เฟซไลฟ์…คนแสดงตาย คนถ่ายติดคุก!!

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


เฟซไลฟ์...คนแสดงตาย คนถ่ายติดคุก!! thaihealth


แฟ้มภาพ


          เหตุการณ์สาวรุ่นวัย 18 ปี ไลฟ์สดนาทีโดดน้ำฆ่าตัวตายบนสะพานพระราม 8 เมื่อตีสองวันที่ 2 มกราคม ที่ผ่านมา เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงในสังคมออนไลน์ ในห้วงเวลาที่ผู้คนกำลังมีความสุขกับการฉลองเทศกาลปีใหม่


          เหตุการณ์ที่เกิดกับสาวน้อยรายนี้ ถ้าเป็นเหมือนกับการไลฟ์สดนาทีฆ่าตัวตายที่คนผิดหวังในชีวิตเคยทำกันมาหลายรายก่อนหน้านี้ ก็คงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมานั่งวิพากษ์วิจารณ์ให้ซ้ำซากอีก ต่อไป เพราะเป็นสิ่งห้ามกันไม่ได้ แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อกลางดึกคืนนั้นต้องถูกนำมาพูดถึงและวิเคราะห์กันต่อ ก็เพราะว่า การฆ่าตัวตายของเธอมีคนรู้เห็นเป็นใจ ซึ่งนี่แหละคือประเด็นและคงต้องมาย้อนเหตุการณ์เพื่อลำดับเรื่องราวกันอีกครั้ง


          ช่วงเวลาตีสอง วันที่ 2 มกราคม สาววัยรุ่น พื้นเพชาว จ.ระนอง ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์รับจ้างขึ้นมาส่งบนสะพานพระราม 8 ด้วยอาการคล้ายคนเมาสุรา เพ้อ และหมดอาลัย หลังลงจากรถ เธอเสนอเงินให้แก่หนุ่มคนขับมอเตอร์ไซค์ 500 บาท เพื่อให้ช่วยถ่ายคลิปเหตุการณ์ที่เธอกำลังจะทำผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อไลฟ์สดทางเฟซบุ๊ก


          เมื่อหนุ่มมอเตอร์ไซค์ตกลงรับงาน เธอจึงปีนขึ้นไปนั่งบนราวสะพาน พร้อมกับพร่ำรำพันถึงชายคนรัก โดยมีเสียงเพลงที่มีเนื้อหาสื่ออารมณ์เดียวกันจากโทรศัพท์มือถือของเธอดังประกอบฉากอยู่ตลอดเวลา


          ระหว่างนั้นหนุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ยังคงใช้มือถือโฟกัสไปที่เธอตามที่ได้รับมอบหมายในระยะไม่ห่างนัก จากนั้นไม่นานเธอก็ลงไปยืนบนขอบด้านนอกของสะพานก่อนที่จะทิ้งตัวดิ่งลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ท่ามกลางความตกตะลึงของตากล้องและผู้คนที่ได้รับชมภาพเหตุการณ์สดๆ ทางเฟซบุ๊ก


          ภัทรดนัย นุ่มศรีนารถ หนุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างแกร็บไบค์ วัย 25 ปี ผู้ทำหน้าที่ถ่ายภาพไลฟ์สดเหตุการณ์ให้ปากคำตำรวจว่า สาวน้อยรายนี้เรียกรถมาจากซอยนาคนิวาส 30 ย่านโชคชัย 4 เมื่อถึงที่หมายก็ขอให้อยู่เป็นเพื่อนและให้ถือโทรศัพท์มือถือของเธอที่ไลฟ์สดอยู่ โดยตกลงจะจ่ายเงินเพิ่มให้อีก 500 บาท


          ภัทรดนัย บอกว่า ที่รับงานเพราะเข้าใจว่าเพียงให้ช่วยถ่ายบรรยากาศ แต่ระหว่างนั้นสาวน้อยได้พร่ำเพ้อถึงแฟนหนุ่ม จิบเหล้าและร้องไห้อยู่ตลอดเวลา ก่อนจะปีนข้ามราวสะพานแล้วทิ้งตัวลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวิ่งไปดูที่ราวสะพานก็เห็นสาวน้อยพยายามตะกุยน้ำตามสัญชาตญาณก่อนร่างจะจมหายไปกับความมืด


          หลังสอบปากคำ ตำรวจ สภ.บวรมงคล เจ้าของท้องที่ปล่อยตัว ภัทรดนัย ไปท่ามกลางกระแสวิจารณ์ของสังคมที่มีต่อหนุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างรายนี้ พ.ต.อ.วิรดล ทับทิมดี ผกก.สน.บวรมงคล ระบุว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่แจ้งข้อกล่าวหาใดๆ กับหนุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างหลังจากมีการตั้งคำถามจากโลกโซเชียลว่าทำไมไม่เข้าห้ามปรามหรือเข้าช่วยเหลือหญิงรายดังกล่าว แต่หากภายหลังพบว่า การกระทำของหนุ่มนายนี้เข้าข่ายความผิดก็จะเรียกตัวมาสอบสวนอีกครั้ง


          สองวันต่อมา โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ออกมาไขข้อกังขาที่อาจช่วยลดอุณหภูมิของสังคมลงได้บ้าง ด้วยการชี้ข้อกฎหมายว่า คนที่ปล่อยให้คนอื่นฆ่าตัวตาย โดยไม่ช่วย อาจติดคุกได้


          รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด สะท้อนปรากฏการณ์อย่างที่สังคมควรตระหนักว่า คลิปเด็กผู้หญิงกระโดดสะพานพระราม 8 ที่ปรากฏเป็นข่าว เห็นแล้วเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย


          "ข่าวว่าเด็กผู้หญิงจ้างมอเตอร์ไซค์รับจ้างให้ถ่ายคลิป คนถ่ายก็น่าจะเห็นแล้วว่า เด็กสาวอยู่ในอาการมึนเมา ในคลิปมีภาพเหมือนส่งขวดเบียร์ให้เด็กสาวดื่มด้วยเมื่อปีนขึ้นราวสะพาน และเปิดเพลงในทำนองผิดหวังเสียใจ ก็ควรจะห้ามหรือเข้าล็อกตัวไว้ ไม่ให้ข้ามราวสะพานออกไปได้แล้ว หน้าที่ตามกฎหมาย ต้องหยุดการกระทำไม่ให้เด็กสาวเสี่ยงชีวิต ยังกลับยืนถ่ายคลิปต่อไป ผมดูคลิปจนจบแล้ว อาจ…เป็นความผิดมีโทษถึงจำคุกนะครับ คนถ่ายคลิป หรือคนที่ยืนอยู่ด้วยแล้วไม่ห้าม"


          มาตรา 374 ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นแต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ….


          ถ้าคนถ่ายคลิป ส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ดื่ม ซึ่งผู้หญิงก็ไม่แน่ใจว่าอายุเท่าไร ถ้าต่ำกว่า 18 ปี ก็จะมีข้อหาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้ (10) จำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์ หากฝ่าฝืนมาตรา 26 นี้ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 78


          รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด บอกด้วยว่า ถ้าการสอบสวนของตำรวจไม่มีข้อมูลอย่างอื่น เป็นภาพตามคลิป อาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้  เหตุการณ์เช่นนี้ คนถ่ายคลิป คนยืนดู ไม่ยอมเข้าไปช่วย หยุดเหตุการณ์ร้าย ปล่อยให้เขาตาย คุณอาจ…ผิดกฎหมายมีโทษถึงจำคุกได้


          กระนั้น พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. ด้านกฎหมายและคดี ให้ความเห็นในเวลาต่อมาว่า กรณีคนที่ไลฟ์สดหรือคนที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ เข้าข่ายมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 374 ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้ แต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีที่หนุ่มอมเตอร์ไซค์รับจ้างอ้างว่าไม่ทราบว่าหญิงคนดังกล่าวจะโดดสะพานนั้นเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ได้


          "ตามหลักวิญญูชนแล้ว แค่เห็นคนขึ้นไปนั่งบนราวสะพาน ดื่มสุราจนเมา มีท่าทางเศร้าโศก ยืนหันหน้าไปทางฝั่งแม่น้ำทำท่าจะกระโดดก็ต้องห้ามปราม หยุดยั้ง แค่ลักษณะขึ้นไปบนคอสะพานก็รู้แล้วว่าเป็นอันตราย มีความเสี่ยง เพราะคนทั่วไปคงไม่ไป ถ่ายรูปเล่นในลักษณะนั้น"


          พล.ต.อ.วิระชัย ยังฝากเตือนไปถึงประชาชนให้ดูกรณีนี้เป็นตัวอย่างว่า ถ้าเห็นคนกำลังฆ่าตัวตาย หรือกำลังได้รับอันตราย แต่ไม่ช่วย จะมีความตามกฎหมาย นอกจากนี้ถ้าหากเป็นกรณีอุบัติเหตุตามท้องถนน หากมีคนเห็นแล้วพอช่วยเหลือได้ แต่ไม่ช่วย ก็อาจจะเข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา 374 ด้วย โดยมาตรานี้มุ่งหวังให้คนได้รับความช่วยเหลือ


          ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็มีความเป็นห่วงจากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาต่อการแสดงความเห็นกรณีไลฟ์สดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวว่า ควรใช้ถ้อยคำอย่างระมัดระวัง เพราะคำบางคำอาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ ซึ่ง น.ต.นพ. บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เคยมีคำแนะนำเรื่องนี้ไว้เมื่อครั้งมีกรณีสาวไลฟ์สด ทำร้ายตัวเองและขู่ว่าจะฆ่าตัวตายเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว


          น.ต.นพ.บุญเรือง บอกว่า สิ่งที่น่าห่วงและมักพบบ่อยครั้ง คือการแสดงความคิดเห็นในลักษณะยั่วยุ ท้าทาย บางรายมีการโพสต์ภาพวิธีที่จะใช้ทำร้าย ตัวเอง สัญญาณเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญที่สุด ที่จะเกิดการทำร้ายตนเองจริงได้ ดังนั้นจึงอย่ามองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ ไร้สาระ หรือล้อเล่น แต่ต้องช่วยเหลือทันที เพราะการปรากฏตัว ในโลกโซเชียล เป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกได้ว่า เขาอาจยังมีความลังเลอยู่ กำลังร้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งในจังหวะนั้นสามารถช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตินี้ได้ ด้วยการประวิงเวลา ให้กำลังใจ ให้ข้อคิด สนทนาเรียกสติ ยับยั้งความคิด ให้หลุดพ้นห้วงอารมณ์นั้น ให้ผ่านพ้น 24 ชั่วโมงไปให้ได้


 


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code