เพาะกล้าธรรม เยาวชน จ.น่าน

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


เพาะกล้าธรรม เยาวชน จ.น่าน thaihealth


ข่าวไฟป่า และภาพเขาหัวโล้นแห่งเมืองน่านที่ดูจะร้อนยิ่งกว่าอากาศ แถมยังลุกลามทั้งในสื่อหลัก รวมถึงโลกโซเชียลที่แห่กันแชร์พร้อมกระแสดราม่าว่า ตกลงจะฟื้นฟูป่าให้กลับมาได้นั้น ควรต้องทำอย่างไรกันแน่ ขณะเดียวกันแสงสปอตไลต์ก็ส่องลงมาที่จังหวัดน่านอย่างเต็มๆ


…ทำไมต้องน่าน?


คำตอบอาจจะออกมาแนวๆ เพราะน่านเป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยภูเขา อดีตเคยมี ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ และน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยากว่า 45 เปอร์เซ็นต์ ก็มาจากป่าเมืองน่าน จนกระทั่งมีการชวนเชื่อให้ปลูกข้าวโพด ป่าไม้เมืองน่านก็ถูกบุกรุก แผ้วถาง ป่าเมืองน่าน ก็ลดลงทุกปี


แต่อีกด้านหนึ่งที่คนที่อยู่ปลายน้ำยังไม่รู้ คือ แม้จะมีการตัดป่าเพื่อปลูกข้าวโพด ก็มีคนอีกหลายกลุ่ม พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อยับยั้ง "ป่าข้าวโพด" แต่ก็ไปไม่ถึงเป้าหมาย


"จุดอ่อนของความเป็นน่านคือ มีนักพัฒนา อยู่มากมาย มีกลุ่มองค์กรหลากหลายองค์กร แต่เราขับเคลื่อนกิจกรรมไปไม่ถึงปลายทาง" คือคำตอบซึ่ง พระครูสุจิณนันทกิจ หรือที่รู้จักในนาม "พระอาจารย์สมคิด" ประธานมูลนิธิ ส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) พระนักพัฒนา พยายามชี้ให้เห็นจุดอ่อนบางประการของการทำงานเพื่อดูแลป่าไม้เมืองน่าน


ถึงกระนั้นก็ตามพระอาจารย์สมคิดยังชี้ว่า "เราไม่อยากให้ทุกคนคิดว่านี่เป็นปัญหาของจังหวัดน่าน แต่เราจะทำอย่างไรให้ปัญหาเหล่านั้น เป็นปัญหาของทุกคน"


ในฐานะพระนักพัฒนา พระครูสุจิณนันทกิจ มองว่า การแก้ไขปัญหา "หุบเขาข้าวโพด" คือ การเข้าไปปรับเปลี่ยนวิธีคิดของชาวบ้านที่อาศัยรอบป่า โดยใช้ "ธรรมเป็นฐาน" ที่เป็นธรรมชาติ เป็นองค์ความรู้ภูมิปัญญาของตนเอง


"เราต้องใช้ธรรมเป็นฐาน ใช้งานเป็นทุนไม่อยากให้คนน่านทิ้งกัน คนน่านจะต้องไม่ทิ้งกัน ถ้าคนน่านได้แสดงตนเป็นแบบนี้มันก็จะเกิดเป็นพลังของคนน่าน อาตมาอยากเห็นคนน่านคิดเป็น คิดเป็นเชิงยุทธศาสตร์ คิดแบบเป็นระบบ"


เพาะกล้าธรรม เยาวชน จ.น่าน thaihealthและด้วยวิสัยทัศน์ของนักพัฒนาที่อยากเห็น คนน่านเห็นคุณค่าความเป็นน่าน ทำให้พระครู สุจิณนันทกิจ ค่อยๆ เพาะบ่มต้นกล้า หน่ออ่อน ของเมืองน่าน เพื่อให้เขาเหล่านั้นเติบโตมาพัฒนาชุมชนของตนเอง ให้เขาสามารถจัดการตนเองตามวิถีของคนเมืองน่านได้


พร้อมกันนี้ในมุมมองของพระอาจารย์ ยังเห็นว่า การเข้ามาของ โครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เติมเต็ม การทำงานของพื้นที่ที่ยังขาดแคลนทรัพยากร โดยเฉพาะเรื่องพัฒนาศักยภาพของเยาวชน ด้วยมองเห็นว่า ปัจจุบันสถานการณ์ของจังหวัดน่านกำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ โดยเฉพาะปัญหาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ที่ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว


เมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ชวนทำโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน เห็นว่าเป็นโอกาสดีจึงอยากชวนเด็กและเยาวชนมาเรียนรู้เพื่อให้เขามี "หลักคิด" ในการดำเนินชีวิต และถือเป็น "กุศโลบาย" ที่ต้องการให้เยาวชนเป็นสะพานเชื่อมไปสู่ผู้ใหญ่


เพราะปัญหาที่จังหวัดน่านเผชิญอยู่ขณะนี้ การขับเคลื่อนในวงผู้ใหญ่มักไม่ได้ ผลตอบรับเท่าที่ควร จึงคิดให้เยาวชนซึ่งเป็นลูกหลานช่วยสื่อสารไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองแทน อีกทั้งยังมองว่า การปลูกฝังทักษะต่างๆ ตั้งแต่วัยเด็กสามารถทำได้ง่าย โดยคาดหวังว่า กระบวนการดังกล่าวจะช่วยสร้างสำนึกรักบ้านรักเมืองจนติดตัวไปจนเป็นผู้ใหญ่ และท้ายสุด จะทำให้ชุมชนมีแกนนำ ผู้นำ หรือสมาชิกที่ดี มาช่วยขับเคลื่อนเมืองน่านให้น่าอยู่ต่อไป


และด้วยความเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมว่า หน่อกล้าเหล่านี้จะกลายเป็นหนึ่งแรงสำคัญในการพัฒนาเมืองน่านให้เป็นไปตามวิถีของคนเมืองน่านอย่างแท้จริง พระครูสุจิณนันทกิจ จึงพยายามเพาะบ่มเพาะต้นกล้าเหล่านี้ไปทั่วทุกมุมเมืองของจังหวัดน่าน ผ่านโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน เพื่อสร้างให้เด็กและเยาวชนได้เกิดการเรียนรู้ และตระหนักถึงคุณค่าของชุมชนของตนเอง รู้จักตนเองผ่านการทำโครงการ เพื่อให้เขาได้รัก และหวงแหนผืนแผ่นดินที่ตนอยู่


อาจกล่าวได้ว่า นอกจากต้นกล้าของพืชพรรณที่จะมาช่วยทำให้เมืองน่านไม่เป็นภูเขาหัวโล้นแล้ว พระครูสุจิณนันทกิจยังมองว่า หน่อเนื้อของคนเมืองน่านเองก็สำคัญไม่น้อย ไปกว่ากันที่จะช่วยกันบ่มเพาะและปลูกจิตสำนึก ความเป็นพลเมืองเยาวชนของจังหวัดน่านกลับมาเป็นเมืองน่านอย่างแท้จริง เพราะการปลูกฝังหน่อกล้าที่มีค่ามากกว่าพรรณไม้ นั่นคือหน่อกล้าของเยาวชนที่จะหยั่งรากลึกสู่สำนึกพลเมืองนั่นเอง

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