เพราะเฒ่าที่ไม่เท่ากัน จึงจำเป็นต้องเท่าทันสื่อ

                    อุทาหรณ์ในโลกออนไลน์ ไม่ใช่แค่ “เรื่องบอกเล่า” หรือ “แชร์และส่งต่อ” แต่ต้องไหวตัว และเท่าทัน มิจฉาชีพที่เข้ามาเนียน ตีสนิท ใช้ช่องว่างเทคโนโลยีที่เยาวชนและผู้สูงวัยอาจรู้ไม่ทัน หาประโยชน์ กลายเป็นเหยื่อ ทั้งกดคลิ๊ก จากเงินเกษียณนอนอยู่ในบัญชีธนาคารไม่เดือดร้อน หายวับกลายเป็นยาจกโดยไม่รู้ตัว หรือเยาวชนหวังเป็นดาราถูกหลอกให้โชว์ภาพ สุดท้ายกลายเป็นดาวโป๊ในออนไลน์และถูกข่มขู่

                    การเสวนา “แนวทางการสร้างการรู้เท่าทันสื่อเพื่อสุขภาวะในสังคมไทย” นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า จากข้อมูลการใช้อินเตอร์เน็ตของประชากรไทย พบว่า มีความสามารถในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต 88% โดยในจำนวนนี้ 98% เป็นการใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือ และมีอัตราการใช้ต่อวันมากถึง 7-8 ชั่วโมง ส่วนใหญ่ใช้เพื่อความบันเทิง ดูทีวี เกม หรือท่องโซเชียลมิเดีย และพบว่าในการใช้อินเตอร์เน็ต มีความเสี่ยงต้องเผชิญกับ fake news ที่ระบาด คาดว่าในอีก 2 ปี ข้างหน้า ภัยคุกคามเรื่อง fake news ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 และต่อเนื่องยาวนานไปอีก 10 ปี

                    “fake news ทำให้เกิดอุบายเยอะในการหลอกคน โดยพบว่าปัจจุบัน วังวนของกระบวนการหลอกทางออนไลน์ หรือมิจฉาชีพทางออนไลน์นั้น มีมากถึง 36 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเหยื่อหรือผู้เสียหายถึง 18 ล้านคน และมีมูลค่าความเสี่ยงหายมากถึง 4,000 ล้านบาท” นางญาณี กล่าว

                    นอกจากนี้ นางญาณี ยังกล่าวด้วยว่า ข้อมูลจาก HITAP และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า  ตั้งแต่ ปี 2565 พบคดีล่วงละเมิดเด็กทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งการนำเข้าสื่อลามก อนาจารเด็ก ล่อลวงทางเพศ หลอกให้เงิน ชวนเป็นดารา แต่สุดท้ายให้เด็กแก้ผ้าเปิดกล้อง ซึ่งเมื่อมีการสำรวจพบว่า มีคนมากถึง 44% ต้องการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการเท่าทันสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่รูปแบบการรู้เท่าทันสื่อ ต้องประกอบด้วยไป ทักษะเท่าทันสื่อ ที่มีความรับผิดชอบ ต่อตนเอง  อยู่บนฐานจริยธรรม  และสร้างการมีส่วนร่วมที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

                    “สิ่งสำคัญในวันนี้ต้องสร้างระบบนิเวศน์ของสังคมออนไลน์ ให้เป็นเหมือนสายน้ำ ทำอย่างไรให้น้ำใส สะอาด ดังนั้นต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เติบน้ำดี เติมเรื่องราวดีๆ ลงไปในโลกออนไลน์ ให้เป็นช่องทางและทางเลือกที่ดีแก่คนทุกกลุ่ม การจะโพสต์ จะแชร์ จะส่งต่อ ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อตนเอง และคำนึงถึงกฎหมายและหากไม่แน่ใจในข้อมูลให้ใช้หลักหยุดคิด ถาม ทำ เสมอ” นางญาณี กล่าว

                    นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อดีตอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และนายกสมาคมคลังปัญญาอาวุโสแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันแทบจะไม่มีใครไม่ใช้อินเตอร์เน็ต โดยพบผู้สูงอายุประมาณ 13 ล้านคน หรือ 20% ใช้สื่ออินเตอร์เน็ต มากถึง 50.8 % และเป็นการรับสื่อมากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน และถูกล่อลวงทางอินเตอร์เน็ตถึง 80% แต่จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัย ครอบครัวช่วย เพราะว่าผู้สูงอายุมักเปิดรับสื่อด้วยตัวเอง และมักคิดเสมอว่าตัวเองไม่น่าจะมีปัญหา ทั้งที่ความเป็นจริงระบบการคิด วิเคราะห์ ของผู้สูงวัย ในโลกออนไลน์อาจมีไม่มาก จึงเป็นสาเหตุให้ถูกหลอกได้ง่าย ซึ่งความจริงแล้วกลไกปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวช่วยได้ ไม่ให้ผู้สูงอายุถูกหลอก ลูกหลานอาจเข้าไปช่วยแนะ สอน และให้ระมัดระวัง

                    ข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งสำรวจเมื่อปี 2566 พบ ผู้สูงอายุมักถูกหลอกทาง เฟสบุ๊ค 44% รองลงมาถูกหลอกทางไลน์ 34% และถูกหลอกทางอินสตราแกรม 5% ส่วนใหญ่เป็นการถูกหลอกให้สั่งซื้อสินค้า และเมื่อไม่ระวังท้ายสุด ถูกหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล เป็นสาเหตุให้ต้องเสียเงินเก็บไว้ใช้ยามเกษียณ ทำให้ผู้สูงอายุบางคนเครียดถึงกับเป็นซึมเศร้า

