“เมืองสิชล” จัดประเพณีชักพระไร้แอลกอฮอล์ ต้นแบบงานบุญปลอดเหล้าภาคใต้
“ประเพณีชักพระ” เป็นงานบุญที่ชาวใต้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยทุกจังหวัดในภาคใต้จะจัดขึ้นพร้อมกันในเทศกาลออกพรรษาของทุกปี ซึ่งในบางจังหวัดจะมีการจัดงานกาชาด หรืองานบุญประจำปีร่วมด้วย
เฉกเช่นเดียวกันกับ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ที่ได้ร่วมกับโรงพยาบาลสิชล มูลนิธิแพทย์ชนบท สำนักงานเครือข่ายงดเหล้าภาคใต้ สำนักงานควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผลักดันส่งเสริมประเพณีงานชักพระและงานกาชาด ของอำเภอสิชล ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 9 แบบปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้ชื่อ “งานบุญปลอดเหล้า เทิดไท้องค์ราชัน” โดยจัดขึ้นที่สนามหน้าอำเภอสิชล จ.นครศรีธรรมราช เมื่อเร็วๆ นี้
สำหรับการจัดงานประเพณีชักพระปีนี้เน้นรณรงค์งดเหล้าในขบวนแห่พระ มีกิจกรรมสมโภช การร่วมทำบุญตลอดทั้งงาน ซึ่งปีนี้มีวัดเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 33 วัด บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน ประชาชนอิ่มบุญ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในประเพณีครั้งนี้อย่างคับคั่ง
นายสมศักดิ์ ขุนทองจันทร์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมพิเศษโรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และหนึ่งในแกนนำคนสำคัญที่ทำให้เกิดงานชักพระปลอดเหล้าปี 55 ขึ้น อธิบายว่า การจัดงานประเพณีชักพระที่ผ่านมาจะมีการออกร้านจำหน่ายอาหาร จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีทั้งลานเบียร์ ซึ่งผลเสียที่ตามมาคือ เกิดการทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุระหว่างเดินทาง ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายห้ามดื่มในรถทุกชนิดแล้ว เมื่อเห็นถึงปัญหาจึงได้เกิดแนวคิดว่าควรจัดงานปลอดเหล้า จากนั้นได้นำเข้าไปเสนอในที่ประชุมคณะผู้จัดงานระดับอำเภอ โดยนายทินกร มุสิกวัตร นายอำเภอสิชลเป็นประธาน ซึ่งท่านให้ความสนใจและพร้อมสนับสนุนเต็มที่ อีกทั้งทางผู้อำนวยการโรงพยาบาล น.พ.อารักษ์ วงค์วรชาติ ก็เห็นด้วย จึงมีมติร่วมกันกำหนดให้ “ประเพณีชักพระ ครั้งที่ 9” นี้ ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
“งานประเพณีปลอดเหล้าครั้งนี้ ถือเป็นนโยบายสำคัญของโรงพยาบาล ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่สามารถสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนเกิดการรับรู้ด้านกฎหมาย และสร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งเป็นแบบอย่างที่ดีให้เยาวชนคนรุ่นต่อๆ มา รวมทั้งการจัดงานครั้งนี้ยังช่วยจุดกระแสให้เกิดการขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ได้” นายสมศักดิ์ กล่าว
สำหรับรูปแบบการจัดงานจะเน้นการใช้มาตรการที่เข้มงวด อาทิ ติดป้ายรณรงค์งดเหล้ารอบบริเวณงาน ส่วนกองอำนวยการก็จะประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง และทีมเยาวชนจะคอยแจกเอกสาร สติ๊กเกอร์ และการเดินรณรงค์งดดื่ม งดขายสุรา นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามารักษาความปลอดภัย และมีอาสาสมัครคอยเฝ้าระวังภายในบริเวณงาน
ด้าน นายองอาจ พรหมมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายงดเหล้าภาคใต้ตอนบน กล่าวว่า โดยปกติงานบุญประเพณี มักจะมีเหตุทะเลาะวิวาท และอุบัติเหตุมาเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากวัยรุ่นที่มาเที่ยวงานจะมากันเป็นกลุ่มมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อกระทบกระทั่งกันนิดหน่อยก็จะเกิดการทะเลาะวิวาทกัน ซึ่งการจัดงานปลอดเหล้าในครั้งนี้ ทำให้ปัญหาลดลงมาก โดยเฉพาะการทะเลาะวิวาทแทบไม่มีให้เห็น อย่างไรก็ตาม การรณรงค์จะพยายามทำในทุกเทศกาลทั้งงานระดับจังหวัด และชุมชน ซึ่งตัวอย่างความสำเร็จในการดำเนินงานครั้งนี้ เพราะผู้ใหญ่ในจังหวัด และพื้นที่ให้ความสำคัญกับปัญหา และเอาจริงในการบังคับใช้กฎหมาย
เมื่อ “ชาวอำเภอสิชล” เอาแน่ เหตุทะเลาะวิวาท การทำผิดกฎหมาย ความสูญเสียจึงไม่เกิด…คงรู้แล้วนะว่า “งานบุญปลอดเหล้า” มีความสำคัญต่อชุมชน และอนาคตของเยาวชนมากแค่ไหน!!!!
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง / สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า