เผย 5 ปฏิบัติการชุมชนต้านควัน

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เผย 5 ปฏิบัติการชุมชนต้านควัน thaihealth


ในขณะที่ระดับมหภาคกำลังเดินหน้าการทำงานรณรงค์เลิกบุหรี่อย่าง เข้มข้น ในระดับพื้นที่ "ชุมชน ท้องถิ่น" เองก็เป็นอีกหนึ่งกลไกที่มีการดำเนินงานขับเคลื่อน จนปรากฏเป็น รูปธรรมไม่แพ้กัน


โดยจากการดำเนินงานด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ โดยใช้พื้นที่เป็น ตัวตั้งมาตลอดระยะเวลากว่าสามปีของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่น น่าอยู่ มีหลายเรื่องที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง นั่นคือ ชุมชนเหล่านี้สามารถสร้างนวัตกรรมและเครื่องมือที่จะช่วยขยาย "แนวร่วม" คนไม่เอาควัน และยังส่งต่อเครื่องมือ ดังกล่าวไปสู่พื้นที่เครือข่ายอื่นๆ


บุหรี่ตัวร้ายทำลายหัวใจ


วันนี้ สังคมไทยรับรู้กันถ้วนหน้าว่า "บุหรี่" เป็นประเด็นต้นตอปัญหาสุขภาพ ที่ต้องตระหนัก ด้วยเป็นต้นเหตุของ ปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบตามมาอย่างมากมาย


"เรื่องจริงที่ว่าคนไทยตายปีละสี่แสน เฉพาะจากโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ หรือ NCDs ประมาณสามแสน ซึ่งเมื่อเราโฟกัสปัจจัยเสี่ยงในเรื่องที่มีผลกระทบสูงๆ ก็พบว่า  บุหรี่คืออีกปัจจัยหลัก ซึ่งการได้ทำงาน ร่วมกับชุมชนสองพันกว่าแห่งทั่วประเทศ ของ สสส. มีส่วนช่วยสกัดภัยจากควันบุหรี่ได้ผล เพราะวันนี้คนไทยสูบบุหรี่ลดลง" ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก กล่าวถึงตัวเลขสถิติที่จะช่วยให้เห็นภาพ มากขึ้นถึงความเลวร้ายของภัยบุหรี่


ซึ่งอีกข้อมูลอัพเดทที่กำลังเกิดขึ้น ในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคมปีนี้  คือตัวเลขแนวโน้มคนไทย ที่มีอัตราการ สูบบุหรี่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดและลดลงอย่างต่อเนื่อง


โดยข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่สำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มสุราของประชากรครั้งที่ 18 ปี 2560 พบว่า จากร้อยละ 20.7 ในปี 2557  เหลือร้อยละ 19.9 ในปี 2558 และลดลงมา เหลือร้อยละ 19.1 ในปี 2560 ทั้งกลุ่ม นักสูบผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลง ส่วนหนึ่ง มาจากการขับเคลื่อนโครงการ 3 ล้าน  3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน  ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 โดยใช้ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ชวนคนในพื้นที่มาลดบุหรี่ ซึ่ง อสม. มีกว่า 1 ล้านคนชวนคนสมัครใจ เลิกบุหรี่ 3 คน


"ปัจจุบันนี้เราชวนคนเข้าโครงการได้หนึ่งล้านสี่แสนราย มีคนที่เลิกได้ประมาณหนึ่งแสนสาม จากที่เดิมเลิกได้แค่หกหมื่น ทั้งที่ยังเป็นในช่วงปีแรกที่เราเริ่มโครงการ การขับเคลื่อนยังไม่เต็มที่ แต่คาดว่า ปีหน้าตัวเลขน่าจะยิ่งดีกว่านี้"  ดร.นพ.บัณฑิตกล่าว


เผย 5 ปฏิบัติการชุมชนต้านควัน thaihealth


อย่างไรก็ดีเป้าหมายการลดอัตราการสูบบุหรี่ของประเทศไทยที่รับมาจากองค์การอนามัยโลกคือ ภายในปี 2568 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า จะต้องลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลงให้เหลือประมาณ 9 ล้านคน ดร.นพ.บัณฑิต กล่าวว่าแม้เป็นเรื่องที่ดูค่อนข้างยาก  แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องขึ้นอยู่ที่การนำกลไกเครื่องมือต่างๆ เพื่อนำมาใช้รักษาชีวิตคนไทยไม่ให้เสี่ยงภัยจากบุหรี่


