันเอง พื้นที่ใกล้เคียงที่ไม่โดนก็มาช่วยพื้นที่ที่โดน
พวกเรา รวมถึง สสส., ทีวีไทย และ www.thaiflood.com ซึ่งมี Google crisis response สนับสนุน จึงตั้งศูนย์นี้ดำเนินงานโดยกระจายงานไปสู่จุดเชื่อมต่อ (node) ซึ่งประสานความช่วยเหลือออกไปคล้ายกับแมงมุม คือ มีตัวแมงมุม และชุมชนในพื้นที่เป็นศูนย์ประสานงานหรือเป็นขาแมงมุมที่โยงความช่วยเหลือให้กันและกัน ตัวอย่างเช่น เรื่องวิกฤตชีวิต วันนี้นครฯ โดนพายุเข้าเราก็จะทำหน้าที่ประสานให้ทางหาดใหญ่ซึ่งน้ำลดคลี่คลายจนเรือเริ่มใช้น้อยลงแล้ว ให้หาดใหญ่ส่งเรือไปช่วยนครฯที่กำลังน้ำเอ่อ หรืออย่างวิกฤตอาหาร พัทลุงมีโรงสีชุมชนมีข้าวเล็บนก ซึ่งเป็นข้าวดีของทางใต้สามารถจัดหาให้ได้ในราคาช่วยเหลือผู้ประสบภัย เราก็เป็นตัวประสานให้ข้าวจากพัทลุง (ส่วนที่ไม่ท่วม)ไปช่วยพัทลุงส่วนที่ท่วม ไปช่วยหาดใหญ่ ไปช่วยนครฯ โดยมีสายการบินนกแอร์และภาคธุรกิจต่างๆ สนับสนุนทรัพยากรต่างๆ ช่วยให้ผู้ประสบภัยได้อิ่มท้อง มีแรงหนีน้ำ มีแรงวิดน้ำ มีแรงสู้ ดูแลครอบครัวต่อไป
ซึ่งเบื้องหลังภารกิจในการประสานงานดังกล่าว ทางหลังบ้าน (ศูนย์ประสานงานที่กรุงเทพ) เราได้แบ่งฝ่ายที่จัดการกับเรื่องต่างๆ ออกเป็น 5 ฝ่าย คือ
1. ข้อมูล – ข่าว ทำเรื่องสถานการณ์พื้นที่ ระดับน้ำ ระดับความเสียหาย ความเสี่ยงที่จะโดนซ้ำและการเตือนภัย เพื่อจัดลำดับการส่งความช่วยเหลือหรือแจ้งเตือนให้มีการเตรียมพร้อม
2. คน (อาสาสมัคร) ทำหน้าที่จัดระบบคนที่เข้ามาทำให้ศูนย์ลื่นไหล ไปยังตำแหน่งต่างๆ ที่มีความต้องการทั้งหน้างาน (ในพื้นที่) และหลังบ้าน (ที่ศูนย์กรุงเทพ)
3. มวลชน (คนพื้นที่) เป็นส่วนที่มีผู้ประสานงานซึ่งเป็นคนที่มีภูมิลำเนา หรือมีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตในพื้นที่ประสบภัยจะทำหน้าที่ในการประเมินสถานการณ์และประสานความช่วยเหลือโดยสื่อสารกับศูนย์ประสานงานในระดับพื้นที่ เอาข้อมูลมาแชร์กับฝ่ายทรัพยากรซึ่งเป็นส่วนต่อไป
4. ทรัพยากร ทำหน้าที่ประมวลข้อมูลความต้องการความช่วยเหลือ เช่น พื้นที่ที่ต้องการให้ช่วยประสานเรือที่จะอพยพ พื้นที่ที่ต้องการอาหารสด พื้นที่ที่ต้องการถุงยังชีพ รวมไปถึงการประสานแหล่งที่จะนำเข้า (บริจาค) ของที่กล่าวมาในข้างต้น ขนส่งไปยังพื้นที่ประสบภัยต่อไป
5. ศูนย์ (บริหาร) แน่นอนว่า War room ก็คือ ห้องแห่งการบริหารจัดการ ทุกช่วงเย็นผู้ใหญ่และผู้มีประสบการณ์ทั้งหลายจะแวะเวียนมาแลกเปลี่ยนความคิดในการกำหนดทิศทางร่วมกันต่อไป อย่างที่บอกแล้วในข้างต้นว่า ชาวบ้านช่วยชาวบ้าน ประชาชนช่วยประชาชน We never walk alone ถัดจากปัญหาเร่งด่วน เราก็ยังมีเป้าจะคล้องแขนกันแลปัญหาระยะยาวต่อไป ฟื้นฟูประเทศไทยไขโครงสร้างที่มันหลวม ขึ้นรูปจากภาคประชาชนเป็นฐานที่จะจัดการเรื่องอื่นต่อๆ ไป
สำหรับผู้ที่ประสงค์จะบริจาค น้ำดื่ม ข้าวสาร วัตถุดิบ ยา อาหารแห้ง สำหรับบรรจุถุงยังชีพ หรือบริจาคเงิน เพื่อซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารเลี้ยงผู้ประสบภัย ที่บัญชี 066-256702-4 ธนาคารไทยพานิชย์ สาขาพระราม 9 หรือติดต่อ ประสานการบริจาคได้ที่08-5915-8530, 08-5915-8573 และ Call Center 0-2101-2900
สสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ www.thaihealth.or.th สอบถาม 0-2298-0500 ต่อ 1222
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
Update : 15-11-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : กิตติภานันทร์ ลีจันทึก