‘เมาแล้วขับ’ ร้ายกว่าภัยพิบัติ
อุบัติเหตุทางถนนทุบเศรษฐกิจไทยต่อปีกว่า 2 แสนล้านบาท เหตุผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่เชื่อว่าสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ มากกว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติเสียอีก ชี้ช่วงเทศกาล อุบัติเหตุกลืนชีวิตผู้คน เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า สาเหตุมาจาก “เมา แล้วขับ” เป็นส่วนใหญ่
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัญหาอุบัติเหตุจราจรทางถนน เป็นปัญหาที่สำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากผู้ที่ประสบอุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นประชากรในกลุ่มวัยทำงาน ทั้งนี้ ประมาณกันว่าในทุกๆ ชั่วโมง จะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 2 ราย และอีกหลายรายได้รับบาดเจ็บถึงขั้นทุพพลภาพจากอุบัติเหตุจราจรทางถนน อย่างไรก็ดี หากเป็นช่วงเทศกาลสำคัญอุบัติเหตุจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
จากข้อมูลในปี 2538 มีผลการศึกษาพบว่า มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศไทย อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางถนน มีมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี หรือมากกว่า 12 ล้านบาทต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นข้อมูลเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา ถ้าจะเปรียบเทียบกับปัจจุบัน แล้วมีมูลค่ามากกว่า 200,000 ล้านบาทแน่นอน ซึ่งรวมๆ แล้วเชื่อว่าประเทศไทย สูญเสียทางเศรษฐกิจแต่ละปีมากกว่าที่เกิดพิบัติภัยแต่ละครั้ง
สำหรับเทศกาลสงกรานต์ ปี 2553 ที่ผ่านมา มีสถิติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางรถนั้น เฉพาะช่วง 7 วันอันตราย มีผู้เสียชีวิตถึง 361 คน และบาด เจ็บ 3,802 คน โดยสาเหตุมาจากเมาแล้ว ขับประมาณ 39.36% ด้านตัวเลขจากศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ปี 2552 มีคนไทยประสบอุบัติเหตุต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 5,000 คน เสียชีวิต 380 คน ขณะที่ปี 2551 มีอุบัติเหตุทางรถเกิดขึ้น 4,243 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 368 คน และบาดเจ็บ 4,803 คน
ส่วนสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,534 ครั้ง ลดลงจากปี 2552 (3,824 ครั้ง) 290 ครั้ง หรือประมาณ 7.58% ผู้เสียชีวิตรวม 347 คน ลดลงจากปี 2552 (367 คน) 20 คน หรือประมาณ 5.45% ผู้บาดเจ็บรวม 3,827 คน ลดลงจากปี 2552 (4,107 คน) 280 คน หรือ 6.82% ซึ่งในช่วงเทศกาลนั้น จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าช่วงปกติ 2 เท่า
ซึ่งจากผลการศึกษาระหว่างปี 2550-2552 พบว่า ในช่วงปกติจะมีอุบัติเหตุเกิด ขึ้นเฉลี่ยวันละ 280 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 35 คน ในขณะที่ช่วงเทศกาล ปีใหม่มีอุบัติเหตุเฉลี่ยวันละ 607 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 58 คน ถึงแม้แนวโน้มตัวเลขจะลดลง แต่ก็ถือเป็นจำนวนที่สูงมากอยู่
“รถจักรยานยนต์ยังคงครองแชมป์ยานพาหนะพาคนสู่ความตายมากที่สุด ถึง ร้อยละ 84 โดยในปี 51 มีผู้ขับขี่จักรยาน ยนต์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั้งปี 8,000 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 20 เป็นนักเรียนนักศึกษา ซึ่งผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์นั้นมีความ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงถึงตายสูงกว่าการเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางถึง 750 เท่าและสูงกว่ารถไฟ 1,500 เท่าอีกด้วย รองลงมา คือ รถปิกอัพ ร้อยละ 7%” แหล่งข่าวกล่าว
ด้าน พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รับผิดชอบงานจราจร กล่าวว่า ในรอบปี 2553 ที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุทางรถเกิดขึ้นเฉพาะภายในกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 37,000 ครั้งมีผู้เสียชีวิต 456 คน บาดเจ็บสาหัส 957 คน บาดเจ็บไม่รุนแรงประมาณ 15,000 คน ความเสียหายทางทรัพย์สินประมาณกว่า 400 ล้านบาท
“จากสถิติดังกล่าวนี้ หากเป็นช่วงเทศกาลยิ่งเกิดเหตุมากขึ้น ทั้งนี้ การลดอุบัติภัยบนท้องถนนเป็นหน้าที่ที่ทุกคนในสังคมต้องร่วมมือกันอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เราจึงได้จัดทำโครงการเมาไม่ขับ กลับแท็กซี่ รณรงค์ปลูกฝังจิตสำนึกเมาไม่ขับแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน มีการจัดทำสื่อรณรงค์ผ่านทางผู้ขับรถแท็กซี่ ซึ่งทั้งนี้เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกการขับขี่ปลอดภัยกับผู้ขับรถแท็กซี่ พร้อมให้ผู้ขับรถแท็กซี่ได้เป็นสื่อกลางบอกต่อการรณรงค์ เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยผู้ขับรถแท็กซี่สามารถรับของที่ระลึกและสื่อประชาสัมพันธ์ได้ฟรี ที่โรงแรมคราวน์ พลาซา กรุงเทพฯ ลุมพินี พาร์ค ตั้งแต่วันนี้จนกว่าของจะหมด”
ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง กล่าวว่า ถนนถือได้ว่าเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากสภาพถนนที่ไม่ปลอดภัย อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ และเกิดความเสียหายทางด้านทรัพย์สินและชีวิตตามมา ดังนั้น ปัญหาด้านความปลอดภัยจำเป็นที่จะต้องมีการพิจารณาระหว่างช่วงการออกแบบและการก่อสร้างถนนเพื่อให้มีประสิทธิผลมากที่สุด
นอกจากนี้ การค้นหาและระบุจุดอันตราย รวมทั้งมาตรการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการบนถนนที่ได้มีการเปิดใช้งานแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้ถนนมีลักษณะที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ถนนทั้งการเดินทางส่วนตัวและการเดินทางสาธารณะ ซึ่งเป็นการลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุที่มีสาเหตุมาจากความบกพร่องของถนน
ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สงกรานต์ปีที่ผ่านมา มียอดผู้เสียชีวิตมากถึง 361 ราย ซึ่งจากการศึกษาของกระทรวงคมนาคม พบว่า มีต้นทุนความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึง 5.4 ล้านบาทต่อราย ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเล่นน้ำในช่วงสงกรานต์อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย รวมถึงรณรงค์ให้ทราบถึง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 ด้วย
ศ.นพ.อุดมศิลป์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จากผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในเขต กทม. เกี่ยวกับการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ในปีที่ผ่านมา พบว่า 87.8% อยากให้สนับสนุนเขตเล่นน้ำสงกรานต์สนุกสนาน ปลอดภัย 61.2% ยัง เห็นว่า หน้าบ้านตัวเองเป็นพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัยที่สุด อีกทั้งสงกรานต์ปีนี้มีหลายพื้นที่จัดโซนนิ่ง ให้เป็นพื้นที่เล่นสงกรานต์และห้านนำเครื่องดื่นแอลกอฮอล์เข้าไป โดยขยายเพิ่มขึ้นกว่า 40 พื้นที่ทั่วประเทศ ส่งผลให้ลดความรุนแรง อนาจาร และอุบัติเหตุลงได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