เมื่อคุณเริ่มวิ่ง…ชีวิตใหม่ก็มาแล้ว

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 


เมื่อคุณเริ่มวิ่ง...ชีวิตใหม่ก็มาแล้ว thaihealth


เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ออกมาวิ่งกัน จึงไม่น่าแปลกใจ ทุกครั้งที่มีกิจกรรมในทุกสัปดาห์ ยอดการจองก็จะเต็มแบบถล่มทลายในเวลาอันรวดเร็ว


ยกตัวอย่างเช่นงานวิ่งรายการสำคัญช่วงปลายปีไปจนถึงต้นปีหน้า คือ "Thai Health Day Run 2016" ภายใต้คำขวัญ "วิ่งสู่ชีวิตใหม่" (Run for New Life) ในวันที่ 13 พฤศจิกายน ปี พ.ศ.2559 และจอมบึงมาราธอน 2017 ครั้งที่ 17 วันที่ 15 มกราคมปี พ.ศ.2560 ซึ่งผู้จัดได้ปิดรับสมัครไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และต้องสุ่มคัดเลือกผู้สมัครออกเพื่อให้จำนวนคนตรงตามมาตรฐาน เพื่อให้กิจกรรมวิ่งออกมาสนุก  มีความปลอดภัย และไม่กระทบกับคนทั่วไปที่ใช้รถใช้ถนนอื่นๆ


สำหรับความสำเร็จเบื้องต้น ต้องยกให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่สนับสนุนงานลักษณะนี้มาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการรณรงค์ให้ชาวไทยตื่นตัวกับการออกกำลังกาย และใส่ใจสุขภาวะ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดนักวิ่งหน้าใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน


เมื่อคุณเริ่มวิ่ง...ชีวิตใหม่ก็มาแล้ว thaihealthนายณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้จัดงาน 2 รายการวิ่งนี้  กล่าวว่า สำหรับกระแสงานวิ่งที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนจำนวนมาก ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2555  ตั้งแต่ สสส.เข้ามาสนับสนุน งานวิ่ง ด้วยการนำแนวคิดจากภาพยนตร์เรื่อง "รัก 7 ปี ดี 7 หน" ตอน 42.195  โดยมีคำพูดตอนหนึ่งในเรื่องว่า "ถ้าคุณอยากวิ่ง คุณวิ่งกิโลเดียวก็พอ แต่ถ้าคุณอยากพบชีวิตใหม่ คุณค่อยมาวิ่งมาราธอน" จึงเป็นที่มาของงานวิ่งในโครงการ "วิ่งสู่ชีวิตใหม่" พร้อมด้วยกระแสของโลกโซเชียลมีเดีย  เฟซ บุ๊ก ที่นักวิ่งต่างๆ มาร่วมงาน และเผยแพร่ จึงเป็นส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดสังคมวิ่งเพิ่มขึ้นมากถึงทุกวันนี้


"การวิ่ง เป็นกีฬาที่ง่าย สะดวกที่สุด และเป็นพื้นฐานในการเล่นกีฬาชนิดอื่นๆ ซึ่งขอเพียงมีใจที่พร้อมและร้องเท้าสักคู่ ก็ออกไปทำกิจกรรมได้แล้ว ที่สำคัญไม่ต้องรอคนอื่นๆ อย่างเช่นกีฬาที่เล่นเป็นทีม หรือไม่ต้องใช้เทคนิคอะไรมากมาย คุณก็จะได้สุขภาพทั้งกายและใจที่แข็งแรง และยังสามารถเปลี่ยนชีวิตให้แก่ทุก ๆ คนได้"


อาจารย์ณรงค์กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่เปลี่ยนชีวิตได้นั้น ยกตัวอย่างเช่น คนอ้วนน้ำหนักเกินร้อยกิโลกรัม เมื่อหันมาวิ่งออกกำลังกาย พร้อมควบคุมอาหาร และอารมณ์ ตามหลัก 3 อ. จะช่วยลดน้ำหนักและเปลี่ยนแปลงร่ายกายของผู้นั้นได้ และยังทำให้ไกลห่างจากกลุ่มโรค NCDs (NonCommunicable diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วนลงพุง ซึ่งล้วนแล้วเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่เหมาะสม เช่น กินไม่ดี หวาน มัน เค็ม มากเกินไป และเคลื่อนไหวร่างกายน้อยเกินไป เพราะติดกับการนั่งดูโทรทัศน์ เล่นโทรศัพท์ เป็นต้น อีกทั้งโรค NCDs ยังได้คร่าชีวิตคนบนโลกนี้ไปมากที่สุดด้วย


