เพิ่มข้อคัดกรอง “ไวรัสซิกา” ก่อนรับบริจาคเลือด

ที่มา : manager.co.th.


เพิ่มข้อคัดกรอง “ไวรัสซิกา” ก่อนรับบริจาคเลือด  thaihealth


แฟ้มภาพ


ผู้เชี่ยวชาญไวรัส เผย สภากาชาดไทยเพิ่มข้อคัดกรอง “ไวรัสซิกา” ก่อนบริจาคเลือด หลังพบมีโอกาสติดเชื้อได้ราว 30% แนะศึกษาเพิ่มแช่เลือดในตู้เย็นนานเท่าใดจึงทำให้เชื้อตาย ก่อนนำเลือดไปใช้ ปลูกฝังความรู้เรื่องโรค – กำจัดยุงลายผ่านละคร


ที่อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา และประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการและยุทธศาสตร์เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อภิปรายเรื่อง “ทำไมเราต้องกังวลไวรัสซิกา” ในงานเปิดตัวศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ว่า สภากาชาดไทยได้เพิ่มข้อคัดกรองการบริจาคโลหิตในเรื่องโรคติดเชื้อไวรัสซิกาด้วย เนื่องจากพบว่าหากรับเลือดจากผู้ที่ติดเชื้อไวรัสซิกา มีโอกาสติดเชื้อด้วยประมาณ 30% แต่ตัวเลขนี้ยังไม่แน่ชัด ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันจึงมีระบบการคัดกรองเลือดที่มากขึ้น โดยให้ระบุว่าผู้บริจาคเลือดที่เคยไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้กังวลจนไม่กล้าบริจาคเลือด มิเช่นนั้น จะเกิดปัญหาขาดเลือดอีก เพราะการบริจาคเลือดมีระบบการคัดกรองในระดับหนึ่ง แต่ตัวผู้บริจาคก็ต้องตระหนักและให้ข้อมูลก่อนการบริจาคให้ชัดเจนด้วย เช่น เคยไปพื้นที่ระบาดมาก่อนหรือไม่ หรือเคยมีประวัติเป็นไข้เลือดออกเมื่อเร็วๆ นี้หรือไม่ เป็นต้น ซึ่งศูนย์รับบริจาคเลือดตามโรงพยาบาลต่างๆ ก็ควรเพิ่มข้อคัดกรองนี้ด้วย


เมื่อถามว่า การบริจาคเลือดต้องเพิ่มการมีตรวจเชื้อซิกาก่อนนำเลือดไปใช้หรือไม่ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า การตรวจทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ และปัจจุบันก็มีโรคจำนวนมาก สิ่งสำคัญคือ ต้องมีการศึกษาว่า การนำเลือดบริจาคไปแช่เก็บไว้ในตู้เย็น ต้องแช่เป็นเวลากี่วันจึงจะทำให้เชื้อตาย


 “การป้องกันไม่ให้เกิดโรคติดเชื้อไวรัสซิกาสำคัญที่สุด โดยเฉพาะการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของราชการเพียงอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน ยกตัวอย่าง หากอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม ราชการไม่สามารถเข้าไปกำจัดยุงลายภายในบ้านได้ ทั้งที่คอนโดมิเนียมก็มีแหล่งเพาะพันธุ์จำนวนมาก เช่น กระถางต้นไม้ แจกันดอกไม้ เป็นต้น แต่คนที่จะสามารถกำจัดได้ คือ คนที่อาศัยอยู่ นอกจากนี้ ชาวบ้านจะไม่ค่อยทราบหรือสนใจเกี่ยวกับความรู้เรื่องโรคภัยที่ราชการมอบให้เท่าใดนัก ดังนั้น จึงต้องมีการสอดแทกข้อมูลความรู้เรื่องสุขภาพ เช่น เรื่องโรคซิกา หรือการกำจัดลูกน้ำยุงลายไปในละครต่างๆ รวมถึงการปลูกฝังและสอนเรื่องนี้ภายในโรงเรียนด้วย เพื่อให้เห็นความสำคัญตั้งแต่เด็กๆ และสร้างวินัยในการกำจัดลูกน้ำยุงลายด้วยตัวเอง โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรมองเรื่องเหล่านี้บ้าง เพื่อให้สามารถเอาไปใช้ได้” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว


ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้สถานการณ์ไวรัสซิกาที่ทำให้เด็กหัวลีบเป็นอย่างไร ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาติดตามว่า เด็กหัวเล็กเกิดจากซิกาจริงหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังยืนยันที่ 3 ราย ซึ่งทาง สธ. มีการเฝ้าระวังติดตามทั้งแม่และเด็ก รวมถึงหญิงตั้งครรภ์จำนวน 30 รายอยู่

Shares:
QR Code :
QR Code