‘เพศ’ร่วมสมัยในชุมชนปกาเกอะญอ
"เรื่องเพศนี่คนปกาเกอะญอถือมาก ผู้ใหญ่จะไม่คุยให้เด็กฟังเลย กลัวเด็กรู้ แล้วเอาไปทำตาม"
สมศักดิ์ โหล่เจ ผู้ใหญ่บ้านห้วยหก ตำบล เวียงเหนือ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เล่าถึงมุมมองต่อเรื่องเพศที่ไม่เพียงเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับการสนทนา แต่สำหรับชาวปกาเกอะญอนับตั้งแต่อดีต ความสัมพันธ์ต้องดำเนินไปภายใต้กรอบประเพณี การมีเพศสัมพันธ์และตั้งครรภ์ก่อนการแต่งงานถือว่า "ผิดผี" และจะเป็นเหตุให้ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล หนุ่มสาวคู่นั้นต้องขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยการทำพิธีแห่รอบหมู่บ้าน ซึ่งหมายถึงการลงโทษให้อับอายกันไปทั้งครอบครัว
ตำบลเวียงเหนือ ตั้งอยู่บริเวณเหนือสุดของอำเภอปาย มีหย่อมบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้ง ปกาเกอะญอ มูเซอ อะข่า และอื่นๆ กระจายอยู่ทั่วไป หลายหมู่บ้านตั้งอยู่ห่างไกล การเดินทางยากลำบาก ชาวบ้านยังทำกินด้วยการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งยังรักษาวัฒนธรรมและความเป็นชุมชนไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
สิ่งที่ท้าทายชุมชนเก่าแก่ คือความคิดความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไปของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งค่านิยมเรื่องเพศ เนื่องจากเด็กและเยาวชนออกไปเรียนหนังสือและใช้ชีวิตนอกหมู่บ้าน เช่นเดียวกับเด็กในชุมชน ซึ่งรับรู้ความเป็นสมัยใหม่ผ่านอินเทอร์เน็ต ขณะที่พ่อแม่ยังไม่เข้าถึงและเท่าทันสิ่งเหล่านี้
"พ่อแม่ลงไปเยี่ยมลูกแค่วันหยุด นึกไม่ออกว่า ลูกมีชีวิตอย่างไรเวลาอยู่ในเมือง" สิทธิชัย กะนะ หนุ่มปกาเกอะญอที่ไปเรียนในเมืองตั้งแต่ชั้นมัธยมปลายจนจบมหาวิทยาลัย ก่อนจะกลับมาช่วยงานที่ อบต. เขาผ่านวัยเรียนมาระยะหนึ่ง จึงรู้ดีว่าเพื่อนๆ ในหมู่บ้านมีความคิดและการใช้ชีวิตไม่ต่างจาก วัยรุ่นในเมือง เมื่อจากบ้าน ทุกคนต้องอยู่หอพัก บางคนเช่าห้องกับแฟน อีกหลายคนพลาดพลั้งตั้งท้องทั้งที่ยังเรียนไม่จบ
"แชร์หอกันอยู่ อยู่ไม่ได้ก็เลิกกันไป แต่พอผู้ใหญ่รู้กลายเป็นเรื่องใหญ่ มีอะไรกันแล้วต้องแต่งงาน บางคนอยู่แค่ ม.2 ถูกจับแต่งงานก็ไม่ได้เรียนต่อ ถ้ามีแฟนแล้วเลิกไปมีคนใหม่ ผู้ใหญ่รับไม่ได้ สาปแช่ง มองว่าเป็นคนไม่ดีไปเลยก็มี" สิทธิชัย เล่าถึงการตัดสินคุณค่าเรื่องเพศจากความเชื่อคนละชุด ของคนต่างวัย
การเติบโตในบริบททางสังคมที่แตกต่าง ประกอบกับสิ่งที่ครอบครัวยึดถือว่าไม่พูดเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ ผู้หญิงผู้ชาย เพราะเกรงจะเป็นการชี้นำ ยิ่งทำให้ความเข้าใจกันลดลงทุกที ผู้ใหญ่ไม่รู้ความคิด ของคนรุ่นใหม่ ขณะที่เด็กเยาวชนไม่สามารถ ขอคำปรึกษาเพื่อการปฏิบัติตัว รวมทั้งเมื่อเกิดปัญหา
มุมมองใหม่ 'เพศเชิงบวก'
"กลุ่มแบ่งฝันปันใจ" กลุ่มคนทำงานด้านเด็กและเยาวชน ดำเนินโครงการเรื่องเพศ พูดได้-ด้วยความเข้าใจและเท่าทัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อมุ่งปรับทัศนคติเรื่องเพศของคนในชุมชน มาตั้งแต่ปี 2552
เป้าหมายคือการปรับทัศนคติเรื่องเพศของคนในชุมชนให้เป็นมุมมองเชิงบวก ได้แก่ การมองผู้ที่ประสบปัญหาเรื่องเพศว่า ไม่ใช่ "ตัวปัญหา" แต่พวกเขากำลังเผชิญปัญหา และการใช้วิธีสร้างความเข้าใจเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช่การบังคับหรือข่มขู่ ที่สำคัญ เรื่องเพศไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว หรือเรื่องในครอบครัว แต่ยังมีมิติของชุมชนและสังคม ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนในการสร้างสังคมที่เอื้อให้เด็กและเยาวชนดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นสุขและปลอดภัย
