เพิ่มสิทธิบัตรทอง ยาแพง 4 รายการรักษามะเร็ง
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.เพิ่มสิทธิประโยชน์บัตรทอง ยาแพง 4 รายการ รักษามะเร็งเต้านม-ไวรัสตับอักเสบซี-มะเร็งเม็ดเลือดขาว
การประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) นพ.จรัล ตฤณวุฒพงษ์ เป็นประธานการประชุม โดย นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการประกาศขยายสิทธิประโยชน์ด้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง โดยเห็นชอบเพิ่มเติมยา 4 รายการ ตามการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่ได้เห็นชอบและบรรจุเป็นรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2557 ได้แก่ 1.ยาทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) เป็นยารักษามะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น ซึ่งเป็นการรักษาเสริมร่วมกับยาแพคลิแท๊กเซิล (Palitaxel)
เลขาธิการสปสช. กล่าวอีกว่า จากการศึกษาประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพหรือไฮเทป (HITAP) พบว่า แม้จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นจากที่ใช้ยา แพคลิแท๊กเซิลอย่างเดียว จาก 966,306 บาท เป็น1,510,886 บาท โดยมีส่วนต่าง 544,580 บาท แต่มีความคุ้มค่าเพราะช่วยยืดชีวิตผู้ป่วยจาก 9.11 ปี เป็น 14.12 ปี โดยในปี 2558 ตั้งเป้าหมายการเข้าถึงของผู้ป่วย 175 ราย งบประมาณ 80.90 ล้านบาท และในปี 2559 ตั้งเป้าหมายการเข้าถึงผู้ป่วย 350 ราย งบประมาณ 162.80 ล้านบาท
2.ยาเพคอินเตอร์เฟอรอน(Peginterferon) เป็นการเพิ่มเติมข้อบ่งใช้สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีร่วมด้วย และผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี สายพันธุ์ 1 หรือ 6 จากการศึกษาประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยไฮเทป พบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีร่วมด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาแบบประคับประคองจะสามารถประหยัดงบประมาณภายใน 5 ปี ได้ถึง 317 ล้านบาท โดยประมาณ ในขณะกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี สายพันธุ์ 1 หรือ 6 เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาแบบประคับประคอง จะสามารถประหยัดงบประมาณภายใน 5 ปี ได้ถึง 678 ล้านบาท โดยประมาณค่ายาและค่าตรวจจะอยู่ที่ 88,904,400 ล้านบาท
3.ยานิโลทินิบ (Nilotinib) และ 4.ยาดาสาทินิบ (Dasatinib) โดยยาทั้ง 2 รายการ เป็นยารักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์ โดยยานิโลทินิบเป็นยา second-line จะใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในกรณีที่ไม่สามารถใช้ยาอิมาทินิบ (Imatinib) ที่เป็นยารักษาพื้นฐานได้ ส่วนยาดาสาทินิบเป็นยา third-line ใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในรายที่ไม่สามารถใช้ยาอิมาทินิบและยานิโลทินิบได้ ทั้งนี้จากข้อมูลการรักษาผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์ 1,400 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยดื้อต่อยาอิมมานิทิบ 500 ราย คาดว่าต้องใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท และมีผู้ป่วยที่ดื้อต่อยาอิมานิทิบและยานิโลทินิบ 15 ราย คาดว่าต้องใช้งบประมาณ 23 ล้านบาท
“ยา 4 รายการนี้เป็นยาที่ถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว เป็นยาจำเป็นที่ผู้ป่วยควรได้รับ และการเห็นชอบของบอร์ด สปสช.ในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความครอบคลุมการรักษามากขึ้น แต่ยังทำให้ผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถเข้าถึงการรักษา ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของ สปสช. ด้วย นอกจากนี้ จากการศึกษาประเมินของทางไฮเทปยังพบว่า ระหว่างผู้ป่วยที่ใช้ยาข้างต้นกับการรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคอง การใช้ยาข้างต้นสามารถประหยัดงบประมาณค่ารักษาได้มากกว่า และยังมีความคุ้มค่าช่วยยืดชีวิตผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้น”นพ.วินัย กล่าว
ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต