เฝ้าระวังการบาดเจ็บในผู้สูงอายุ
ที่มา : มติชน
แฟ้มภาพ
แนะดูแลผู้สูงอายุ เฝ้าระวังการบาดเจ็บจากการหกล้มอย่างใกล้ชิด จัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้เอื้อต่อผู้สูงอายุ
การบาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ มีสาเหตุมาจากการลื่น สะดุด หรือก้าวพลาดบน พื้นระดับเดียวกันหรือเกิดจากการตกหรือล้มจากขั้นบันได ซึ่งจะมีอาการตั้งแต่บาดเจ็บเล็กน้อยจนถึงขั้นรุนแรง เช่น มีแผลฟกช้ำ ถลอก มีภาวะกระดูกหัก ได้แก่ กระดูกข้อมือ แขน สะโพก และการบาดเจ็บที่ศีรษะ จนอาจทำให้ เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ สำหรับการป้องกันการพลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุ ได้แก่ 1.ดูแลพื้นบ้านไม่ให้พื้นเปียกและลื่น 2.จัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ
เช่น ควรจัดให้อยู่ชั้นล่าง และเตียงนอนมีความสูงระดับข้อพับเข่า เก็บบ้านให้เป็นระเบียบ มีแสงสว่างเพียงพอให้ผู้สูงอายุมองเห็นได้ชัดเจน มีราวจับภายในบ้านและห้องน้ำ มีที่นั่งสำหรับอาบน้ำ ใช้โถส้วมแบบชักโครก และไม่ควรล็อกประตูขณะใช้ห้องน้ำ 3.กรณีที่ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวและกินยาหลายชนิด ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่หรือเภสัชกรเกี่ยวกับยาที่ใช้เพื่อให้รู้ผลข้างเคียงของยา และ 4.หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและการทรงตัว นอกจากนี้ ในช่วงนี้หลายพื้นที่มีฝนตก ต้องให้ผู้สูงอายุเพิ่มความระมัดระวังในการเดินรอบๆ บริเวณบ้าน หลีกเลี่ยงการเดินออกไปนอกบ้านในช่วงดังกล่าว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อพบผู้สูงอายุพลัดตก หกล้ม ได้แก่ 1.ควรตั้งสติ อย่าตกใจ 2.ประเมินการบาดเจ็บของผู้พลัดตกหกล้ม หากผู้พลัดตกหกล้มไม่สามารถขยับและลุกเองได้ หรือเมื่อขยับแขนขาแล้วรู้สึกปวด ไม่ควรเคลื่อนไหว เพื่อป้องกันกระดูกที่หักไปทำลายเนื้อเยื่อหลอดเลือดและเส้นประสาท ข้างเคียง 3.โทรแจ้ง 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือนำส่งสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน