เมือง 3 ดีวิถีสุข ทุกคนร่วมสร้างได้
เปิดเมือง 3 ดีวิถีสุข ทุกคนร่วมสร้างได้ ในงานครอบรอบ 12 ปี การดำเนินการงานของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
เมือง 3 ดีวิถีสุข เรื่องราวของการสร้างสุขภาวะที่ดี 4 ด้าน โดยใช้ 3 ดี นั่นก็คือสื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี ในการสร้างเมือง 3 ดี โดยมี 3 แผนงานนั่นคือ แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน,แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน,และแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้สำนัก 5 สำนักรณรงค์สื่อสาร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ในเวทีสนทนาวิสาสะ เมือง 3 ดีวิถีสุขทุกคนร่วมสร้างได้ รศ.ดร.วิลาสินีอดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงเมือง 3 ดีว่าเมือง 3 ดีที่ภาคีเครือข่ายสื่อ พยายามจะบอกสังคมไทยว่าถ้าร่วมกันทำ 3 ดี ให้ดีนั่นก็คือสื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี เรื่องดีอื่นๆ ก็จะตามมาหมด “สื่อดีนั้นทุกคนร่วมทำ สื่อดี สื่อสร้างสรรค์ สื่อสร้างปัญญาได้ ตัวเราเองก็เป็นสื่อได้ แค่เพียงเราสื่อสารเรื่องราวดีๆ ออกไปให้ทุกคนได้รับรู้ รอยยิ้มก็ถือเป็นสื่อที่ดีแล้ว ดีที่สองก็คือพื้นที่ดีซึ่งเครือข่ายพยายามทำทั่วประเทศ ทั้งเพชรบุรี อุตรดิตถ์ พัทลุง ย่านเมืองเก่าของกรุงเทพ
ซึ่งเป็นพื้นที่ให้คนในชุมชนได้มีพื้นที่ออกมาพบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนความคิดทำกิจกรรมร่วมกัน ให้เด็ก เยาวชนและครอบครัว มีส่วนในการร่วมคิดร่วมทำร่วมสร้างพื้นที่ดี ในบ้านเราหากมีการเติมเต็มโอกาสที่ทุกคนจะเข้ามาช่วยกันได้ พื้นที่ดีๆ ในบ้านเราก็ไม่น้อยไปกว่าในต่างประเทศอย่างสิงคโปร์ หรือ มาเลฯ เลยทีเดียว ซึ่งหากทั้ง 2 ดีเกิดขึ้นแล้วมีสื่อแวดล้อมรอบตัวที่ดี มีพื้นที่ดี ที่ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออารี ก็เชื่อแน่ว่าทุกคนในประเทศไทยก็จะมีภูมิที่ดี ที่ไม่ใช่แค่ภูมิคุ้มกันทางสังคมเท่านั้น แต่หมายรวมถึงภูมิปัญญาด้วย ทำให้เราเห็นคุณค่าของตัวเรา คุณค่าของชุมชนที่เราอยู่ สิ่งสำคัญก็คือเราต้องมองและใช้คนเป็นตัวตั้ง และที่สำคัญพอๆกับคนเป็นตั้งก็คือทำปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อกับการมีชีวิตอยู่อย่างมีสุขภาวะที่ดีด้วย” รศ.ดร.วิลาสินีอดุลยานนท์ กล่าว
นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน ได้ขยายภาพการจะมีเมือง 3 ดีได้นั้น ดีในเรื่องของสื่อดีก็มีความสำคัญเพราะสื่อนั้นอยู่ในวิถีชีวิตของเราตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน การมีสื่อที่ดีมากกว่าสื่อที่ไม่ดีจึงมีความสำคัญอย่างมาก
“เช้ามาใครหลายๆคนก็เฟสบุ๊กตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาแล้ว นี่ทำให้เห็นว่าสื่ออยู่ในมือเราตลอดเวลา แทบจะทุกลมหายใจ สื่อไม่ได้มีความหมายแค่สื่อหลัก โทรทัศน์ วิทยุ เท่านั้น คนเราก็เป็นสื่อเช่นกันนั่นคือเราทำการสื่อสาร เราสามารถใช้สื่อนี่ละมาสร้างชุมชนของเราได้ เพราะในชุมชนเรามีสื่อทุกรูปแบบ มีทุกหนทุกแห่ง เราก็น่าจะใช้สื่อนี่ละมาสร้างความเปลี่ยนแปลงได้”นางสาวเข็มพร กล่าว
พร้อมทั้งกล่าวเสริมถึงการมีภูมิดีว่ามาพร้อมกับการเปิดพื้นที่ดี ซึ่งพื้นที่ไม่จำเป็นต้องใหญ่โต หรือสวนสาธารณะ “การเปิดพื้นที่ดีแค่ใต้ต้นมะขาม ใต้ทุนบ้าน เพียงเราให้ทุกคนช่วยกันคิด ช่วยกันออกแบบสร้างสื่อดีๆ ขึ้นมา ทั้งสื่อพื้นบ้าน กิจกรรมทำขนม แล้วเชิญชวนให้คนมาร่วมด้วยช่วยกันทำ ซึ่งการร่วมทำกิจกรรมต่างๆเหล่านี้นี่เองจะทำให้เกิดความเท่าทันและพัฒนาศักยภาพตัวเอง ชุมชน ทำให้เรารู้จักตัวเอง ซึ่งก็จะทำให้เราเท่าทันสื่อด้วย อย่างผู้หญิงไทยทรงดำ ไม่ต้องขาว ผอมเหมือนในโฆษณา ก็สามารถมีลูกที่แข็งแรง เป็นแม่ที่ดีและเลี้ยงลูกให้โตได้ โดยไม่ต้องไปขาว ไปผอมเหมือนในโฆษณา
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นคุณค่าของตัวเราเอง ไม่หลงไปตามสื่อการร่วมสร้างภูมิดีอีกแบบที่พ่อ แม่ ก็ร่วมกันสร้างได้ง่ายๆ ก็คือการดูทีวีกับลูก พูดคุยกับลูก นี่ก็เป็นส่วนสำคัญแล้ว ช่วยให้เด็กๆ คิดก่อน เรียกว่า เอ๊ะก่อนอ๋อ สร้างประเด็นให้คิด ดูด้วยกัน แลกเปลี่ยนกัน” ผู้จัดการ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชนกล่าวพร้อมย้ำว่าเราสามารถใช้เมือง 3 ดีเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งได้ เราสามารถสร้างชุมชนของเราได้จากจุดเล็กๆ ด้วยจินตนาการที่ยิ่งใหญ่ การเปลี่ยนแปลงไปสู่เมือง 3 ดีก็จะเกิดขึ้น นักปราชญ์หลายๆ บอกไว้ว่าการที่จะสร้างการเปลี่ยนระดับโลกได้เราไม่ต้องใช้คนเยอะ เราเริ่มเพียง 1 หรือ 2 คน ก็เปลี่ยนแปลงโลกได้ เพราะสามารถสร้างแรงบันดาลได้ใจ และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด การสร้างเมือง 3 ดีก็ไม่ต่างกัน ทุกคนร่วมกันสร้างได้
ป้าถนอม คงยิ้มละมัย หรือป้าหนอม หัวหน้าและผู้ประสานงานกลุ่มพิพิธภัณฑ์ปานถนอม อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ได้ฉายให้เห็นความสำเร็จในการเปิดพื้นดี ให้เห็นในชุมชนไทยทรงดำ ซึ่งป้าหนอมได้ใช้ใต้ถุนบ้านของตัวเองเป็นพื้นที่ดี ให้คนในชุมชนเข้ามาศึกษา และเห็นคุณค่าภูมิใจในความเป็นไทยทรงดำ “แรกๆ ก็ต้องจ้างเด็กๆ ให้เข้ามาดู เข้ามาเรียนรู้ เราจ้างคนละ 30 บาท ให้เด็กมากินก๋วยเตี๋ยวเรียนรู้ ซึ่งในสมัยพุทธกาล เศรษฐีจ้างลูกให้ไปฟังเทศน์ เราก็เลยจ้างเด็กๆ ให้มาเรียนบ้างสิ ให้มาเห็น มาดู มาเรียนรู้ พอเด็กดูมาเห็นได้เรียนรู้ เห็นคุณค่า อย่างตอนนี้มีคนเชิญให้ไปต่างประเทศแล้วนะ การแสดงไหนที่ไม่ที่แสดงมาแสดงที่นี่ เราจัดให้ พอมีคนดู มีงบประมาณจาก สสส.ช่วย ก็ไปได้ดีแล้ว เกิดเยาวชนรุ่นใหม่ๆ มาสืบทอด” นางถนอมกล่าว
อีกตัวอย่างการเปิดพื้นที่ดีในย่านชุมชนเมืองเก่าก็คือ ย่านเมืองเก่า สามแพร่ง (แพร่งสรรพสาตร แพร่งนรา แพร่งภูธร) โดยนายสืบสาย พูลมี กลุ่มรักยิ้ม ได้ฉายภาพให้เห็นข้อเด่นของพื้นที่ก็คือทั้งสถาปัตยกรรมโบราณ มีร้านอาหารอร่อย มีลานกลางแจ้ง
“งานแรกเรารวมพื้นที่ดีจังทั่วประเทศมาไว้ที่นี่ เราก็ได้เห็นชาวบ้านในชุมชนออกมามีส่วนร่วมกับเรา ได้ออกมาขายของ ได้ออกมาเล่น ทำกิจกรรมกับเรา ซึ่งทำให้เขาเห็นว่าพื้นที่หน้าบ้านของเขาซึ่งไว้จอดรถนี่ละสามารถเอามาทำพื้นที่ดีๆ แบบนี้ได้ ครั้งต่อมาเราก็เลยจัดนำเสนอเรื่องราวในย่านเมืองเก่า 5 ย่าน 3 ชุมชน 4 โรงเรียน มาช่วยกัน นำเสนอเรื่องราวของตัวเองทั้งศิลปะ วิถีชีวิต การต่อสู้แต่ละพื้นที่ ให้คนในชุมชนได้เล่าเรื่องราวของตัวเอง พอมีการรวมตัวกันแล้วสื่อสารเรื่องราวออกไป มันมีพลังมากขึ้น ทำให้ทุกคนรวมตัวกัน อยากที่จะทำและช่วยกันทำพื้นที่ดีๆเป็นของตัวเอง รักบ้านตัวเอง ภูมิใจในชุมชมและตัวเอง อย่างเด็กบางคนติดเกม พอเริ่มเปิดพื้นที่ มีกิจกรรมให้ทำ เขาก็ออกมาจากเกม มาร่วมทำกิจกรรมกับครอบครัว กับชุมชน” นายสืบสาย กล่าว
นอกจากเวทีเสวนาแล้วก็ยังมีการนำสื่อดีๆ มาร่วมแสดงในงานทั้งหนังตะลุงจากภาคอีสาน ตัวอย่างสื่อดี ทั้งหนังสือการ์ตูน หนังสือนิทาน ตัวอย่างพื้นที่ดีในย่านเมืองเก่า หลักในการทำพื้นที่ดี เคล็ดลับในการเท่าทันสื่อเพื่อการสร้างภูมิดี รวมถึงการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ร่วมกันคิดและเสนอแนวทางในการสร้างเมือง 3 ดีวิถีสุข ให้เกิดขึ้นในแบบของตัวเอง พร้อมทั้งรวมรวบเป็นข้อเสนอและประกาศเจตนารมณ์ในการสร้างเมือง 3 ดี เสนอต่อภาครัฐให้ผลักดันให้การสร้างเมือง 3 ดี วิถีสุขเป็นส่วนหนึ่งของวาระแห่งชาติต่อไป
ที่มา : แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.)