เพื่อนร่วมทางสร้างสังคมสุขภาวะ
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
องค์การอนามัยโลก ได้นิยามไว้ว่า"สุขภาพ" หมายถึง ภาวะที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายจิตใจ จิตวิญญาณรวมถึงการใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุขสะท้อนถึงความเป็นองค์รวมอย่างแท้จริงของสุขภาพที่เกื้อหนุน และเชื่อมโยงกันทั้ง 4 มิติ นำมาสู่วิสัยทัศน์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คือ หวังเห็นคนไทยมีสุขภาวะดีครบทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ กาย จิต ปัญญา และสังคม
แผนสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรมสุขภาวะก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ ของการดำเนินงานในการสร้างเสริมสุขภาพสู่สังคมสุขภาวะของ สสส. และเมื่อไม่นานนี้ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6)ได้มีการจัดประชุมชี้แจงรายละเอียดการดำเนินงาน "หน่วยจัดการร่วมกับ สสส. ระดับพื้นที่(Node)" เพื่อค้นหาเพื่อนร่วมทางระดับจังหวัด มาร่วมคิด ร่วมสร้างร่วมพัฒนา โครงการสร้างเสริมสุขภาพขนาดเล็กในพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลและขาดโอกาส โดยมีผู้ให้ความสนใจร่วมงานกับ สสส.อย่างล้นหลามมากถึง 160 ทีม จาก 77 จังหวัด
ทั้งนี้ แผนสร้างเสริมโอกาสและนวัตกรรมสุขภาวะ มีเป้าหมายในการขยายโอกาสและพัฒนาศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาวะ โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคล ชุมชน และองค์กรทั่วไปสามารถดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย ให้สอดคล้องกับความต้องการและปัญหาของชุมชนโดยมีกรอบการสนับสนุนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ ระยะ 10 ปี ของ สสส.
สำนัก 6 จึงได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานของแผน โดยได้มีการพัฒนา "หน่วยจัดการร่วมกับ สสส. ในระดับพื้นที่ (Node)"เพื่อมาพัฒนาศักยภาพ ติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานโครงการสร้างเสริมสุขภาพของภาคีรายย่อยให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสำเร็จตามที่กำหนดไว้
ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในช่วงการเปิดประชุมถึงความสำคัญว่าการทำงานที่ตอบโจทย์ปัญหาของชุมชนนั้นเป็นสิ่งสำคัญของการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ และ สสส.มีหลากหลายช่องทาง หลากหลายประเด็นในการดำเนินงาน ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีในการร่วมกันสร้างสรรค์งานสร้างเสริมสุขภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างกว้างขวาง1 เดือนหลังจากนี้ จะเป็นช่วงของกระบวนการกลั่นกรองโดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้ทีมงานคุณภาพร่วมพัฒนาโครงการในระดับพื้นที่ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด
ขณะที่ ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) อธิบายไว้ว่าหน่วยจัดการร่วมกับ สสส. ในระดับพื้นที่ (Node) จะทำหน้าที่ในการสนับสนุนให้ประชาชนในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ขาดโอกาสได้มีความสามารถดูแลสุขภาพและร่วมมือกันสร้างเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพระดับชุมชน เพื่อสุขภาวะที่ดีขึ้นของคนไทยโดยจะริเริ่มนำร่องดำเนินงานในโครงการสร้างเสริมสุขภาพขนาดเล็ก และหลังจากนั้นทางสำนัก 6 จะมีการนำบทเรียนและประสบการณ์การดำเนินงานดังกล่าว มาขยายผลพัฒนา ปรับปรุง และต่อยอดการทำงานในรูปแบบอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การสร้างสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืนไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการทำงานเพียงลำพัง จะต้องอาศัยความรับผิดชอบ การเรียนรู้ ร่วมคิดร่วมทำ ตลอดจนอาศัยความร่วมมือและข้อมูลทางวิชาการจากหน่วยงานในท้องถิ่นและหากทุกชุมชน มุ่งมั่นดำเนินการอย่างกว้างขวางประเทศไทยก็จะพัฒนาอย่างมีทิศทาง เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด