เพชรบุรี ต้นแบบเมืองวัฒนธรรม
ผลการศึกษามากมายในต่างประเทศบ่งชี้ว่าการสร้างพื้นที่ที่มีสุขภาวะที่ดี จะช่วยทำให้คนในชุมชนมีสุขภาวะที่ดี และการมีพื้นที่สุขภาวะที่ดีสามารถทำให้ลดโรคความเสี่ยงได้ถึง 25%
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส.กล่าวถึงสถานการณ์สุขภาพของคนไทยในระหว่างการเสวนาวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะชุมชน ซึ่งจัดโดย สถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ปัจจุบันพบว่าคนไทยมีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 40 กว่าของคนไทยมีภาวะเนือยนิ่งหรือการขยับร่างกายต่ำมากซึ่ง สสส.จึงเชื่อว่าพื้นที่สุขภาวะจะเป็นคำตอบของการแก้ปัญหาเรื่องนี้ จึงได้เริ่มส่งเสริมผลักดันการดำเนินงานโครงการเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งปีนี้ สสส.ได้ดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะมาเป็นปีที่ 6 แล้ว และจากการดำเนินการ ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะมาโดยตลอด เช่นเดียวกับในครั้งนี้ ที่ได้มีการนำพื้นที่ต้นแบบ 4 แห่ง ได้แก่ โครงการย่านจีนถิ่นบางกอก โครงการส่งเสริมสุขภาวะ (พื้นที่สร้างสรรค์) ชุมชนริมน้ำจันทบูร การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อการมีชีวิตที่สร้างสรรค์เขตเทศบาลเมืองโพธาราม จ.ราชบุรี และโครงการเสริมสร้างสุขภาวะเพื่อสร้างรูปธรรมของพื้นที่สร้างสรรค์ Healthy Space (จ.เพชรบุรี) มาร่วมเปิดประสบการณ์ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างกัน
สำรวจ "คุณคำเมืองเพชร"
สำหรับโครงการแรกที่มีการนำเสนอในเวทีครั้งนี้ คือ โครงการเสริมสร้างสุขภาวะเพื่อสร้างรูปธรรมของพื้นที่สร้างสรรค์ Healthy Space (จ.เพชรบุรี)
เนื่องจาก "เพชรบุรี" เป็นจังหวัดที่มีต้นทุนทางศิลปะวัฒนธรรมสูง ด้วยความเป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ สสส.และสถาบันอาศรมศิลป์ ภาคีเชิงยุทธศาสตร์ของ สสส.ได้ลงไปดำเนินโครงการที่เพชรบุรี ขับเคลื่อนในด้านพื้นที่วัฒนธรรมในชุมชน "เบื้องต้นจากการเข้าไปพูดคุยกับคนในพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการทำให้ได้พบว่าที่นี่ไม่ได้โดดเด่นเฉพาะด้านศิลปะวัฒนธรรม แต่มีภูมิปัญญาและวิถึ่ชีวิตที่น่าสนใจที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย"
อิสริยา ปุณโณปถัมภ์ สถาปนิกชุมชน สถาบันอาศรมศิลป์ เล่าถึงผลจากการเข้าไปศึกษาพื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรี พร้อมกล่าวต่อว่าความเป็นเมืองเก่าทางวัฒนธรรม ทำให้ สสส.และสถาบันอาศรมศิลป์ ในฐานะภาคีเชิงยุทธศาสตร์ของ สสส.มองเห็นว่า เพชรบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีศักยภาพเป็นพื้นที่ต้นแบบที่สร้างสรรค์ด้านวัมนธรรมชุมชนจึงได้เริ่มดำเนินการเข้าไปศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพและร่วมวางแผนพัฒนาพื้นที่ร่วมกับชุมชนในพื้นที่เขตเมืองเก่าเพชรบุรี ผ่านโครงการเสริมสร้างสุขภาวะเพื่อสร้างรูปธรรมของพื้นที่สร้างสรรค์ Healthy Space (จ.เพชรบุรี) มาตั้งแต่ปี 2555
โดยได้นำเรื่องประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของเพชรบุรีที่มีอยู่มาต่อยอด และนำมาใช้ประโยชน์ต่อสังคมชุมชนเพชรบุรี ในปัจจุบัน ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและสังคม และส่งเสริมให้เป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมหรือพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเรียนรู้วิถีชุมชน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมจิตสำนึกชุมชนของคนในพื้นที่
จุดประกายด้วยสื่อสร้างสรรค์เยาวชน
ซึ่งด้วยลักษณะพื้นที่มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง จึงทำให้พื้นที่นำร่องที่เข้าไปดำเนินโครงการเป็นพื้นที่ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีสองด้าน คือ พื้นที่ที่ชุมชนชาวกระแชงกับพื้นที่ตลาดริมน้ำ ซึ่งในด้านการทำงานสถาบันอาศรมศิลป์ได้ดำเนินการ 4 ประเด็นหลัก คือการสร้างเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนโครงการ การสื่อสารคุณค่าของเมืองเพชร การสร้างกลุ่มกิจกรรมเยาวชนที่สนใจเรื่องเมืองและกระบวนการออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์อย่างมีส่วนร่วมโดยเริ่มจากกิจกรรมและการดำเนินการโครงการส่งเสริมให้เด็กเยาวชนในพื้นที่จัดทำสื่อสร้างสรรค์ต่างๆ มากมายกว่า 17 ชุด ขณะเดียวกันการดำเนินการออกแบบพื้นที่ มีการสำรวจความคิดการพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำร่วมจัดตั้งศูนย์ข้อมูลชุมชนที่ศาลา และฟื้นฟูและออกแบบพื้นที่พักผ่อนริมน้ำให้กลับมาอีกครั้ง
"สร้างกิจกรรม" สร้างกลยุทธ์การมีส่วนร่วม
ในระยะแรก โครงการพบปัญหาไม่ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน ซึ่ง ปภังกร จรรยงค์ ในฐานะแกนนำชุมชนคลองกระแชง จึงมีแนวคิดจัดกิจกรรมชุมชนขึ้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้คนในพื้นที่ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้กลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ช่วยเกิดความร่วมมือเป็นอย่างดี
"แทนที่การเดินเข้าไปเคาะประตูเชิญชวนแต่ละบ้าน ได้เปลี่ยนเป็นการจัดกิจกรรมในชุมชนชื่อ "กิจกรรมชมตลาดย่านเก่า เล่าเรื่องถนนวัฒนธรรม" ซึ่งเราชักชวนทุกคนมาร่วมทำโคมไฟหน้าบ้าน และนำมรดกวัฒนธรรมชุมชนจากอดีตเช่น หนังใหญ่ มาสร้างเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมอัตลักษณ์ของชุมชนกลับมาอีกครั้ง"
ซึ่งจากความสัมพันธ์คนในพื้นที่สองฝั่งที่มีการเชื่อมโยง ได้เกิดเป็นความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง แต่เดิมที่เริ่มมีการพบปะสังสรรค์กันน้อยปัจจุบันมีการเชื่อมสะพานระหว่างสองชุมชน และปภังกรยังได้นำกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงพื้นที่วัฒนธรรมมาเป็นกลไกลที่ช่วยสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ของคนในชุมชน ให้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมและสิ่งที่ตนเองมีอยู่ในชุมชนอีกด้วย
"เจ้าของพื้นที่" ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง
จากความร่วมมือกันต่อมาได้ถูกต่อยอดให้ชุมชนมีโอกาสขับเคลื่อนกิจกรรมด้วยตัวเอง ซึ่งได้กลายเป็นที่มาของกิจกรรม "ลอยกระทงอินดี้ เซลฟี่สุดฟิน เช็คอิน" การจัดประเพณีงานลอยกระทงที่เป็นทางเลือกใหม่ให้นักท่องเที่ยว
"เราหาจุดสนใจใหม่ของการจัดงานโดยไม่ประกวดกระทง แต่เราจัดการประกวดแบ็คดรอปถ่ายภาพโดยชวนนักเรียนศิลปะและภาคีในชุมชนมาช่วยออกแบ็คดรอป ซึ่งไม่เพียงได้ความแปลกใหม่ แต่ยังช่วยดึงเป้าหมายที่เป็นเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมกลับมาในชุมชนเราด้วย"
ปภังกร เปิดเผยว่าความสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวนี้ ยังเกิดจากการนำประโยชน์ด้านโซเชียลเน็ตเวิร์คมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินการของคณะทำงาน โดยมีการตั้งเพจเฟสบุ๊คเพื่อให้สื่อสาร พูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน การประชุมผ่านทางไลน์กลุ่ม เป็นต้น
ผลจากการใช้กิจกรรสื่อสร้างสรรค์และการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมมาเป็นกลไกในการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการกว่า 3 ปี ส่งผลให้คนในพื้นที่ลุกขึ้นมาร่วมกันพัฒนา ตลอดจนมีบทบาทในการร่วมฟื้นฟูพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดการขยายผลไปสู่ชุมชนใกล้เคียง ได้แก่ ย่านวัดเกาะ ชุมชนเก่าแก่ริมน้ำใจกลางเมืองเพชร ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการขยายอาณาจักรพื้นที่สุขภาวะใน จ.เพชรบุรี ให้ยิ่งขยายวงกว้างออกไปอีก
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก