เมือง “ปริก” สร้างพลเมืองกระตือรือร้น
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพโดย สสส.
มารู้จัก "ปริก" ตำบลพลเมืองสุดแอคทีฟจนได้รับการกล่าวถึงในฐานะของ "สังคมปริก สังคมแห่งความสุขและความพอเพียง"
แต่กว่าปริกจะสร้างสุขได้เช่นปัจจุบันนี้ เส้นทางก็มิได้เรียบง่ายเหมือนโรยกลีบกุหลาบ ทว่าเคล็ดลับสร้างสุขของชาวปริกนั้นเกิดจากการสร้างกลไกสำคัญคือต้องใช้คนปริกเป็นศูนย์กลางในการพัฒนานั่นเอง
ปริกวันวาน
หลังจากเทศบาลปริกได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลในปี 2542 กลับกลายเป็นช่วงที่ ปริก "อัตคัด" ทุก ๆ ประการ ไม่ว่ากำลังพลทรัพยากรหรืองบประมาณ จนแทบไม่สามารถขยับตัวพัฒนาอะไรได้
"เรามีงบประมาณแค่ 8 ล้านบาท ตอนนั้นคิดแต่ว่าจะทำอะไรก็ยากมาก" สุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริกหลายสมัยซ้อน เปิดประเด็นเท้าความให้ฟังถึงเส้นทาง "กว่าจะเป็น มหาวิชชาลัยปริกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" หรือ Prik University of Wisdom and Technology for Sustainable Development : Prik USD ที่พวกเขาต้องใช้เวลานับสิบปีกว่ามาถึงวันนี้
ผลพวงจากข้อจำกัดดังกล่าวทำให้การทำงานระยะแรกของเทศบาลมองเห็นแต่อุปสรรค ทว่าหลังจากลองเปลี่ยนมุมคิด หันมาวิเคราะห์ถึงแก่นปัญหาแท้จริง นายกฯ ปริก จึงเริ่มตกผลึกว่า แท้จริงแล้ว "อุปสรรค" ที่ว่าหาใช่ปัญหาเรื่องเงิน กำลังคน หรือทรัพยากรใด ๆ แต่มันคือ "กรอบคิด" ที่กลายเป็นกับดักการพัฒนาคนในชุมชนต่างหาก ดังนั้นก่อนที่จะเปลี่ยนปริก ก็จำต้องเปลี่ยนวิธีคิดของ "คนปริก" ให้ได้เสียก่อน
นายกฯ สุริยา จึงเริ่มกระบวนการปรับชุดความคิดคนในชุมชนใหม่ ด้วยการสอดแทรกใส่ในทุกกิจกรรมที่อยู่ในกระบวนการส่งเสริมพัฒนาคนสู่ความเป็นพลเมือง
"ต้องถือเป็นยุคเปลี่ยนผ่านเลยเวลานั้น เป็นยุคการต่อสู้ระหว่างความคิดใหม่กับความคิดเก่า จากความเชื่อที่ว่า "รัฐ" มีหน้าที่ต้องทำให้ชุมชน เราพยายามปรับเปลี่ยนให้ชุมชนและรัฐทำงานร่วมกัน เวลาเดียวกันนั้นเราจึงนำหลักคิดจากศาสตร์ของพระราชาเรื่องการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนามาใช้ รวมถึงเรื่องระเบิดจากข้างใน โดยมีไตรพลังในชุมชน คือบุคลากรที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เพื่อนร่วมทีม และคนของแผ่นดิน ไตรพลังดังกล่าวกลายเป็นสามเสาหลัก ที่นำมาสู่กระบวนการทำงานร่วมกันบนพื้นฐานการให้หรือถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกันมาจนทุกวันนี้"
บทเรียนแรก วิชาขยะ
ในยุคการพัฒนาระลอกที่สองของ นายกฯ สุริยา ได้หยิบยกเรื่อง "ขยะ" มาเป็นโจทย์ให้คนปริกช่วยขับเคลื่อน เขายอมรับว่า ช่วงแรกก็มีอุปสรรคปัญหาเพราะคนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมายุ่งกับเรื่องขยะ
เขาเอ่ยติดตลกเล็ก ๆ ว่า มุ่งทำเรื่องขยะจนโดนชาวบ้านสบประมาทว่า "นายกฯ กับทีมงานชุดนี้ทำอะไรไม่เป็น ดีแต่ชวนชาวบ้านเก็บขยะ"
แต่สุดท้ายเรื่องขยะ ๆ นี่แหละได้กลายเป็นก้าวสำคัญของการสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน เมื่อปล่อยให้ระยะเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แนวคิดเรื่อง "การจัดการขยะฐานศูนย์ ตั้งแต่ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง" ที่เริ่มจากการ "ลงมือทำ" โดยผู้บริหารเทศบาลปริกเองกลายเป็นแบบอย่างให้ประชาชนในพื้นที่เดินตามจนทุกวันนี้ เทศบาลปริกสามารถลดจำนวนขยะจากที่มีถึงวันละ 8 ตัน เหลือเพียง 4 ตัน เท่านั้น
ผุสดี หมัดอาดำ รักษาการผู้อำนวยการ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลปริก เล่าเรื่องนี้ว่า แนวทางการจัดการขยะของปริก มีรากมาจากการนำหลักยุทธศาสตร์เทศบาลคาร์บอนต่ำมาใช้
"เมื่อก่อนคนชอบพูดว่ามีมุสลิมที่ไหนมีขยะที่นั่น เราได้ยินคำพูดนี้มันทิ่มแทงใจคนบริหารอย่างเรามาก จึงมาคุยกันเรื่องขยะกัน โชคดีเราได้หน่วยวิชาการอย่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เข้ามาเป็นภาคีให้ความรู้แก่ประชาชน เขาก็เริ่มเข้าใจและจัดการตนเอง"
ทุกวันนี้ชาวปริกเริ่มจากการจัดการขยะได้ตั้งแต่ต้นทาง คือในครัวเรือนตัวเอง ด้วยการคัดแยกขยะทุกชนิด ซึ่งเดิมขยะส่วนใหญ่ในชุมชนคือเศษอาหาร เศษผัก ชาวบ้านจะนำบางส่วนไปแปลงเป็นมูลค่า ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในรูปแบบต่าง ๆ เช่น น้ำหมัก แก๊สชีวภาพ เป็นต้น เมื่อคัดแยกขยะแล้วก็นำขยะที่กำจัดเองไม่ได้ไปสู่กิจกรรมธนาคารขยะ โดย "มัสยิด" หลายแห่ง ของชุมชน อาทิ มัสยิดดาหรนอาหมัน ชุมชนร้านใน คือศูนย์จัดการขยะกลางทาง โดยเป็นพื้นที่กลางที่คนทั้งชุมชนนำมาแยกและจัดการขยะรีไซเคิล ชุมชนมีการนำหลักศาสนามาใช้เป็นกลไกในการสร้างความร่วมมือที่ได้ผลดี ผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า "กองขยะมีบุญ" ส่วนปลายทางของขยะที่ปริกจะมีศูนย์จัดการขยะของเทศบาลรองรับ
"คนในชุมชนเมื่อก่อนร้องขอถัง แต่พอเรามาร่วมกันคิดกับชุมชนว่าเรามาเป็นถนนปลอดถังกันเถอะ เริ่มจากหาถนนต้นแบบ โดยให้ชุมชนช่วยเราดูแล ปัจจุบันถนนในชุมชนส่วนใหญ่ปลอดถังเกือบ 80%
"นอกจากขยะแล้ว ด้านสิ่งแวดล้อม เรามีพลังงานทางเลือก เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เราตั้งเป้าจะมีศูนย์เรียนรู้พลังงาน 5 แหล่ง เกิดนวัตกรรมในพื้นที่โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตน้ำประปา แม้จะไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่ก็ลดต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายลงมาก ถึงเดือนละ 3-4 หมื่นบาท"
จาก Head สู่ Heart โดย Hand
จากวิชาเรียนรู้เรื่องขยะ ยังขยายผลสู่ การพัฒนาในด้านอื่น ๆ ไปพร้อม ๆ กับที่คนในชุมชนเองก็เริ่มเข้าใจบทบาทของตน
"เราเรียกว่ายุคปัญญาเบ่งบาน ที่ชาวบ้านต้องเข้ามามีส่วนร่วมในทุกงาน เราให้เขามีส่วนร่วมทั้งเรื่องจัดการสิ่งแวดล้อม ชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มส่งเสริมอาชีพ ฯลฯ" นายกฯ สุริยา เอ่ย
เมื่อปริกมุ่งสร้างคนให้เป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้น (Active Citizens) ด้วยการจัดกระบวนการเรียนรู้ในทุกกลุ่มคน มีระบบการบริหารจัดการตำบลที่มีการสร้างผู้นำ การวางแผนที่ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหา และจัดระบบการทำงานในลักษณะพหุภาคี ทำให้เกิดความเข้มแข็งของประชาชนและสังคม
"หลังจากนั้น ยุคต่อมาเราได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนัก 3 กลายเป็นยุคพลังพลเมืองที่มีเครือข่ายจากพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ รวมภาคต่าง ๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีกิจกรรมในปริกเป็นตัวตั้ง" สุริยากล่าว
ปัจจุบันปริกมี 7 สังคม เกิดขึ้นในชุมชนที่ขับเคลื่อนด้วยทุนหลัก 43 ทุน และทุนหนุนเสริม 100 กว่าทุน ซึ่งทุนต่าง ๆ ฃที่กระจัดกระจายอยู่เหล่านี้ล้วนเกิดจากการบ่มเพาะเรียนรู้มาไม่น้อยกว่าสิบปี
"เชื่อแล้วหรือยังว่าเราไม่ได้มาง่าย ๆ กว่าจะได้เป็นมหาวิชชาลัยปริกแห่งความยั่งยืน"
ปริก Next Gen
ความเป็นพลเมืองของปริกไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ แต่ยังส่งต่อสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก โรงเรียนที่จะสร้างความเป็นพลเมือง หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ผลิตปริกรุ่นใหม่ให้เป็นพลเมืองโลกและมีทั้งภาวะผู้นำผ่านการจัดการเรียนการสอน ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม
ความแตกต่างคือนอกจากการเรียนตามหลักสูตร เด็กต้องได้รับการเรียนอีก 4 กลุ่มวิชา เพื่อการเป็นพลเมืองโลก ได้แก่ วิถีชุมชน สิ่งแวดล้อมศึกษา พลังงานและภัยพิบัติ เศรษฐกิจพอเพียง 4 หลักสูตร ที่จะเสริมสร้างความเป็นคนดี
"ที่นี่กระบวนการจัดการเรียนการสอนเน้นพื้นฐานปฏิบัติเป็นหลัก (Active Learning) มากกว่า เพราะเด็กเรียนเขาเองก็เบื่อ นอกจากนี้มีโครงการกิจกรรมหนุนเสริมความเป็นพลเมืองดี เราปล่อยให้เขาค้นหาเองจากโจทย์ที่เขาได้รับเขาต้องคิด วางแผน และค้นหา เรายังจัดเวทีให้เขาได้เสนอสิ่งที่เขาทำมา" อุษณีย์ เหล็มหมัน ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลตำบลปริก อธิบาย
แม้ไทยพุทธจะเป็นส่วนน้อย แต่โรงเรียนก็พยายามที่จะไม่ให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นส่วนน้อย เช่น มีการสอนทั้งวิชาอิสลามศึกษาและพุทธศาสนาควบคู่เพื่อให้ทุกคนเรียนรู้หลักธรรมและหลักปฏิบัติของศาสนาตนเอง
"หลักสูตรเราจะเกิดจากความต้องการของชุมชนที่มาคิดร่วมกันว่าอยากให้ลูกหลานเขาเป็นอย่างไร เดินไปในทิศทางไหน ที่นี่มีชุมชนอิสลามและไทยพุทธ เรามีนักเรียนทั้งในเทศบาลและใกล้เคียง เป้าหมายของเราคือการสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีความรู้มีคุณธรรมจริยธรรม เพราะเราเชื่อว่าเด็กต้องเป็นคนดีก่อนเก่งและเขาต้องมีความสุข" อุษณีย์ กล่าว
สุขแบบปริก
ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันแผนสุขภาวะชุมชนสนับสนุนให้มีมหาวิชชาลัยจำนวน 4 แห่ง จากจุดเริ่มต้นของการบูรณาการการดูแลสุขภาพชุมชนโดยชุมชน "มหาวิชชาลัยปริกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" เป็นมหาวิชชาลัย แห่งแรกในภาคใต้อย่างเป็นทางการ ซึ่งปัจจัยความสำเร็จนอกจากชุมชนจะมีทุนศักยภาพของพื้นที่แล้วยังมีสุดยอดองค์กรความรู้ สุดยอดผู้นำ ที่มีการลงมือปฏิบัติจริงจนเห็นผลสำเร็จ โดยเฉพาะการจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการน้ำพลังงาน ที่นี่มีความโดดเด่นมาก เรื่องต่อมาคือ การแก้ปัญหาความยากจน และเรื่องสุขภาพ
"ปริกเป็นชุมชนที่พยายามทำทุกอย่างให้ชุมชนเรียนรู้การดูแลตนเองโดยไม่เป็นภาระของใคร จะสังเกตว่าวิสัยทัศน์ ผู้นำปรับเปลี่ยนตลอดเป็นช่วง ๆ ยุค ๆ ซึ่งการที่เขาเปลี่ยนวิสัยทัศน์เหล่านี้มันคือข้อเรียกร้องที่ช่วยให้ชุมชนลุกขึ้นมา จัดการดูแลตนเอง อีกจุดเด่นของชุมชนการมีความศรัทธาในหลักศาสนาความดีมาเป็นจุดประกายเป็นการพัฒนาคนและพื้นที่" ดวงพร กล่าว