เผย “โรคอ้วน”ทำเด็กไทยเสี่ยงเป็นเบาหวานสูง 10 เท่า

สสส. ร่วมเครือข่ายรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน เผยผลวิจัยเปรียบเทียบ 2 ทศวรรษ ชี้ โรคอ้วนทำเด็กไทยเสี่ยง โรคเบาหวานสูงร่วม 10 เท่า เหตุบริโภคเกิน-ไม่ออกกำลังกาย ตะลึงองค์การอนามัยโลกพบผู้ป่วยเบาหวานตายสูงกว่าเอดส์ พร้อมชวน มาป่วยเป็นเบาหวานด้วยการ แอ๊บไม่กินน้ำตาล 1 วันจุดกระแสวันเบาหวานโลก

 เผย “โรคอ้วน”ทำเด็กไทยเสี่ยงเป็นเบาหวานสูง 10 เท่า

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 พฤศจิกายน ณ ลานกิจกรรม ชั้น 35 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน สสส. จัดงาน หักดิบความหวานแอ๊บไม่กินน้ำตาล 1 วันเพื่อสร้างความตระหนักถึงอันตรายของโรคเบาหวาน ต้อนรับวันเบาหวานโลกซึ่งตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี โดยในงานมีการสาธิตตรวจวัดความหวานจากน้ำตาลที่พบในเครื่องดื่ม เจาะเลือดตรวจน้ำตาล และโชว์นิทรรศการความหวานในอาหาร

 

ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา กรรมการบริหารแผนสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส. กล่าวถึง สาเหตุเบาหวานในเด็กว่า มักเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ แต่ปัจจุบันกลับขึ้นอยู่กับการบริโกค การดูแลสุขภาพ โดยข้อมูลร.พ.รามาธิบดี ระบุว่า มีผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เพียง 4 รายที่ได้รับการวินิจฉัยในช่วง 10 ปีแรก (พ.ศ. 2533-2542) แต่ในช่วง 10 ปีหลัง (พ.ศ. 2543-2552) พบผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มขึ้นอีกเกือบ 40 ราย หรือประมาณ 10 เท่า ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่เด็กที่เริ่มอ้วน และเด็กที่มีพ่อแม่เป็นโรคเบาหวานควรจะได้รับการตรวจเช็คระดับน้ำตาลในเลือด

 

อาการเบาหวานในเด็กนั้นพบว่า กระหายน้ำจึงปัสสาวะบ่อยและมาก กินจุแต่ผอม มีอาการอ่อนเพลีย ซึ่งควรมีการตรวจน้ำตาลในปัสสาวะบ่อยๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดขนาดยาฉีดอินซูลิน ถ้าเด็กมึนงง หรือหมดสติ ควรรีบให้กินน้ำตาล ถ้าเจ็บป่วยหรือเป็นแผล ควรรีบไปหาแพทย์เสียแต่เนิ่นๆ ที่สำคัญคือผู้ป่วยและญาติควรมีความเข้าใจเรื่องโรคนี้อย่างดี เพื่อการควบคุมระดับน้ำตาล และอาการของโรคไม่ให้เกิดปัญหาแทรกซ้อน ซึ่งจะทำให้ได้ใช้ชีวิตประจำวันอย่างปกติสุขเช่นเด็กทั่วๆ ไปได้ ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา กล่าว

 เผย “โรคอ้วน”ทำเด็กไทยเสี่ยงเป็นเบาหวานสูง 10 เท่า

ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ อุปนายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง สสส. กล่าวถึงภาพรวมของสถานการณ์เบาหวานในปัจจุบันว่า โรคเบาหวานเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเจ็บป่วยและการตายอันดับต้นของคนไทย ซึ่งสอดคล้องคนไทยมีภาวะลงพุงสูงขึ้นมาก โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ระบุว่า ประชากรอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มีภาวะความดันโลหิตสูงถึงร้อยละ 21.4 โดยมีความชุกของโรคเบาหวานเท่ากับร้อยละ 6.9 หรือประมาณ 3.5 ล้านคน สอดคล้องกับผลการสำรวจที่พบผู้มีภาวะอ้วนลงพุงในหญิงที่สูงถึงร้อยละ 45 ขณะที่ชายมีร้อยละ 18.6 สะท้อนให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน

 

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีข้อมูลพบว่า มีอัตราผู้ป่วยวัยรุ่นที่เป็นเบาหวานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่อ้วน ข้อมูลจากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2546 จากจำนวน ผู้ป่วยทั้งหมด 9,419 คน พบว่ามีผู้ป่วยเบาหวานในเด็ก และวัยรุ่นที่วินิจฉัยก่อนอายุ 18 ปี ร้อยละ 2.66 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งหมด โดยปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยเด็กกลับป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มักพบในผู้ใหญ่  เนื่องจากเด็กกินมากและออกแรงน้อย ซึ่งทำให้เด็กเป็นโรคอ้วนโดยตรง ทั้งนี้ในปี 2548 องค์การอนามัยโลก ประกาศให้โรคเบาหวานเป็นโรคที่อันตรายเทียบเท่าโรคเอดส์ เพราะมีผู้เสียชีวิตจากเบาหวานประมาณ 3.2 ล้านคนต่อปี ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ราว 3 ล้านคนต่อปี ตั้งแต่ปี 2003-2005 ทั่วโลกมีคนเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น 71% ซึ่งจำนวนนี้มีผู้ป่วยเด็กรวมอยู่ด้วย ศ.พญ.วรรณี กล่าว

 เผย “โรคอ้วน”ทำเด็กไทยเสี่ยงเป็นเบาหวานสูง 10 เท่า

ด้านเมย์ แฟนพันธุ์แท้คนชอบกินหวาน กล่าวว่า เป็นคนกินหวานมาตั้งแต่เด็กๆ ชอบกินอาหารและผลไม้ที่มีรสหวาน เช่น ชอบกินน้ำตาลปี๊บเป็นของกินเล่น กินก๋วยเตี๋ยวใส่น้ำตาล 4 ช้อน หลังอาหารระยะหลังรู้สึกว่าเมื่อเป็นสิวแล้วจะหายช้า ปัสสาวะบ่อย และสังเกตเห็นมดดำขึ้นปัสสาวะของตัวเอง หลังจากกินน้ำอ้อยไป 4 ขวดใหญ่ เลยไปถามจากเพื่อนที่มีญาติเป็นเบาหวาน ทำให้รู้ว่า ตนมีอาการคล้ายผู้ป่วยเบาหวานระยะเริ่มต้น จึงไปตรวจเลือด โชคดีที่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ตอนนี้พยายามลดการกินหวานลงโดยทดลอง แอ๊บไม่กินน้ำตาลหนึ่งวันตามคำแนะนำของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ทำให้รู้ว่าการที่ต้องเคร่งครัดกับการบริโภคน้ำตาลตลอดชีวิตนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพอไม่ได้กินหวานแล้วจะรู้สึกหงุดหงิด และกินอะไรไม่ได้ ทำให้รู้สึกว่า เป็นเบาหวานแล้วมันไม่สนุก เลยพยายามลดละ ความหวานให้น้อยลง

 

 

 

 

ที่มา:สำนักข่าว สสส.

Update:11-11-53

อัพเดทเนื้อหา:คีตฌาณ์ ลอยเลิศ

Shares:
QR Code :
QR Code