เพราะมีป่า จึงมีน้ำ ให้ชีวิตได้สืบต่อ
จากถนนสายหลักในตำบลวังใหม่ อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี ที่ตัดผ่านหมู่บ้านต่างๆ ทั้ง 10 หมู่บ้าน จะมองเห็นแนว เทือกเขาทลายซึ่งทอดขนานไปกับถนนตลอดทั้งเส้น จนไปจรดกับถนนสุขุมวิท ปากทางเข้าสู่ตำบลวังใหม่ก่อน ถึงแยกหนองสีงา
ปัจจุบัน “อดีตผู้ใหญ่สมคิด ศิลปเวช” เป็นแกนนำกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาทลาย ที่มองเห็นเขียวขจีแบบนั้น ใครจะเชื่อว่าครั้งหนึ่งโล้นเลี่ยนไม่งดงาม โดยอดีตผู้ใหญ่สมคิดเล่าให้ฟังว่า แกนนำสำคัญที่มีส่วนในการผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์ป่าเขาทลายขึ้น ก็คือ หลวงพ่อใช่ สุชีโว หรือพระครูวิสุทธฺสังวร
“เริ่มจากหลวงพ่อใช่นั่นแหละ เป็นคนชวนบอกผู้ใหญ่ต้องทำอะไรสักอย่างแล้วนะ ป่ามันจะไม่เหลือแล้ว พระเดือดร้อน ชาวบ้านก็เดือดร้อน” อดีตผู้ใหญ่สมคิดเล่า
จุดเริ่มแรกของกลุ่มอนุรักษ์ป่าไม้ชุมชน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นยุคที่กรมป่าไม้เปิดให้บริษัทค้าไม้เข้ามาทำสัมปทานป่าเขาทลาย
“ทีแรกก็ไม่สนใจกันหรอก จนเมื่อเห็นว่า เขาเริ่มโล้นน้ำที่เคยมี มันไม่มีน้ำ นี่สำคัญมากนะ ต่อการทำสวน ไม่มีน้ำ สวนนี่ตายเลย พอเห็นอย่างนั้นเราก็เริ่มรณรงค์ ทำให้ชาวบ้านเห็นก็มี ทั้งที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ตามประสาคน แต่ส่วนใหญ่ที่เอาด้วย ก็เพราะมันเป็นประโยชน์ต่อเขา เราก็ทำเรื่อยมาจนทุกวันนี้ ป่าเขาทลายก็กลับมาเต็มเหมือนเดิมไม่โล้นแล้ว” อดีตผู้ใหญ่สมคิดเล่า
ผู้ใหญ่สมคิดเล่าต่อว่า สมัยก่อน ช่วงที่ยังมีการให้สัมปทานกัน จะเห็นเปลวไฟลุกโชนบนเขาทลายขึ้นมากลางความมืดบนยอดเขาสม่ำเสมอไฟจากธรรมชาติบ้าง การละเลยบ้าง
“ยุคนั้นการทำไม้เป็นล่ำเป็นสันมีรถแทรคเตอร์ไถขึ้นไป ไสไม้เป็นท่อนๆ ลงมา พอชาวบ้านรู้ก็เกณฑ์คนไป จับเกิดเป็นปัญหา ระหว่างชาวบ้านกับบริษัทรับสัมปทานป่า”
จากปีก่อตั้ง พ.ศ. 2527 ลุถึงปี 2532 หลังการรวมตัวกันของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาป่าไม้ ที่ถูกเผาทำลายไปเนื่องจากไฟป่าบ้างการสัมปทานบ้าง สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ป่าไม้ ชุมชนเขาทลายจำนวน 220 คน ก็ร่วมกันรณรงค์ให้ชาวบ้านในพื้นที่ และชุมชนใกล้เคียงทั้ง จากตำบลวังใหม่ตำบลนายายอาม และชาวบ้านจากอำเภอแก่งหางแมวหยุด การทำลายป่าไม้เขาทลาย อีกทั้งยังจัดเขตแนวป่าสงวนอย่างชัดเจนมีการจัดตั้งเวรยาม โดยอาสาสมัครที่เป็นผู้ชายทำการเดินป่า เพื่อระแวดระวังไฟป่า และผู้ไม่หวังดีจากนอกพื้นที่ที่จะเข้ามาทำลายป่าเขาทลายรวมถึงการปลูกป่าทดแทนเพิ่มขึ้นกว่า 140 ไร่
ติดตามอ่านเรื่องราว “เพราะมีป่า จึงมีน้ำ ให้ชีวิตได้สืบต่อ” ฉบับเต็มได้ที่ เว็บไซต์ “ปันสุข”
ที่มา : สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3)