เฝ้าระวังไข้หวัดนก เตือนเกษตรกรดูแลสุขภาพสัตว์ปีก

/data/content/19484/cms/aefmowxyz345.jpg

กรมปศุสัตว์ เผยติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารโรคไข้หวัดนกอย่างใกล้ชิด รวมทั้งดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันอย่างต่อเนื่องและเข้มงวดอยู่แล้ว แต่ความเสี่ยงของโรคไข้หวัดนกที่ระบาดอยู่ ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกให้หมั่นดูแลสุขภาพสัตว์ปีก

นายทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวพบทหารเกณฑ์ป่วยเป็นโรคไข้หวัดนกชนิดใหม่ H1N1 และเสียชีวิต เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมานั้น โดยข้อเท็จจริงแล้ว จากการเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผลตรวจวินิจฉัยยืนยันว่า ตรวจพบเชื้อไข้หวัดใหญ่ H1N1 มิใช่โรคไข้หวัดนกแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ได้ติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด รวมทั้งดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่องและเข้มงวดอยู่แล้ว แต่ความเสี่ยงของโรคไข้หวัดนกที่ระบาดอยู่ อาจมีโอกาสแพร่ระบาดมายังประเทศไทยได้ทางเป็ดอพยพ หรือนกธรรมชาติที่บินเข้ามาสู่ประเทศไทย หรือการลักลอบนำสัตว์ปีกเข้ามาตามบริเวณแนวชายแดนผ่านทางประเทศเพื่อนบ้าน

ดังนั้น กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชในการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและเก็บตัวอย่างอุจจาระและซากของเป็ด นกอพยพ และนกธรรมชาติในแหล่งที่นกอาศัยอยู่ทั่วประเทศ หากพบว่ามีนกตายผิดปกติ หรือพบเชื้อโรคไข้หวัดนกให้เข้าควบคุมโรคในพื้นที่ทันที และได้สั่งให้ด่านกักสัตว์ตามแนวชายแดนทุกด่านร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทหาร ตำรวจ ศุลกากรเข้มงวดตรวจสอบบุคคลเข้าออกต้องไม่มีการนำสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกเข้ามาในประเทศ พร้อมทั้งพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะเข้า-ออก ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ รถเข็น ตลอดจนบุคคลที่เดินเท้าเข้ามา หากพบการกระทำผิดจะจับกุมดำเนินคดีและทำลายสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกทันที

ท้ายนี้กรมปศุสัตว์ จึงขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกให้หมั่นดูแลสุขภาพสัตว์ปีกของตน เนื่องจากปัจจุบันเป็นช่วงมีอากาศแปรปรวน ควรจัดให้มีเล้าหรือโรงเรือนสำหรับสัตว์ปีกนอนในตอนกลางคืน สามารถป้องกันพาหะนำโรคระบาดสัตว์ได้ อีกทั้งยังง่ายต่อการดูแลสุขภาพอีกด้วย นอกจากนี้ควรเสริมวิตามินและแร่ธาตุ รวมทั้งถ่ายพยาธิภายนอกและภายในตามโปรแกรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สัตว์ปีกมีสุขภาพแข็งแรง

หากพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติ ไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ปศุสัตว์ตำบล อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารงานส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ทันที หรือแจ้งสายด่วนของกรมปศุสัตว์ที่โทร. 0-8566-09906 เพื่อดำเนินการควบคุม ป้องกันโรคมิให้แพร่ระบาดได้ทันท่วงที อย่านำสัตว์ปีกไปประกอบอาหารหรือโยนทิ้งน้ำ ให้ทำการฝังหรือเผาตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code