บุหรี่ กับ "พื้นที่"


ดร.นพ.บัณฑิต ยอมรับว่า แม้การเลิกบุหรี่โดยหักดิบจะเป็นวิธีที่เร็วที่สุดในการเลิกบุหรี่ในระยะเร่งด่วน แต่ยังมีหลายปัญหาระยะยาวที่ต้องแก้ไข


"จากการทำงาน ของ สสส. ในเรื่องบุหรี่ พบว่ามาตรการที่เป็นสากลส่วนใหญ่ มีต้นแบบจากประเทศที่มีรูปแบบเป็นเมืองเสียมาก เช่น การห้ามสูบในที่สาธารณะ หรือการขึ้นภาษีบุหรี่ ซึ่งจะได้ผลกับกลุ่มคนเมือง แต่สำหรับประเทศไทยด้วย บริบทพื้นที่แตกต่างระหว่างความเป็นเมืองกับชนบท ทำให้มีเรื่องที่ต้องปรับให้ เหมาะสม"


ดร.นพ.บัณฑิต ยกตัวอย่างกรณีการออกกฎหมายขึ้นภาษีว่า แท้จริงแล้วผลิตภัณฑ์ยาสูบมีหลายประเภท แต่เราเลือกขึ้นภาษีเฉพาะบุหรี่ แต่ในกลุ่มพวกยาเส้นยังภาษีต่ำมาก ซึ่งยาสูบประเภทนี้เป็นที่นิยมในต่างจังหวัด ซึ่งอาจต้องไล่ขึ้นภาษีผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ ด้วย


"หรือการที่เราออกแบบ อาทิ  เจ้าหน้าที่ อสม. แกนนำ และพระภิกษุ  ที่เปรียบเสมือนสื่อรณรงค์เคลื่อนที่ของเรา เราจำเป็นต้องใช้สื่อบุคคลที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเขา ต้องเอาคนไปคุยกับ  ซึ่งเวลาใครคิดจะสูบพอเห็นคนกลุ่มนี้ก็มีความเกรงใจไม่กล้าสูบ หรือการมีคนต้นแบบที่เลิกได้ไปชวนก็รู้สึกว่าได้ผลมากกว่า เพราะเขาเหมือนพูดภาษาเดียวกัน"


อีกหนึ่งบุคคลที่ช่วยเสริมข้อมูลแบบอินไซต์ในประเด็นนี้ จะเป็นใครไม่ได้เลย นอกจาก ดวงพร เฮงบุณยพันธ์  ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. ที่ถ่ายทอดบทวิเคราะห์จากการทำงานพื้นที่ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเผยว่า จากประสบการณ์ทำงานเรื่องบุหรี่ในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่น หากพื้นที่ใด ที่แกนนำหรือผู้นำในพื้นที่ไม่สูบ และ ออกมารณรงค์เรื่องเลิกบุหรี่อย่างจริงจังมักประสบความสำเร็จเร็ว


โดยยกตัวอย่าง มูฮัมหมัด สมะแอ รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบาโงสะโตอ.ระแงะ จ.นราธิวาส ที่มีการสร้างมาตรการทางสังคมในการควบคุมการบริโภคยาสูบ "มัสยิดลูโบ๊ะบาตูต้นแบบปลอดบุหรี่ 100%" มีจุดแข็งในการนำหลายมาตรการมาใช้ อาทิ การเพิ่มกติกาทางสังคม  โดยชุมชนร่วมกันกำหนดให้เป็น ข้อตกลงของชุมชน มีกลุ่มทางสังคมที่มีความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนร่วมกัน  เช่น กำหนดเป็นวาระชุมชน ต้องคุตบะห์ (ปาฎกฐาธรรม วันศุกร์) อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา คณะกรรมการมัสยิดที่ยังสูบบุหรี่ต้องเข้าคลินิกเลิกบุหรี่ 100% นอกจากนี้ยังมีการบำบัดและฟื้นฟู "ชีฟาอ์ โมเดล" ซึ่งเป็นนวัตกรรมรูปแบบการส่งเสริมสุขภาพเพื่อเลิกบุหรี่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และเป็นไปตามครรลองของศาสนาอิสลาม


เผย 5 ปฏิบัติการชุมชนต้านควัน thaihealth


"การทำพื้นที่ปลอดบุหรี่ ถ้ามีผู้นำในท้องถิ่นเขาจะทำทันที อย่างกรณีของ ผู้นำชุมชน มูฮัมหมัด สมะแอ ได้มีการนำ คำสั่งสอนมาใช้ ปรากฏว่าทำให้คนในเทศบาลทั้ง 48 คนที่เคยสูบเลิกสูบได้หมด และสมาชิกสภาพเทศบาล โต๊ะอิหม่าม เป็น พลังตัวคูณซึ่งกันและกัน เพราะผู้นำและคนในพื้นที่ต้องเห็นว่าปัญหานี้เป็นเรื่องสำคัญ มิฉะนั้นก็จะทำให้เราไม่สามารถตัดวงจร โรคเรื้อรังไม่ติดต่อเหล่านี้ได้เลย"


แม้การบังคับใช้กฎหมายจะสำคัญสุด ที่วันนี้ประเทศไทยกำลังมีพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ที่กำหนดข้อบังคับเข้มข้น และเริ่มใช้มาตั้งแต่ 4 กรกฎาคม 2560 ได้กำหนดมาตรการสำคัญที่ประชาชนต้องรับทราบและปฏิบัติ แต่สำหรับสังคมไทยแล้ว "กฎหมาย" อาจไม่ใช่เครื่องมือที่จะช่วยให้ทุกคนอยากเลิก


"คนไทยมักจะให้ความสำคัญกับคนต้นแบบ หรือยอมรับบุคคลสำคัญในพื้นที่ หรือกลุ่มแกนนำที่เป็นทั้งผู้นำทางความคิดและผู้นำโดยอำนาจ ซึ่งในส่วนคนต้นแบบเหล่านี้ ปัจจุบันเรามีอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งมากพอและเขามีพลังที่สามารถจะไปชักชวน คนอื่นได้ และยั่งยืน"


ดวงพร บอกเล่าต่อว่า ในการทำงานระดับพื้นที่ โดยเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ก็ยังได้ร่วมกัน "สร้าง" "เสริม" และมี "ส่วนร่วม" ในการพัฒนากลไกการรณรงค์ในระดับพื้นที่ เพื่อเป็น "คู่มือปฏิบัติการชุมชนรณรงค์" ที่คนในเครือข่ายจะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนากลยุทธ์ "เลิกสูบ ก็เจอสุข" ให้เกิดขึ้นในพื้นที่


หลังทำงานโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง  พบว่ามีนวัตกรรมและแนวทางจัดการปัญหาในพื้นที่ได้จริง ซึ่งในปี 2561 นี้ เครือข่ายจึงมุ่งเน้นไปที่การใช้กลไกในพื้นที่กำหนดมาตรการทางสังคม และการพัฒนาระบบการบริการ เพื่อการควบคุมการสูบบุหรี่ ในพื้นที่ โดยใช้ 5 ปฏิบัติการสำคัญ คือ  1.สร้างบุคคลต้นแบบ 2.เพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่ 3.สร้างคลินิกเลิกบุหรี่ 4.เพิ่มกติกาทางสังคม 5.บังคับใช้กฎหมาย


"แต่ทุกที่ไม่จำเป็นต้องมีครบทั้ง  5 วิถี สามารถเลือกทำได้อย่างใดอย่างหนึ่งที่เหมาะสมกับพื้นที่เขา แต่อย่างน้อยเขาควรจะมีความเข้าใจในเรื่องกฎหมาย  เพราะบทลงโทษรุนแรง


"ในความเป็นจริงเราก็หวังให้ทุกชุมชนสามารถทำครบได้ทั้ง 5 วิถี เพราะจะทำให้การทำงานเรื่องนี้ได้ผลเร็วมาก แต่เราไม่อยากเข้มงวดบังคับ แต่จะพยายามชี้ให้เขาเห็นว่า บุหรี่ไม่สามารถทำให้คุณภาพชีวิตคุณดีขึ้นในด้านใดด้านหนึ่งเลย แล้วพอเลิกได้ผลที่เห็นเลยคือครอบครัวดีขึ้น เพราะเราเชื่อว่า การจะเลิกได้อยู่ที่ความรักที่มีให้กัน ถ้าเรารักครอบครัว เราก็ต้องไม่สูบบุหรี่ เราต้องสร้างบรรยากาศของการเลิกบุหรี่ให้เป็นเรื่องของความรัก" ดวงพรอธิบาย


เลิกสูบก็เจอสุข


ด้าน วสันต์ แสนสุริวงค์ ประธาน อสม.ตำบลนาเลียง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม "คนต้นแบบ" ซึ่งเป็น 1 ใน 5 วิถีที่ สสส.และเครือข่ายร่วมพัฒนามาช่วย ให้ชุมชน "เลิกสูบก็เจอสุข" โดยการนำคนเคยสูบ มาเป็นบุคคลตัวอย่างเพื่อสร้างแรงจูงใจคนอยากเลิก ที่วันนี้กำลังกลายเป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้เพื่อนๆ  ในชุมชนหย่าขาดจากบุหรี่


เผย 5 ปฏิบัติการชุมชนต้านควัน thaihealth


"ถามว่าชวนคนเลิกบุหรี่ยากไหมน่ะหรือ? บอกเลยว่ายากมาก…ยากพอๆ กับตอนเราเลิกเองนั่นแหละ" วสันต์เล่าต่อว่าปัจจุบันงานบุหรี่ต้องทำหลายอย่าง ในพื้นที่เราใช้มาตรการกติกาทางสังคม จำกัดพื้นที่สูบเรามีทั้งจัดทำพื้นที่ห้ามสูบในหน่วยราชการปลอดบุหรี่ และสถานที่สาธารณะ มีมาตรการ หมู่บ้าน เช่น ห้ามจำหน่ายบุหรี่ในวันพระ หรือ ห้ามถวายบุหรี่ให้พระ เราได้พระที่นับถือเข้าร่วมภาคี เราพยายามสอดแทรกเรื่องนี้ไปทุกงาน


"ทุกวันนี้ตั้งแต่ทำโครงการมา เราก็ชวนคนเลิกได้แล้วถึงสิบคน รู้สึกภูมิใจ เพราะตอนแรกยังคิดว่าจะได้คนเดียว"


ย้อนไปในวันแรกที่เขาเปลี่ยนใจก้าวสู่โลกที่ไร้ควัน วสันต์เปิดใจว่า "ผมเลิกสูบเพราะลูกขอร้อง ตอนเลิกบุหรี่ยอมรับว่ายาก " วสันต์เท้าความ "พยายามเลิกมาตั้งแต่ปี 49 แต่แค่สามวันแรกก็ไม่รอด มันทรมานเหมือนจะตายเอา เลยเปลี่ยนวิธีเป็นค่อยๆ ลดลงมาเรื่อยจนสามารถเลิกได้ในปี 2555"


โดยหลังเลิกบุหรี่เขาเก็บเงินที่เคยซื้อบุหรี่แต่ละวันออมจนสามารถส่งลูกเรียนจนปริญญาตรี เป็นที่ภาคภูมิใจของครอบครัว ซึ่งที่มาของการเปลี่ยนใจให้เลิกสูบก็เกิดจาก "ความรัก" และความปรารถนาดีของคนในครอบครัวนั่นเอง


"เมื่อก่อนสูบวันละสองซอง เสื้อผ้านี่เหม็น กลับไปบ้านลูกก็บ่นไม่อยากซักให้ เขาอ้อนวอนเราให้เลิกหลายรอบ ตอนหลังเริ่มสุขภาพไม่ค่อยดี เลยมาคิดถึงเงินที่หมดไปค่าบุหรี่สูบมาสามสิบสองปีเป็นล้านนะ เสียดายเงินมาก แต่จริงๆ สิ่งสำคัญที่สุดของการเลิกบุหรี่คือ "ใจต้องมาก่อน" ถ้าใจเราอยากเลิกมันก็เลิกได้เอง"

Shares:
QR Code :
QR Code