“เพชรบุรี ดีจัง” ต้นแบบเมืองสื่อสร้างสรรค์
สสส. ชู “เพชรบุรี ดีจัง” ต้นแบบเมืองสื่อสร้างสรรค์ โชว์ชุมชนติดยิ้ม วัดยิ้ม ถนนยิ้ม ทั้งเมืองเรืองแสง ปลุกเมืองเพชรมีชีวิตชีวาเจิดจ้าด้วยศิลปะ วัฒนธรรม ชี้ช่วยลดปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงของเด็กและเยาวชน
เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ จ.เพชรบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เทศบาลเมืองเพชรบุรี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัด “งานมหกรรมพื้นที่สร้างสรรค์เพชรบุรี…ดีจัง ทั้งเมืองเรืองแสง” ระหว่างวันที่ 17-19 มกราคม 2557 ณ ลานแสดงโขน สี่แยกอรุณประดิษฐ ต.คลองกระแชง อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี โดยมีนายมณเฑียร ทองนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เป็นประธานในพิธี นอกจากนี้ยังมีพิธีเปิดถนนชุมชนติดยิ้ม ณ ซุ้มทางเข้าสามแยกวัดสระบัว ถนนคีรีรัถยาด้วย
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. กล่าวว่า เมืองสื่อสร้างสรรค์ คือ เมืองที่มีการจัดการ คน ชุมชน และบริบทแวดล้อม ที่เอื้อให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศวัยให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีสุขภาวะในทุกมิติ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา สำหรับการสื่อสารที่สร้างสรรค์นั้น ต้องเป็นการสื่อสารที่ เท่าทันตนเอง เท่าทันสื่อ เท่าทันสังคม โดยใช้หลักการ 3 ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี โดยที่ผ่านมาภาคีเครือข่ายและ สสส. ได้เริ่มทำงานในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน สุรินทร์ และเพชรบุรี ซึ่งได้ร่วมประกาศเป็นหนึ่งในทิศทางหลักในปฏิญญาภาคี สสส. ปี 2556
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวต่อว่า สำหรับจังหวัดเพชรบุรี เป็นจังหวัดต้นแบบของการขับเคลื่อนเมืองสื่อสร้างสรรค์ ที่เริ่มจากพื้นที่สร้างสรรค์เล็กๆ ดำเนินงานโดยของกลุ่มเยาวชนไม่กี่กลุ่ม ขยายครอบคลุมไปถึง 36 กลุ่ม ทั่วทั้ง 8 อำเภอ โดยได้ดึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนมาร่วมขับเคลื่อน เพชรบุรีดีจัง ทั้งเมือง และกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์ในการสร้างสุขภาวะของเด็ก เยาวชน ครอบครัว และชุมชน
“งานมหกรรม “เพชรบุรีดีจัง” ถือเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมาร่วมขยายแนวคิดเรื่องเมืองสื่อสร้างสรรค์ไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยในพื้นที่เราเริ่มจากเครือข่ายเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะของเมือง เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวของชุมชน ขณะเดียวกันผู้ใหญ่เห็นศักยภาพของเด็กมากขึ้น จนเด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง และยังสามารถลดปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงของเด็กและเยาวชนได้” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว
นายจำลอง บัวสุวรรณ ผู้ประสานงานโครงการเพชรบุรี…ดีจัง กล่าวว่า เครือข่ายเพชรบุรี…ดีจัง ได้ดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 รณรงค์ให้จังหวัดเพชรบุรีเป็นต้นแบบการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ ด้วยการนำสื่อศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาจัดกิจกรรมให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ ผ่านซุ้มกิจกรรมแบบมีส่วนร่วมรูปแบบต่างๆ และการแสดงศิลปะพื้นบ้าน โดยปีนี้ใช้ชื่องานว่า “เพชรบุรี…ดีจัง ทั้งเมืองเรืองแสง” สื่อสารให้เห็นถึงความมีชีวิตชีวาของเมืองเพชรบุรี ที่เจิดจรัสด้วยศิลปะ วัฒนธรรม และชุมชนได้ร่วมกันปลุกเมืองเพชรบุรีที่เงียบเหงาให้เปล่งประกายสร้างความสุข และรอยยิ้มแก่ผู้มาร่วมงาน
นายจำลอง กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรมภายในงานเพชรบุรี…ดีจัง ทั้งเมืองเรืองแสง แบ่งเป็นช่วงกลางวัน และกลางคืน เช่น กิจกรรมล่องไปในสายน้ำเพชร ล่องเรือชมวิถีชีวิตริม 2 ฟากฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี กิจกรรมพระนครคีรี… ดีจัง กิจกรรมถนนนักอ่าน เพชรบุรี…ดีจัง ติดยิ้มจากภูเขาถึงทะเล รวมสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนของเครือข่ายเพชรบุรี… ดีจัง ทั้ง 8 อำเภอ ของเพชรบุรี ชมการแสดงทางวัฒนธรรมพื้นบ้าน ละครชาตรี โขน กลองยาว เพลงพื้นบ้าน รวมถึงการแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ไทยทรงดำ ไทยรามัญ สนุกกับซุ้มกิจกรรมแบบมีส่วนร่วมกว่า 30 ซุ้ม เป็นต้น
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข