เพาะพันธุ์ปลา เปิดทางสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มั่นใจเต็มร้อย
ที่มา : เว็บไซต์ thepotential.org
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ thepotential.org
เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย!?! คำบ่นยอดฮิตของวัยรุ่นไทยหลายคนบนโลกออนไลน์ ไหนจะเรื่องเรียน เรื่องรัก เพื่อน ครอบครัว และเรื่องตัวเอง ล้วนมีเหตุที่ทำให้วัยรุ่นรู้สึกเหนื่อย แต่ความเหนื่อยที่วัยรุ่นรู้สึกว่าใหญ่นั้น ใหญ่จริงหรือ?
ถ้ามองในเชิงวิทยาศาสตร์ ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่ร่างกายภายนอกกำลังเปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ เห็นได้จากรูปร่างและน้ำเสียง หากลงลึกเข้าไปในร่างกายจะพบความพลุ่งพล่านของสมองที่กำลังพัฒนา โดยผลการศึกษาสมองวัยรุ่นด้วยเครื่อง MRI (Magnetic resonance imaging) ทำให้เห็นว่าสมองของวัยรุ่น ‘ไม่ใช่เด็กและไม่ใช่ผู้ใหญ่’ เพราะระบบลิมบิค (Limbic system) ซึ่งทำงานเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกพัฒนาเต็มที่ ขณะที่สมองส่วนหน้าที่ทำงานเรื่องการตัดสินใจ การวางแผน การกำกับอารมณ์ยังพัฒนาไม่เต็มที่
ความไม่มั่นคงในอารมณ์นี้เองนำไปสู่การแสวงหาอัตลักษณ์และการยอมรับจากสังคมแวดล้อม ตามทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคม 8 ขั้น ของอีริค อีริคสัน (Erik Homburger Erikson) จึงไม่แปลกที่วัยรุ่นจะดูแลการแต่งกายของตัวเองตั้งแต่หัวจรดเท้าและระมัดระวังการวางตัวกับคนอื่น เพราะรู้สึกวิตกกังวลว่า ‘คนอื่นคิดอย่างไรกับเรา’
วัยรุ่นส่วนใหญ่ลงมือค้นหาตัวเองด้วยการ ‘หาอะไรทำ’ เช่น ออกไปทำกิจกรรมต่างๆ ที่มีในโรงเรียน หรือสังคมร่วมกับคนอื่น แต่ความน่าเป็นห่วงคือ ทางที่เขาเลือกนั้นอาจจะถูกต้องหรือผิดพลาดก็ได้ เพราะมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกทั้งพื้นฐานเดิมของเด็ก การรับสื่อ สิ่งแวดล้อม และที่มีอิทธิพลต่อเด็กเป็นพิเศษคือ ‘กลุ่มเพื่อน’
วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้วัยรุ่นข้ามผ่านช่วงของความสับสน และค้นพบตัวตนในทางที่ดีได้คือ ‘ผู้ใหญ่เปิดพื้นที่’ สร้างสรรค์ ให้โอกาสเด็กลงมือทำเรื่องดีๆ ที่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ต้องเกิดจากความเต็มใจที่จะทำของเขา
เน-ธัญญา ทองขำ นักศึกษาแผนกวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ คือวัยรุ่นที่ได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ในนามสงขลาฟอรั่ม ภายใต้โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ที่เปิดโอกาสให้เธอและเพื่อนร่วมวิทยาลัยทำโครงการไรน้ำนางฟ้า ที่เป็นการเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า อาหารมีชีวิตสำหรับปลาสวยงาม เพื่อช่วยลดต้นทุนของผู้จำหน่ายปลาสวยงามในจังหวัดสงขลา และสร้างแหล่งเรียนรู้เรื่องไรน้ำนางฟ้าในวิทยาลัย ซึ่งตรงกับความสนใจเรื่องการเลี้ยงปลาสวยงามที่มีอยู่แล้วของเธอ
พื้นฐานของเนไม่ต่างจากวัยรุ่นคนอื่นที่มีความกังวลต่อการเข้าสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเธอมีปานแดงบริเวณใบหน้า ยิ่งทำให้เธอเป็นคนเก็บตัวมาตลอด เพราะกลัวว่าคนอื่นจะไม่ยอมรับสิ่งที่เธอเป็น กระทั่งเธอเข้ามารวมกลุ่มกับเพื่อน แล้วต้องไปนำเสนอรายละเอียดโครงการต่อหน้าผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อขออนุมัติโครงการ
“เมื่อก่อนเราเป็นคนเก็บตัว ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ชอบพบปะผู้คน แต่ตอนนั้นเพื่อนที่นำเสนอเก่งที่สุดไม่อยู่ เราต้องไปนำเสนอเอง จำได้ว่ากังวลจนนั่งร้องไห้ ตอนนั่งรถไปงานประชุมก็กังวลมาก ร้องไห้ไปตลอดทาง คิดอยากจะกลับท่าเดียว กลัวไปหมด
“แต่พอคิดได้ว่าถ้าเราไม่ไปแล้วงานที่คิดมากับเพื่อนต้องล้มเลิกไป เพื่อนคงเสียใจ เลยตัดสินใจเดินหน้าต่อ ยิ่งตอนคณะกรรมการซักถาม มือของเราสั่นมาก พยายามตอบตามขั้นตอนที่ได้ทำ ปรากฏว่าตอบได้ เลยกลายเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ให้เรากล้าเข้าสังคม กล้าแสดงออก และกล้าพบปะผู้คนมากขึ้น”
การก้าวข้ามความวิตกกังวลด้วยการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่รู้สึกกลัว แทนที่จะหลบเลี่ยงหรือหลีกหนี ช่วยสร้างความมั่นใจ และค่อยๆ เปลี่ยนวิธีคิดของเนใหม่ว่า คนอื่นๆ ไม่ได้สนใจว่าร่างกายเธอจะเป็นแบบไหน มีคนมากมายที่พร้อมจะสร้างมิตรภาพกับเธอ และเธอก็สามารถทำสิ่งที่คนอื่นทำได้ไม่ต่างกัน
ซึ่งการรับรู้ถึงความสามารถของตัวเองในครั้งนั้น จะเป็นพื้นฐานให้เนเติบโตต่อไปในสังคมได้อย่างแข็งแรง เพราะการตระหนักถึงคุณค่าภายในตัวเองจะคงอยู่อย่างยั่งยืนกว่าคุณค่าภายนอกที่โรยราตามกาลเวลา
คงมีวัยรุ่นอีกหลายคนที่กำลังเหนื่อยจากฮอร์โมนที่พลุ่งพล่าน และความวิตกกังวลต่อการค้นหาที่ทางของตัวเอง และเสี่ยงต่อการเดินทางผิด จะดีกว่าไหม หากผู้ใหญ่ช่วยกันเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้ทำสิ่งที่อยากทำ และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพื่อเป็นเข็มทิศให้วัยรุ่นก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์