นอกจากนี้ ความมหัศจรรย์ของการวิ่ง ยังทำให้คนนั้นมีสุขภาพจิตดี เช่น ใครที่เครียดจากงาน หากได้ลองออกไปวิ่ง ก็จะทำให้เรื่องไม่ดีเหล่านั้นหายไปทันที  เพราะสารแห่งความสุข หรือ "เอนดอร์ฟีน" จะหลั่งออกมาแสดงอภินิหารให้เราสมองปลอดโปร่งโล่งสบาย และยังทำให้คนนั้นหลับสนิทอีกด้วย ดังนั้น จึงอยาก ขอให้คนไทยออกมาวิ่งกันเป็นประจำเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเอง และจะรู้ว่าการวิ่งนั้นเปลี่ยนได้อย่างไร


ด้านอาจารย์สถาวร จันทร์ผ่องศรี หรือครูดิน กรรมการสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย กล่าวถึงการเตรีเมื่อคุณเริ่มวิ่ง...ชีวิตใหม่ก็มาแล้ว thaihealthยมตัวของนักวิ่งหน้าใหม่ว่า เริ่มต้นต้องฝึกซ้อมจากเดินเร็วๆ ให้พอรู้สึกเหนื่อยก็หยุด จากนั้นเมื่อฝึกซ้อมได้ระยะหนึ่ง จนสามารถใช้เวลาเดินเร็วได้ต่อเนื่องมากขึ้น ก็ให้สลับกับการวิ่งเหยาะๆ แต่ช้าๆ เมื่อทำได้สักพักให้เริ่มลดการเดินลง และวิ่งแทน จนระยะหนึ่งก็จะสามารถวิ่งได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ อาจกำหนดเวลาเป้าหมาย 20 หรือ 30 นาที ซึ่งการฝึกซ้อมนั้นให้เริ่มจากวันละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง


ที่ขาดไม่ได้ คือ ก่อนและหลังการวิ่งทุกครั้ง ต้องมีการอบอุ่นร่างกาย เพื่อให้ร่างกายได้เตรียมพร้อม และลดการบาดเจ็บจากภาวะกล้ามเนื้อทำงานหนัก เริ่มจากการเพิ่มอุณหภูมิให้กับร่างกาย โดยเดินสลับการวิ่งเหยาะๆ เล็กน้อย เพื่อให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อต่างๆ มีความคล่องตัว ยืดหยุ่น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน จากนั้นเมื่อรู้สึกร่างกายเริ่มร้อนขึ้น และเริ่มกระฉับกระเฉง ก็มาเล่นกายบริหาร ไล่ตั้งแต่ศีรษะ คอ บ่า ไหล่ เอว ขา และข้อเท้า ท่าง่ายๆ เช่น หมุนแขน หมุนไหล่ หมุนเอว บริหารข้อเข่า ข้อเท้า ยืดเหยียดลำตัว แขนขาอย่างช้าๆ เพื่อช่วยลดกรดแลคติก โดยกรดชนิดนี้จะยับยั้งการหดตัวกลับของกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอาการปวดเมื่อย


ครูดินย้ำว่า คนที่ไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมวิ่ง ต้องหมั่นฝึกซ้อม และต้องดูศักยภาพตัวเองว่าวิ่งได้ในระยะทางเท่าใด เริ่มแรกอาจร่วมแข่งระยะทางสั้นๆ ซึ่งการจะพิจารณาเป้าหมายระยะทางการวิ่ง อยู่ที่การฝึกซ้อม เช่น จะวิ่งให้ได้ระยะ 10 กิโลเมตร ก็ต้องฝึกซ้อมมาแล้ว 7-8 กิโลเมตร ขณะที่การวิ่งระยะทางไกล จะไม่เน้นวิ่งเร็ว แต่จะวิ่งช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป และค่อยเพิ่มความเร็ว ที่สำคัญห้ามหยุดกะทันหัน ต้องค่อยๆ ช้าลง เพื่อให้อัตราการเต้นของหัวใจลดลงอย่างเป็นจังหวะ ให้ดื่มน้ำก่อนการวิ่ง 30 นาที เพียง 1 แก้วเท่านั้น


คนที่จะร่วมวิ่งครั้งแรก อาจเริ่มจากระยะฟันรัน หรือ 3 กิโลเมตร หรือ 5 กิโลเมตรก่อน เพื่อวัดขีดความสามารถของตัวเองว่าอยู่ในระยะทางเท่าใด ส่วนการฝึกซ้อมนั้น สัปดาห์แรกอาจวิ่งได้ 3 กิโลเมตร สัปดาห์ต่อไปค่อยเพิ่มระยะทางไม่เกินร้อยละ 3 จากทุนเดิม หรืออย่างน้อย 300 เมตร แต่ในความเป็นจริงจะเพิ่มระยะได้ถึง 1 กิโลเมตร แต่ที่น่ากังวลคือ หลายคนเมื่อร่วมแข่งวิ่งแล้วติดใจ ก็ไปร่วมวิ่งในรายการอื่นๆ โดยไม่พัก ต้องเตือนว่าอย่าหักโหม เพราะเราควรมีเวลาให้ร่างกายได้พักฟื้น ปรับสภาวะร่างกายให้มีความสมบูรณ์สูงสุด ซึ่งระยะเวลาในการปรับร่างกายอยู่ที่ประมาณ 7-10 วัน หากร่างกายไม่ได้พักบ่อยๆ นานๆ ครั้ง จะเกิดความบอบช้ำ และกระทบต่อระบบต่างๆ ทั้งระบบหัวใจ กล้ามเนื้อ ไขข้อ


ครูดินยังกล่าวว่า ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา การวิ่งเพื่อสุขภาพได้ต้อนรับนักวิ่งหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรู้ในเรื่องของการรักสุขภาพได้กระจายเป็นวงกว้างเข้าสู่สังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิ่งหน้าใหม่ในวัยทำงาน วัยผู้ใหญ่ ที่พบเห็นในงานวิ่งแต่ละสัปดาห์อย่างล้นหลาม


แต่ก็ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่เฝ้ามองอย่างสนใจ แล้วย้อนกลับมาดูสุขภาพของตัวเอง ด้วยความกังวลใจที่นับวันจะทรุดเมื่อคุณเริ่มวิ่ง...ชีวิตใหม่ก็มาแล้ว thaihealthโทรม และเริ่มเป็นภาระให้กับตัวเองและครอบครัว แม้ใจอยากจะเริ่มออกกำลังกาย อยากจะวิ่งให้ได้เหมือนคนอื่นๆ แต่กลัวเหนื่อย อายที่จะออกมาวิ่ง ไม่กล้าที่จะเริ่มต้น ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไงดี ไม่มีใครแนะนำ ไม่มีกลุ่ม ไม่มีเพื่อนวิ่ง หรือยังคงมีความเชื่อที่มีภาพลบของการวิ่ง เช่น เข่าเสื่อม น่องโต อกเล็ก หัวใจวาย ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง


"ดังนั้นอยากให้ทุกคนขจัดความเชื่อเหล่านั้น และมาเริ่มต้นวิ่ง มั่นใจได้ว่าไม่กี่สัปดาห์ก็พบความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแก่ร่างกายและจิตใจ รวมทั้งกลุ่มเพื่อนก็จะตามมา ขอเพียงคุณกล้าพอ วิถีชีวิตคุณก็ดีขึ้น และสามารถเปลี่ยนชีวิตได้ และหากคุณทำได้สำเร็จเรื่องอื่นๆ ในชีวิตก็จะทำได้หมด" ครูดินกล่าว


รับทราบวิธีและประโยชน์ของการวิ่งกันแล้ว หากใครที่ยังอยู่ระหว่างไต่ตรอง วิเคราะห์ แยกแยะข้อดีข้อเสีย ให้หยุดคิด ถึงสิ่งเหล่านั้น และเปิดใจก้าวเท้าออกมาวิ่งสักครั้ง ก็จะรู้ว่าชีวิตใหม่นั้นเป็นอย่างไร


 

Shares:
QR Code :
QR Code