เผย “โครงการผังแม่บทฟื้นฟูย่านเจริญกรุง” คว้าชัยในเยอรมัน
ที่มา : MGR Online
ภาพประกอบจาก MGR Online
TCDC เผย "โครงการผังแม่บทฟื้นฟูย่านเจริญกรุง" คว้าชัยในเยอรมัน
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เผยศักยภาพ "โครงการผังแม่บทฟื้นฟูย่านเจริญกรุง" ผลงานสถาปนิกไทย คว้ารางวัลระดับโลกจากเวที World Architecture Festival 2016 ประเทศเยอรมนี ชูจุดเด่น "กระบวนการออกแบบร่วมกัน" (Co-creation) เร่งเดินหน้าพัฒนาย่านสร้างสรรค์ ในพื้นที่อื่นๆ ผ่านการสร้างเครือข่ายสู่การพัฒนาอย่างมีส่วนรวม โดยใช้โมเดลความสำเร็จของเจริญกรุงเป็นต้นแบบ
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เปิดเผยว่า ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดทำโครงการสร้างสรรค์เจริญกรุง เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ในย่านเจริญกรุงอย่างต่อเนื่อง โดยมีบริษัท ฉมา โซเอ็น จำกัด และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าร่วมจัดทำแผนการพัฒนาโดยใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ที่มุ่งเน้น "กระบวนการออกแบบร่วมกัน" (Co-Creation) ระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านเมืองสร้างสรรค์ นักออกแบบ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในย่าน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)
ทั้งนี้โครงการดังกล่าว นายยศพล บุญสม และนายประพันธ์ นภาวงศ์ดี 2 สถาปนิกไทยได้จัดทำ โครงการผังแม่บทฟื้นฟูย่านเจริญกรุง ซึ่งผลงานดังกล่าวได้คว้ารางวัล Highly Commended หมวด Future Masterplanning Project จากเวทีระดับโลก World Architecture Festival 2016 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
ด้านนายยศพล บุญสม และนายประพันธ์ นภาวงศ์ดี กรรมการผู้จัดการบริษัท ฉมา โซเอ็น จำกัด กล่าวว่าโครงการผังแม่บทฟื้นฟูย่านเจริญกรุงนี้ นับเป็นผลสำเร็จที่สะท้อนถึงการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์บนพื้นฐานของการวิจัยตลอดระยะเวลา 1 ปี (กรกฎาคม 2558 -มิถุนายน 2559) ที่มีกระบวนการตั้งแต่การสำรวจและเก็บข้อมูลเพื่อการระบุถึงปัญหาและโอกาสของพื้นที่ การวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อสร้างแนวคิดต้นแบบ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในย่านผ่านจัดประชุมเวิร์คช็อป 25 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 250 คน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้คนของย่านเจริญกรุง จนได้เป็นโครงการต้นแบบเพื่อทดลองในพื้นที่ 5โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่สาธารณะริมน้ำ โครงการปรับปรุงและพัฒนาอาคารร้าง โครงการพัฒนาพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก โครงการเชื่อม ตรอก ซอก ซอยและการติดตั้งป้ายสัญลักษณ์ โดยในเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ได้มีการนำโครงการต้นแบบทั้ง 5 ไปดำเนินการทดสอบในย่านเจริญกรุงอีกครั้งเพื่อสรุปผลแนวทางการพัฒนาจนได้เป็นโมเดลกระบวนการพัฒนาที่สามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่นๆ ได้
นอกจากนี้คณะกรรมการจากเวที World Architecture Festival 2016 ยังได้กล่าวชื่นชมถึงกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมของโครงการนี้ และต้องการให้โครงการดังกล่าวเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆได้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารางวัลนี้จะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการฟื้นฟูย่านเจริญกรุงอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้