เมืองอุบลใช้สื่อเป็นเครื่องมือก้าวสู่ “เมืองเกษตรอินทรีย์”
ภาพงาน “เทศกาลกินสบายใจ ห่างไกลโรค” ปี 2555
กลุ่มเกษตรอินทรีย์ จ.อุบลฯ ร่วมประชุมวางแผนโครงการสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงความมั่นคงทางอาหาร จ.อุบลฯ (กินสบายใจ) ปีที่ 2 เพื่อรณรงค์ให้คนหันมาผลิตและรับประทานอาหารปลอดสารพิษมากยิ่งขึ้น
สื่อสร้างสุขจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสุขภาพ (สสส.) จับมือกับสำนักงานสาธารณสุข จ.อุบลราชธานี (สสจ.) และภาคีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์เมืองอุบลฯ จัดประชุมวางแผนโครงการสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงความมั่นคงทางอาหารจ.อุบลฯ (กินสบายใจ) ปีที่ 2 เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี
นางสาวกาญจนา มหาพล หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สสจ.อุบลฯ กล่าวว่าหากอยากให้เทศกาลกินสบายใจปีที่ 2 ประสบความสำเร็จกว่าเดิม ควรทำยุทธศาสตร์การทำงานให้ชัด ทำได้จริง เพราะเรื่องอาหารปลอดภัยเกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน
ด้านนายพิทยา อ่อนแสง โครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน ชี้แจงคำว่าตลาดสดสีเขียวกับตลาดสดนั้น มีความต่างกันมาก ตลาดสดสีเขียวเป็นตลาดเชิงรณรงค์สินค้าปลอดสารในพื้นที่กว่าตลาดสดธรรมดา ชี้หากผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารที่หลากหลายก็เท่ากับการปกป้องทรัพยากรอาหารร่วมกัน เน้นย้ำอยากให้มีตลาดเกษตรอินทรีย์ที่มีความหลากหลายทางผลผลิต พืชผัก ที่ปลอดสาร และทุกภาคีเครือข่ายนำมาจำหน่ายร่วมกัน
ขณะเดียวกัน นายปิยะทัศน์ ทัศนิยม เกษตรอินทรีย์ จ.อุบลฯ เปิดประเด็นคำถามว่าควรทำอย่างไรให้คนภายนอก และคนอุบลฯ รู้จักเทศกาลกินสบายใจมากขึ้น และหันมาใส่ใจการบริโภคอาหารที่ปลอดสารมากขึ้น ชี้ไส้เดือนเป็นปุ๋ยธรรมชาติที่ดีที่สุด เพราะไส้เดือนขยายพันธุ์เอง มีนิสัยกินเก่ง ขับถ่ายเก่ง และสืบพันธ์เก่ง
นอกจากนั้นภาคีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ จ.อุบลฯ ยังเสนอให้ร่วมมือกับเทศบาลนครอุบลราชธานีเปิดตลาดปลอดสารพิษควบคู่ไปกับงานถนนคนเดิน ที่ทุ่งศรีเมืองอุบลฯ ซึ่งจะมีทุกวันศุกร์-เสาร์ ผู้คนมาเดินเป็นจำนวนมาก คาดว่าการจำหน่ายพืชผักปลอดสารพิษจะขายดีแน่นอน
ทางด้าน น.ส.ซึ้งบุญ บูรณะกิติ ราชธานีอโศก กล่าวว่าอยากเห็นตลาดที่มีการจำหน่ายผลผลิตที่ปลอดสารพิษและราคาถูก ถือว่าเป็นการให้บุญกับผู้บริโภค และใช้เวทีนี้เป็นการรวมตัวเกษตรอินทรีย์ทั่วทั้ง จ.อุบลฯ เพื่อสร้างเครือข่ายและการทำงานร่วมกัน
ช่วงท้ายของการประชุมในวันนี้ ได้ข้อสรุปว่ามีการผลิตรายการโทรทัศน์ชื่อว่ากินสบายใจต่อจากปีแรก โดยจะเป็นเวทีการพบปะของผู้บริโภคกับผู้ผลิตและจูงใจให้เกษตรกรหันมาผลิตไร้สารมากขึ้น มีเกษตรกรอินทรีย์ให้ความสนใจเสนอชื่อเพื่อลงบันทึกเทปรายการกว่า 14 พื้นที่ โดยจะคัดเลือกให้เหลือ10 พื้นที่ เพื่อลงพื้นที่ถ่ายทำ, การร่วมกับมูลนิธิประชาสังคมอุบลฯและเครือข่ายในการจัดทำยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์จังหวัดอุบลฯ, ตั้งคณะทำงานข้อมูลรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจวิจัยของเครือข่ายต่าง ๆ ร่วมกับโครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืนในการผลักดันให้เกิดตลาดสีเขียว ศูนย์กลางผลิตภัณฑ์อินทรีย์ , ร่วมรรรงค์ผ่านสื่อกับภาคีเครือข่ายในประเด็นต่าง ๆ, เปิดเวทีให้ชาวไร่ชาวนามาร่วมผลิตรายการโทรทัศน์
การจัดประชุมครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการวางแผนการทำงานร่วมกันกับภาคีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จ.อุบลฯ เพื่อใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการรณรงค์ให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคข้าว,พืชผักปลอดสารพิษ และแก้ปัญหาการใช้สารเคมีของเกษตรกรร่วมกัน ของหน่วยงานทุกภาคส่วน ตอบสนองให้การทำเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรมีความยั่งยืนต่อไป
สำหรับรายการกินสบายใจ สามารถชมเทปรายการย้อนหลังได้ที่สร้างสุขแชนแนล ซึ่งออกอากาศทางวีเคเบิลทีวี sangsook.net app: สื่อสร้างสุข โสภณเคเบิลทีวี ราชธานีเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม nextstep ช่องของดีประเทศไทย
ที่มา : สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี