เพิ่มสุขแก่ผู้สูงอายุ ด้วยพลังภาคสังคม
เป็นการยืนยันกันไปทั่วโลกอย่างเป็นทางการแล้วว่า โลกใบนี้กำลังจะกลายเป็นโลกของผู้สูงอายุ ทั้งนี้เนื่องจาก หลักของ การดำรงชีวิต ได้เกิดการต่อยอดชีวิต และสร้างคุณภาพชีวิตให้คนมีอายุยืนมากขึ้น เป็นผลทำให้ คนแก่ตายช้า ในขณะที่ เด็กแรกเกิด หลายประเทศยังมีการกำจัดสิทธิ์ในการเกิดอยู่บ้าง จึงทำให้หลายๆประเทศต้องหันมาจับตาและจัดการให้การดำรงชีวิตของผู้สูงอายุมีความสมบูรณ์ในชีวิตมากยิ่งขึ้น
สำหรับในประเทศไทย นอกจากการเตรียมพร้อมในระดับมหภาค โดยการเร่งมือแก้ปัญหาเชิงรับเรื่องของการรักษาสุขภาพผู้สูงอายุแล้ว ในส่วนของภาคสังคมนั้น ก็ควรที่จะต้องมีบทบาทในเรื่องดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพในผู้สูงวัย ให้ครอบคลุมทั้งสุขภาพกายและใจ
ดังจะเห็นได้จากในเวทีการประชุม “แลกเปลี่ยนความคิดเห็นปัญหาและอุปสรรคของการร่วมกำหนดนโยบายสวัสดิการสังคม โดยภาคประชาชนวิเคราะห์ผ่านนโยบายสังคมว่าด้วยปัญหาผู้สูงวัย” ซึ่งจัดโดยแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี(นสธ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั้นมีภาคสังคมร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จากพื้นที่ทั่วประเทศในการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงวัยอย่างหลากหลาย
จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในที่ประชุม ดร.ปณิธี สุขสมบูรณ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษวิททยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวแสดงความคิดเห็น ในฐานะตัวแทนภาคพื้นที่จากภาคกลาง ว่า “การสร้างความสัมพันธ์เชิงเครือญาติและละแวกบ้านเป็นเรื่องสำคัญมาก ในการเชื่อมสังคมสูงวัยให้มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรม เช่นบุตรหลานในครอบครัว อาจมีการชวนพูดคุยเรื่องราวต่างๆ หรือหากตั้งเป็นชมรมผู้สูงอายุได้ ก็ควรมีกิจกรรมการทำบุญ ออกกำลังกาย เป็นต้น เพราะผู้สูงอายุในปัจจุบันต้องการอยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งไม่ใช่แค่ครอบครัวแต่หมายถึง บุคคลที่อยู่ในชุมชนเดียวกันด้วย”
ขณะที่แนวคิดของผู้ร่วมประชุมทางภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มองว่า คนสูงวัยส่วนใหญ่ปรารถนาจะมีพื้นที่ในการแสดงออกถึงความกระตือรือร้น ของตนเอง เพื่อจะได้เป็นที่พึ่งแห่งสังคม เช่นการตั้งตนเป็นที่ปรึกษา หรือ ผู้รู้แก่คนรุ่นหลังในเรื่องต่างๆ เช่นวัฒนธรรม ศาสนา ประเพณี และภูมิปัญญา ดังนั้นสังคมควรมีพื้นที่รองรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ผู้สูงอายุมีโอกาสแสดงออกมากขึ้น
มีตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นกันในที่ประชุมคือ ใน จ.พะเยา มีการสร้างโฮงเฮียนผู้สูงอายุ เพื่อเปิดโอกาสให้คนต่างวัย เข้ามาจัดกิจกรรมสันทนาการ เช่น พาเด็กประถมมาเล่นดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือ หรือ พามาวาดภาพเพื่อทำศิลปะบำบัด ซึ่งทั้งสองวัยจะมีการสานรักระหว่างกันเพื่อส่งเสริมสุขภาวะที่ดีทางอารมณ์
คุณ รุ่งนภา เทพภาพ ผู้ศึกษาปัญหาและกระบวนการทางสังคมในการรองรับผู้สูงวัย ทางภาคเหนือ กล่าวว่า ปัจจุบันเรื่องศิลปะและดนตรี นั้นเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นให้เกิดความสุขทางอารมณ์ได้ดี ดังนั้นการนำดนตรีมาพัฒนาผู้สูงวัย จะช่วยแก้เครียดได้ หรือหากไม่มีเวลามากนัก คนในครอบครัวควรหาเวลาในการพาผูสูงอายุออกนอกบ้านไปยังสถานที่อื่น เช่น วัด โรงเรียน ในโอกาสสำคัญต่างๆ เพื่อรับรู้บรรยากาศภายนอกว่าเป็นอย่างไรบ้าง เนื่องจากสังคมปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก บางครั้งการพบสิ่งใหม่ในสังคมก็ช่วยให้พวกเขาอยากมีส่วนร่วมกับผู้อื่นมากขึ้น
คุณยงยุทธ สุขพิทักษ์ นักวิชาการสาธารณสุข ตัวแทนจากภาคใต้มองว่า การปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในครอบครัวและบุคคลวัยอื่น ภาคสังคมควรจะต้องเป็นอีกปัจจัยทีมีส่วนขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น โดยนอกจากการสนับสนุน เรื่องของการมีส่วนร่วมในกิจกรรมชุมชน เช่น การจัดโครงการออมทรัพย์ ในบางพื้นที่ของภาคใต้แล้ว ภาคสังคมอาจใช้จังหวะ เวลา ที่จะสร้างความเข้าใจแก่ครอบครัว สมาชิกชุมชน ให้มีทัศนคติที่ดีต่อบุคคลสูงวัย อย่างเท่าเทียมบุคคลอื่น คือ พยายามสร้างบทบาทให้ผู้สูงวัยมีภาวะเป็นผู้นำในบางเรื่อง เพื่อให้พวกเขารู้ว่า ยังมีความสำคัญต่อคนรุ่นหลังได้ แต่ทั้งหมดนี้ต้องทำควบคู่กับการดูแลสุขภาพกายด้วย เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อชีวิตผ่านเข้าสู่วัย แก่เฒ่าแล้ว คนเราย่อมต้องการเพื่อน ยิ่งถ้าบรรดาผู้เฒ่า ตกอยู่ในภาวะของความเจ็บป่วยด้วย กำลังใจที่สำคัญ ที่พวกเขาจะได้รับ ควรจะมาจากบุตรหลาน ดังนั้นคนรุ่นใหม่ ควรสละเวลาส่วนตัวเพื่อคนสูงวัยบ้าง ตัวอย่าง เช่น ใครที่ติดละคร ติดอินเทอร์เน็ต ก็ควรลดเวลาส่วนนี้ลง แล้วใช้เวลาพูดคุยเรื่องส่วนตัวเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างวัย บางครั้งอาจจะทำให้เกิดแนวคิดอื่นๆที่สร้างสรรค์ก็ได้ ซึ่งหากมันเกิดขึ้น ผู้สูงวัยก็จะคิดบวกแล้วยอมรับในคำแนะนำของบุตรหลานในบางเรื่องมากขึ้น อย่างมีพ่อแม่วัย 80ป่วยแต่ไม่อยากทานยา หากบุตรหลานพาคุยเกี่ยวกับชีวิตวัยเด็ก ประสบการณ์ด้านการทำงาน เวลาผ่านไปท่านอาจจะยอมรับและเชื่อฟังเกี่ยวกับการกินยารักษาโรคก็เป็นได้
แม้ผู้สูงอายุ จะเป็นวัยที่มีปัญหาสุขภาพมากมาย แต่ก็เป็นวัยที่เปรียบดังปราชญ์ของคนรุ่นหลัง ดังนั้นการขับเคลื่อนนโยบายให้พร้อมรับมือกับผู้สูงวัยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น นักวิชาการทั้ง 4 ภาค จึงมีความเห็นตรงกันว่า แม้จะได้รับการพึ่งพาจากภาครัฐแล้วก็ตาม แต่ทางภาคสังคมโดยเฉพาะสังคมท้องถิ่น ควรเปิดใจรับฟังปัญหา แล้วสร้างชุมชนสำหรับผู้สูงวัยให้เข้มแข็งด้วย จึงจะเรียกได้ว่า เป็นสังคมที่มีคุณภาพสำหรับผู้สูงอายุ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดย ปานมณี