                    “เกราะและภูมิคุ้มกันที่ดีของผู้สูงอายุ คือปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว บุตรหลาน มีส่วนสำคัญในช่วยเหลือผู้สูงอายุในบ้านให้พ้นจากภัยออนไลน์ ด้วยการใส่ใจ สนใจ สอบถาม หรือช่วยสอน ช่วยแนะ เพียงแต่ช่วงอายุที่ห่างกัน คนละวัย การพูดคุยอย่าใช้อารมณ์ จู้จี้ ขี้บ่นไม่ได้ คนสอนต้องใจเย็น เพราะความหวังดีของเด็กในการสอนที่เร็วและมีทักษะมากกว่า เพราะใช้ในชีวิตประจำวัน ผู้ใหญ่อาจตามไม่ทัน” นายเลิศปัญญา กล่าว

                    สอดคล้องกับข้อมูลของ นางสาวกรพินธุ์ ศรีศศินานนท์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  6 โรงเรียนเทพศิรินทร์นนทบุรี กล่าวว่า สถานการณ์การใช้อินเตอร์เน็ตของเด็กและเยาวชนกับผู้ใหญ่ 8 ชั่วโมงเท่ากัน  การได้อยู่หน้าจอตามลำพัง เหมือนมีความเป็นส่วนตัวแต่จริงๆ แล้วภัย หรือความเสี่ยงย่อมมีเพิ่มขึ้นกว่าผู้สูงอายุได้หลายเท่าตัว เนื่องจากเด็กมีทักษะด้านเทคโนโลยีมากผู้ใหญ่ ทำให้กดหรือคลิ๊กอะไรได้ง่ายหรือเร็ว ไม่ได้ยั้งคิด และรูปแบบการล่อลวงในเยาวชนมักแฝงกับเกม การแจกสกิล หรือสิ่งล่อใจที่อยู่ในความสนใจของเยาวชนในขณะนั้น

                    ดังนั้นภัยออนไลน์ที่เยาวชนกับเผชิญในวันนี้ ไม่ว่าจะพนันออนไลน์ หรือบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่รูปแบบ ที่เดิมๆ ครูเคยสัมผัส ไม่มาเป็นสำรับไพ่ที่ตรวจแถวแล้วเจอเหมือนในอดีต แต่ทุกอย่างไปอยู่ในโลกออนไลน์ หมดแล้ว การเข้าไปตรวจสอบของครูก็อาจเป็นการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคล

                    “ปัจจุบันเยาวชนนิยมรับข้อมูลจาก ติ๊กต๊อก มากกว่า เพราะด้วยรูปแบบที่เป็นคลิปวิดิโอสั้น ทำให้แต่ละวันได้รับข้อมูลแทบเป็นล้านๆ คอนเท้นท์ สนใจอะไรก็คลิ๊กดูเพิ่ม และเด็กสมัยนี้ไม่มีใครนิยมออนเฟสบุ๊กแล้ว เพราะมองว่าเป็นสื่อของคนมีอายุ แต่สมัครไว้เพื่อส่องเรื่องราวอื่นๆ แทน มักมีแอคเค้าท์หลุมเพื่อปิดบังตัวตนที่แท้จริง และมักใช้ตัวตนแฝงนี้ไปทำกิจกรรมอื่น อาจส่งผลร้ายให้ถูกล่อลวงทางเพศ” นางสาวกรพินธุ์ กล่าว

                    ด้าน ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.)  กล่าวว่า ทุกวันนี้เรื่องราวการ ล่อลวง หลอก ในระบบออนไลน์ เป็นข่าวไม่เว้นแต่ละวัน กระบวนการส่งเสริมป้องกันให้รู้เท่าทันสื่อ ยังต้องทำไปอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการสร้างกำลังใจให้กับคนทำงาน จึงได้มอบ รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติประเภทบุคคล องค์กรภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ที่ช่วยกันสร้างการรู้เท่าทัน ให้ผู้ใช้สื่อรับมือกับภัยออนไลน์หลากหลายรูปแบบได้อย่างปลอดภัย ประกอบด้วย

                    รางวัลการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และการรู้เท่าทันสื่อประเภทบุคคลดีเด่นระดับรางวัลโล่เกียรติยศได้แก่ พลตำรวจตรีนิเวศน์ อาภาวศิน รอง.ผบช.สอท.

                    รางวัลการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และการรู้เท่าทันสื่อประเภทสถานศึกษาดีเด่นระดับรางวัลโล่เกียรติยศผู้ได้รับรางวัลได้แก่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี

                    รางวัลการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และการรู้เท่าทันสื่อประเภทประเภทองค์กรภาครัฐ ดีเด่นระดับรางวัลโล่เกียรติยศผู้ได้รับรางวัลได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 3

                    รางวัลการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และการรู้เท่าทันสื่อประเภทภาคประชาสังคมดีเด่นระดับรางวัลโล่เกียรติยศผู้ได้รับรางวัลได้แก่ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย

                    กระบวนการรู้เท่าทันสื่อ ไม่สามารถทำสำเร็จได้ข้ามวัน ต้องค่อยๆ เติมทักษะ เสริมความรู้ ในกรณีสูงวัย ก็เหมือนกับการกลับสู่การเป็นเด็กอีกครั้ง ตั้งไข่ให้มั่น และย่างก้าว ส่วนเยาวชน อย่าใจเร็ว ตามเทคโนโลยี เพราะของฟรี หรือ อะไรที่ง่ายจนเกินไปแทบไม่มีในโลก แต่ในทุกกลุ่มวัยต้องช่วยกันเติมสิ่งดี สร้างสรรค์ลงไปในระบบออนไลน์ ช่วยสร้างระบบนิเวศน์ และสิ่งแวดล้อมที่ดี

Shares:
QR Code :
QR Code