เฝ้าระวังสนามบิน-แหล่งเที่ยวหวั่นเชื้อไข้สมองอักเสบแพร่

กรมวิทย์ฯ เฝ้าระวังยุงพาหะโรคไข้สมองอักเสบเวสต์ไนล์ ตามสนามบิน แหล่งท่องเที่ยว หลังสหรัฐมีผู้เสียชีวิตกว่า 200 ราย แถมเกิดจากยุงพาหะชนิดเดียวกับที่มีในไทย

นพ.นิพนธ์ โพธ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยา ศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กลุ่มกีฏวิทยาทางการแพทย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณ สุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง การเฝ้าระวังการระบาดของไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบเจอี และเวสต์ไนล์ โดยเก็บตัวอย่างยุงจากบริเวณโดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมาตรวจหาชนิดของยุงว่าเป็นพาหะของโรคดังกล่าวหรือไม่ พบว่ายุงบริเวณนั้นเป็นยุงรำคาญชนิด  culex gelidus 52% ชนิด cx.  vishnui  41% ชนิด  cx. quinquefasciatus 7% โดยทั้งหมดเป็นยุงที่กัดเวลากลางคืน แต่ไม่พบเชื้อไวรัสก่อโรค ซึ่งในอดีตเคยตรวจพบว่าเป็นพาหะนำโรคไข้สมองอักเสบในพื้นที่ จ.ลพบุรี และ จ.นครปฐม

นพ.นิพนธ์ กล่าวต่ออีกว่า เชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ และเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี ทำให้เกิดโรคสมองอักเสบ โดยมียุงเป็นพาหะ ซึ่งปีที่ผ่านมาพบว่าในสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์จำนวน 5,387 ราย เสียชีวิต 243 ราย สูงกว่าค่าเฉลี่ยของแต่ละปีที่ผ่านมา และปัจจุบันโรคนี้มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทยพบว่ามียุงประมาณ 60 ชนิด เป็นชนิดเดียวกับที่ก่อให้เกิดโรคในสหรัฐ

“ขณะนี้บ้านเรามีนักท่องเที่ยวเข้า-ออกตลอดเวลา อาจทำให้ในบางรายที่ไม่แสดงอาการมาถูกยุงกัดซ้ำที่นี่อีก อาจจะเสี่ยงให้เกิดการระบาดได้ ดังนั้นกรมวิทย์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ทำการเฝ้าระวังพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ได้แก่ สนามบิน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้า-ออกระหว่างประเทศ และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ผลปรากฏว่ายังไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองชนิดในยุงที่เก็บจากพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับคนไทยที่สนามบินแห่งชาติและแหล่งท่องเที่ยวของเราปลอดยุงที่มีเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบ”

อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังคงเฝ้าระวังเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ ในยุงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัสเดงกี ซึ่งทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก โดยในวันศุกร์ที่ 8 มี.ค.นี้ จะมีการฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้จากการวิจัยสู่กลุ่มผู้ปฏิบัติ เรื่อง แนวทางใหม่ในการควบคุมยุงพาหะไข้เลือดออกและไข้ปวดข้อยุงลาย การใช้อัตราการติดเชื้อไวรัสเดงกีและชิคุนกุนยาในยุงเฝ้าระวังการระบาด การควบคุมยุงโดยใช้กับดักยุงแบบดักตายที่มีสารดึงดูดจากธรรมชาติ และการจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ วิธีการทดสอบประสิทธิภาพและการดื้อต่อสารเคมีกำจัดแมลง สารเคมีชนิดใหม่สำหรับป้องกันกำจัดแมลงที่เป็นปัญหาสาธารณสุข

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