เผยเด็กแรกเกิดป่วย“ซิฟิลิส”เพิ่มขึ้น

ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เผยเด็กแรกเกิดป่วย“ซิฟิลิส”เพิ่มขึ้น thaihealth


แฟ้มภาพ


“กรมควบคุมโรค” เผยเด็กแรกเกิดป่วยโรคซิฟิลิสสูงขึ้น พบมากเกือบ 100 ราย เหตุติดเชื้อจากมารดาไม่ได้รับฝากครรภ์ หรือฝากครรภ์แต่ไม่ติดตามผลเลือด เร่งเดินหน้ากำจัดซิฟิลิสแต่กำเนิดเหลือน้อยกว่า 50 ราย ในปี 63


ที่โรงแรมนารายณ์ กรุงเทพฯ นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรม “แนวทางการดำเนินงานเพื่อยุติการถ่ายทอดเชื้อซิฟิลิส เอชไอวี โรคตับอักเสบจากไวรัสจากแม่สู่ลูก” ว่า ปัจจุบันสถานการณ์โรคซิฟิลิสในประเทศไทย มีแนวโน้มสูงขึ้น เห็นได้จากผู้ป่วยโรคซิฟิลิสเพิ่มสูงขึ้น 2 เท่า ใน 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2548 มีผู้ป่วยโรคซิฟิลิส 1,557 ราย และเพิ่มเป็น 3,373 ราย ในปี 2558 แยกเป็นเพศชาย 2,308 ราย เพศหญิง 1,065 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบมากสุด คือ กลุ่มอายุ 15 – 24 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 25 – 34 ปี และกลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป ตามลำดับ ส่วนผู้ป่วยโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด (เด็กแรกเกิด ถึง 2 ปี) ก็พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกๆ ปีเช่นกัน โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2558 พบผู้ป่วยมากถึง 91 ราย


ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดอย่างต่อเนื่อง โดยมีการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งทารกที่ป่วยส่วนหนึ่งเป็นจากหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับการฝากครรภ์ จึงไม่ได้รับการตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อซิฟิลิส หรือบางรายรับการฝากครรภ์แล้วไม่มีการติดตามผลเลือด กรณีติดเชื้อจึงไม่ได้รับการรักษา จนตรวจพบเมื่อเข้ารับบริการคลอดในสถานพยาบาล


“กรมควบคุมโรคได้ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ จัดทำแนวทางในการดำเนินการกำจัดโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด ทั้งการคัดกรอง การตรวจวินิจฉัย และดูแลรักษาหญิงตั้งครรภ์ สามี หรือคู่เพศสัมพันธ์และทารก ในปี 2558 เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของผู้รับผิดชอบในระดับต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมอัตราการเกิดโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดให้ไม่เกิน 0.05 ต่อเด็กเกิดมีชีพ 1 พันราย ภายในปี พ.ศ. 2563 หรือเหลือน้อยกว่า 50 ราย”


นพ.ภาณุมาศ กล่าวและว่า จากข้อมูลสถานการณ์ที่ผ่านมาประเทศไทย มีโอกาสสูงที่จะสามารถกำจัดโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดได้ เพราะระบบบริการที่มีอยู่เอื้อต่อการดำเนินงาน ซึ่งต้องอาศัยการจัดทำแผนระดับชาติในการกำจัดโรคดังกล่าว และมอบหมายภารกิจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ รวมถึงมีการบูรณาการร่วมกับแผนปฏิบัติการยุติปัญหาเอดส์แห่งชาติ โดยเฉพาะด้านการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีเมื่อแรกเกิด

Shares:
QR Code :
QR Code