เผยเด็กไทยเผชิญ 6 วิกฤติ
แม่วัยรุ่นเพิ่ม 40%
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้แถลงข่าว “ทิศทางความร่วมมือ สู่การปฏิรูปสังคม” ระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ สสส. โดย ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า สังคมไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เด็กและเยาวชนไทย กำลังเผชิญกับวิกฤติ 6 ด้านที่สำคัญ คือ
1.ความรุนแรงในเด็ก จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2552 พบว่า เด็กและเยาวชนไทยถูกกระทำความรุนแรงส่วนใหญ่จากคนใกล้ชิด อันดับ 1 คือ แฟนและคู่รัก จำนวน 4,509 คน หรือ 54% รองลงมาคือ เพื่อน จำนวน 2,086 คน หรือ 25%
2.การบริโภคสื่อและเทคโนโลยีที่ไม่สร้างสรรค์ ซึ่งสื่อทางอินเทอร์เน็ต กำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้ แต่กลับพบว่า ใน 40 เว็บไซด์ยอดนิยมของไทย มากกว่า 50% มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมทางเพศ
3.ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย นำไปสู่การตั้งครรภ์ การทำแท้ง และติดเชื้อเอดส์ โดยภายในระยะเวลาเพียง 8 ปี คือระหว่างปี 2544-2552 มีวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยเพิ่มขึ้น จาก 10% เป็น 40% และช่วงอายุมีแนวโน้มลดลง
4. ปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาเสพติด ในแต่ละปีจะมีนักดื่มหน้าใหม่เกิดขึ้น 2.6 แสนคน ขณะที่ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในสถานศึกษาเพิ่มขึ้น
5. ปัญหาอุบัติเหตุ และปรากฏการณ์รถซิ่ง ทำให้ในปี 2552 มีเด็กและเยาวชนเสียชีวิตถึง 10 วันต่อราย
6. ปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจ ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมซึมเศร้าและทำร้ายตนเอง ขณะที่สถานการณ์ของครอบครัวไทยในปัจจุบันที่กำลังเผชิญ อันดับ 1. คือ การหย่าร้างที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในปี 2550 มีอัตราหย่าร้างสูงถึง 1 ใน 3 ของการจดทะเบียน 2.ความรุนแรงในครอบครัว และ 3.สัมพันธภาพของคนในครอบครัวที่ลดลง
นอกจากนี้ ยังพบคนกลุ่มเฉพาะ ที่ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ โดยพบจำนวนเด็กและผู้สูงอายุที่เข้ารับการสงเคราะห์ในสถานสงเคราะห์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาแม่วัยรุ่นและท้องไม่พร้อม ซึ่งจากรายงานของยูนิเซฟ พบว่า จำนวนแม่วัยรุ่นไทยต่ำกว่า 20 ปี สูงถึง 150,000 คน
“กลุ่มบุคคลทั้ง 3 กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มคนที่จำเป็นต้องมีการดูแลและมาตรการเฉพาะเพื่อมาแก้ไขปัญหา จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการทำงาน 3 กลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ คือ เด็กและเยาวชน ครอบครัว และกลุ่มคนเฉพาะ ซึ่งถือเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม แต่เป็นหน่วยที่มีพลังมากที่สุดของการเปลี่ยนแปลง และเป็นรากฐานที่สำคัญของการปฏิรูปสังคม” ผู้จัดการ สสส. กล่าว
นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ทิศทางในการขับเคลื่อนและพัฒนาสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านความร่วมมือระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กับ สสส. ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ
1.ความร่วมมือระดับกระทรวง ในการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับผู้บริหารและการพัฒนาศักยภาพผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมร่วมกัน โดยส่งเสริมโครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคม
2.ความร่วมมือส่วนราชการระดับกรมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น และกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ โดยมีกลไกการทำงานร่วมกัน (Co-Management) ระหว่างหน่วยงานในสังกัดของกระทรวง และภาคีเครือข่ายของ สสส. โดยมีกิจกรรมและเป้าหมายเป็นตัวตั้ง
3.ความร่วมมือระดับพื้นที่ โดยนำประเด็นข้อตกลงจากระดับกรมลงไปปฏิบัติการในระดับพื้นที่ ทั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นและชุมชน
4.ความร่วมมือในการจัดให้มีคณะกรรมการเพื่อวางแนวทางและประสานการดำเนินงานร่วมกัน
“เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมอย่างเป็นการทางเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคม ประกอบด้วย การศึกษารวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคม การจัดทำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมด้านเด็กและเยาวชน ด้านครอบครัวและท้องถิ่น และด้านกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษให้เป็นรูปธรรม การสร้างนวัตกรรม แนวทางใหม่เพื่อทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมถึงการสร้างและประสานเครือข่ายในการพัฒนาสังคม ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายต่างๆ ให้เกิดการพัฒนาสังคมแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าว
นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพ และพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ กล่าวว่า ในส่วนของคณะทำงานด้านเด็กและเยาวชน จะประกอบด้วย ตนเป็นประธาน และมีคณะกรรมการคือ รศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ น.พ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เป็นกรรมการ โดยมีเป้าหมายในการทำงานด้านเด็กและเยาวชน คือ การพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชน ซึ่งจะมีการพัฒนาให้เกิดสภาเด็กและเยาวชนในระดับตำบล เป็นกลไกภาคเด็ก เพื่อให้เกิดความสามารถจัดการและแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง รวมถึงการพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ของเด็กในการพัฒนาท้องถิ่นนั้นโดยตรง ซึ่งจะมีการนำร่องใน 5 จังหวัด นอกจากนี้ จะมีการพัฒนางานเชิงวิชาการในการประเมินสถานการณ์เด็กและเยาวชน เพื่อได้รู้ข้อมูลในการแก้ไขปัญหาสังคมในระดับประเทศ
นายปัญญา เลิศไกร รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนการทำงานด้านครอบครัว ผ่านคณะกรรมการด้านครอบครัวและท้องถิ่น มีนายศุภฤกษ์ หงษ์ภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นประธาน ตนเป็นรองประธานกรรมการ และนายวันชัย บุญประชา ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เป็นกรรมการ ได้วางเป้าหมายการทำงานด้านครอบครัวให้เกิดรูปธรรมคือ 1) การพัฒนาศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนให้เข้มแข็ง ครบวงจร โดยทิศทางใหม่ของศูนย์พัฒนาครอบครัวจะดูแลคนในชุมชน ทั้งในด้านครอบครัว สตรี ผู้สูงอายุ แม่วัยรุ่น งานสวัสดิการชุมชน ผู้พิการ รวมถึงเด็กและเยาวชน โดยจะเริ่มต้นในปีนี้ จำนวน 300 ศูนย์ทั่วประเทศ และจะขยายผลให้เกิดคนทำงานครอบครัวที่เข้มแข็งในทุกศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ภายใน 5 ปี ซึ่งประโยชน์ของศูนย์พัฒนาครอบครัว จะเปรียบเสมือนหน่วยให้คำปรึกษาด้านครอบครัว เพื่อลดปัญหาการหย่าร้าง รวมถึงประเด็นอื่นๆ ในชุมชน
และ 2) การส่งเสริมศูนย์การจัดการความรู้เพื่อสุขภาวะครอบครัว ที่มีความรู้และกระบวนการพัฒนาศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีทั้งสิ้น 11 กลุ่ม โดยจะมีการขยายศูนย์การจัดการความรู้เพื่อสุขภาวะครอบครัว ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดภายใน 5 ปี
นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า ในคณะทำงานกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ มีนายปกรณ์ พันธุ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นประธาน ตนเป็นรองประธาน มีผู้อำนวยการสำนักบริการสวัสดิการสังคม และผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสวัสดิภาพหญิงและเด็ก เป็นกรรมการ ร่วมกับนายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ ผู้จัดการมูลนิธิสุขภาพไทย และน.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ โดยเป้าหมายของการทำงานร่วมกัน 2 ด้านที่สำคัญคือ 1.กลุ่มอาสาสมัคร โดยจะทำให้เกิดความหลากหลายทั้งอาชีพและสถานภาพทางสังคม พร้อมทั้งการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัคร และ 2.การแก้ไขปัญหาแม่ในวัยรุ่น ซึ่งมีการสร้างรูปแบบการทดลองขึ้นมาที่เรียกว่า โมเดลเครือข่าย (Choice Network) หรือกลุ่มทางเลือกที่มีปัญหา เช่น เด็กถูกละเมิด สุขภาวะทางเพศ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เด็กติดเอดส์ ซึ่งต้องมีระบบเชื่อมโยงและมีหน่วยงานรับรอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
Update : 09-12-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร