เพิ่มคุณภาพอาหารริมทาง ให้ถูกหลัก

นักโภชนาการ เสนอแก้ปัญหาคุณภาพอาหารริมทาง พร้อมแนะศึกษาวิเคราะห์-ออกแนวปฏิบัติอย่างจริงจัง


คุณภาพอาหารริมทาง thaihealth

แฟ้มภาพ


นายสง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการโภชนาการ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อาหารริมทาง(สตรีท ฟู้ด) ในประเทศไทยมีหลากหลาย ซึ่งนอกจากที่ขายกันตามริมถนนแล้ว ยังรวมถึงอาหารที่ขายตามตลาดนัด หัวเมืองใหญ่ และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาตินิยมรับประทาน แต่พบว่าอาหารเหล่านี้จะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือประเภทที่สามารถควบคุมเรื่องคุณภาพได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน คนไทยกว่าร้อยละ 80 หันมารับประทานอาหารริมถนนจำนวนมากที่มีความเสี่ยงได้รับอันตรายจากโลหะหนักสารพิษ และเสี่ยงต่อการได้รับอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคท้องร่วง ท้องเสียนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐจะต้องให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง


นายสง่า กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องนี้นั้นตนเห็นว่าเบื้องต้นคือต้องให้ความรู้ทางด้านโภชนาการที่ดีแก่ประชาชน ส่วนภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการดังนี้ คือ 1.ทำการศึกษาวิจัยอาหารริมถนนให้มากกว่านี้ เพื่อให้ทราบถึงความเสี่ยงและผลกระทบที่เกิดขึ้นว่ามีอะไรบ้าง รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน เพื่อนำมาวิเคราะห์ก่อนนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด 2.กำหนดเป็นนโยบายระดับชาติ และต้องทำตามให้ได้ เพราะเรื่องปากท้องและสุขภาพของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ 3.กำหนดหน่วยงานเจ้าภาพขึ้นมาดูแลอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มี เพราะการทำงานในปัจจุบันยังมีความล่าช้าอยู่ 4.กำหนดแผนปฏิบัติการให้ชัดเจน


 “ต้องยอมรับว่าร้านขายอาหารริมถนนส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่มีทุนน้อย ดังนั้นรัฐบาลจะทำอย่างไรเพื่อสนับสนุนให้คนเหล่านี้มีทุนในการพัฒนาร้าน และเข้าสู่ระบบการพัฒนาด้านสุขาภิบาลอาหารที่ถูกต้อง อาจต้องมีมาตรการทางกฎหมายเข้ามาช่วยหรือไม่”นายสง่า กล่าว และว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ปล่อยปละละเลยไม่ได้ เพราะถ้าเกิดการเจ็บป่วย จะกระทบกับระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ เนื่องจาก ทุกวันนี้อาหารสตรีทฟู้ดมีอยู่ทุกมุมเมือง และที่ผ่านมามีปัญหาจำนวนมาก


 


 


ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ 

Shares:
QR Code :
QR Code