การทำงานให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือ ระหว่างคนและหน่วยงานในชุมชน เริ่มจากการปรับมุมมองเรื่องเพศ รวมทั้งเสริมทักษะการพูดคุยและให้คำปรึกษา ผ่านกิจกรรมการฝึกอบรม และการประชุมกลุ่มย่อย จนสามารถสร้างกลุ่มคนที่มีความ เข้าใจแนวคิดสุขภาวะทางเพศ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงาน ทั้งการจัดกิจกรรม และการนำแนวคิดไปปรับใช้กับงานในความรับผิดชอบ โดยตั้งเป็นคณะทำงานด้านเด็กและเยาวชน ซึ่งมีเสื้อทีมเป็นสีม่วง คนในชุมชนจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่า "คณะทำงานเสื้อม่วง"
สุจิตรา พาโข่ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) วัย 43 ปี หนึ่งในคณะทำงานเสื้อม่วง บอกว่า การ ร่วมงานกับแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ ทำให้เธอปรับทัศนคติและได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ สามารถนำไปเผยแพร่แก่คนในชุมชนตามหน้าที่ของ อสม. ทั้งเรื่องสุขอนามัยและการให้คำแนะนำปรึกษา
"ถ้าผู้ใหญ่ไม่คุย เด็กก็ไม่รู้เรื่อง เด็กออกจากหมู่บ้าน ไปอยู่กันเองก็ดูแลตัวเองไม่เป็น พ่อแม่เอาแต่ดุด่า เด็กไม่กล้าคุยด้วย" สุจิตรา มองว่าทางออก คือพ่อแม่ต้องฟัง เพื่อจะรู้ความคิดและสถานการณ์ ในชีวิตของลูก และจะได้ให้คำชี้แนะอย่างเหมาะสม ที่สำคัญต้องตระหนักว่าเด็กรุ่นใหม่อาจมีค่านิยมที่ต่างออกไป
"ถ้าเราเปิดใจ เด็กก็กล้าปรึกษา จะไปบอกเด็กว่าต้องใช้ชีวิตเหมือนสมัยพ่อแม่คงไม่ใช่ ถ้าเขาไปอยู่ในเมือง เพศสัมพันธ์เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ เด็กต้องรู้ว่าเขาจะดูแลตัวเองได้อย่างไร"
ชุมชนร่วมใจ แก้ไขปัญหา
ป้องกัน แต่ยังรวมถึงการแก้ไขปัญหา เมื่อปีที่ผ่านมา ในชุมชนเกิดกรณีวัยรุ่นตั้งครรภ์ไม่พร้อม พ่อแม่โกรธลูกสาวมากและอับอายไม่ยอมให้ใครเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่คณะทำงานเสื้อม่วงที่ประกอบด้วยคนจากหลายภาคส่วน พยายามช่วยเหลือครอบครัวนี้ด้วยบทบาทที่แตกต่างกันออกไป เริ่มจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่พาเด็กไปคลอดที่โรงพยาบาลปาย และ ยังตามไปทำความเข้าใจกับพ่อแม่เด็ก ขณะที่ผู้ใหญ่บ้านพยายามปรับมุมมองของครอบครัวและชุมชน รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวที่ประสบปัญหา
สุพร วงศ์ทวีหิรัญกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเมืองน้อย ยอมรับว่า หากไม่มีคณะทำงานเสื้อม่วง งานของเขาคงจบลงแค่การพาเด็กไปคลอดที่โรงพยาบาลใหญ่
"ตอนนี้ทำงานกันเป็นทีม พอเกิดปัญหา เรามาคุยกันว่าแต่ละคนจะทำอะไรได้บ้าง" ขณะที่ ณรงค์เดช อัมพร หัวหน้าสำนักงานปลัด อบต.เวียงเหนือ สมาชิกทีมเสื้อม่วง ยอมรับว่านี่เป็นครั้งแรกที่เขาได้ทำงานร่วมกับเกือบ ทุกหน่วยงานในพื้นที่เล็กๆ ซึ่งหลายหน่วยงานมีภารกิจที่คล้ายคลึงกัน ความร่วมมือจึงตอบโจทย์ของหน่วยงาน และทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
"บางพื้นที่อยู่ห่างไกล เจ้าหน้าที่เข้าไม่ถึง ข้อมูล แต่คณะทำงานเสื้อม่วงมีตัวแทนจากทุก หมู่บ้าน ทำให้เรารู้ปัญหา อย่างกรณีเด็กที่ท้อง ไม่พร้อม อบต.สามารถจัดงบจากกองทุนหลักประกันสุขภาพให้ได้"
ปรียากมล น้อยกร ผู้ประสานงานกลุ่มแบ่งฝันปันใจ บอกว่าการทำงานอย่างมีกระบวนการเพื่อปรับทัศนคติเรื่องเพศของคนในชุมชนให้เอื้อต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหา พิสูจน์แล้วว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง "แม้แต่พ่อเฒ่าซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มคนที่ต่อต้าน กลับบอกว่า ถ้าเราไม่คุยเรื่องเพศกับเด็ก เด็กจะไม่แข็งแรง เหมือนต้นไม้ที่ไม่ได้รับการดูแล และพยายามชักชวนให้คนในชุมชนหันมาคุยเรื่องนี้กับเด็กมากขึ้น" ไม่เพียงการนำแนวคิดเพื่อปรับใช้ในการ
สำหรับชุมชนในตำบลเวียงเหนือ การพลิก มุมมองเรื่องเพศ จากการเป็นเรื่องต้องห้าม ให้กลายเป็นการจุดประกายความร่วมมือร่วมใจของทุกคน จึงช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนเก่าแก่ แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย พงศธร ชมพูนุทยรรยง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต