เผยเคล็ดลับ ‘สูงสมวัย’ ได้ไม่ยาก
ที่มา : มติชนออนไลน์
แฟ้มภาพ
กรมอนามัย เผยเคล็ดลับ ‘หญิง-ชาย’ ยุคใหม่ ‘สูงสมวัย’ ได้ไม่ยาก หนุน 3 กลยุทธ์ส่งเสริมสุขภาพเด็กวัยเรียน อายุ 6 ปี จนถึง 14 ปี ให้แข็งแรงและฉลาด
นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการส่งเสริมเด็กไทยยุคใหม่เติบโตสมวัย สูงดีสมส่วน ไม่อ้วนผอมเตี้ย ว่า กรมอนามัย ได้กำหนดกลยุทธ์ในการส่งเสริมสุขภาพเด็กวัยเรียน อายุ 6 ปี จนถึง 14 ปี ให้แข็งแรงและฉลาด 3 กลยุทธ์คือ 1.พัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมสุขภาพเด็กวัยเรียน 2. พัฒนาองค์ความรู้และวิจัย และ 3.ส่งเสริมสุขภาพและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของเด็กวัยเรียน เพื่อให้เจริญเติบโตเต็มศักยภาพและมีทักษะสุขภาพ โดยมีเป้าหมาย 3 ระยะ คือ ปี 2560 เด็กวัยเรียนสูงดี สมส่วน ร้อยละ 66 ปี 2564 เด็กอายุ 12 ปี เพศชายมีส่วนสูงเฉลี่ย 154 เซนติเมตร เพศหญิง 155 เซนติเมตร และ ปี 2579 เพศชายมีส่วนสูงเฉลี่ย 163 เซนติเมตร และเพศหญิง 164 เซนติเมตร ซึ่งช่วงเวลาทอง (Golden period)ของเด็กในการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว (Growth spurt) ของเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงจะแตกต่างกัน โดยเด็กผู้หญิงจะเริ่มในช่วงอายุ 9–10 ปี ความสูงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงอายุประมาณ 12 ปี จากนั้นอัตราการเพิ่มของความสูงจะลดลงจนกระทั่งถึงอายุประมาณ 16-18 ปี ความสูงจะค่อนข้างคงที่ ส่วนเด็กชายจะเริ่มในช่วงอายุ 10–12 ปี ความสูงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงอายุประมาณ 14 ปี จากนั้นอัตราการเพิ่มของความสูงจะลดลงจนกระทั่งถึงอายุประมาณ 18-20 ปี ความสูงจะค่อนข้างคงที่
นพ.ณัฐพร กล่าวต่อว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสูง ได้แก่ การเจริญเติบโตของกระดูก โดยเฉพาะกระดูกกลุ่ม long bone และการปิดของบริเวณ growth plate การที่เด็กมีการเคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะกระตุ้นให้มีการหลั่งของgrowth hormoneและ growth factor รวมทั้งการกระตุ้นโดยตรงต่อกระดูก ทำให้เพิ่มการสร้างกระดูกมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมให้เด็กวัยเรียนดื่มนมจืด 2 แก้วทุกวัน ร่วมกับการกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับวัย ครบ 5 หมู่ เลือกประเภทที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง เต้าหู้แข็งผักสีเขียวเข้ม เช่น คะน้า ตำลึง ผักกาดเขียว หมั่นออกกำลังกายชนิดที่มีแรงกระแทกของข้อ เช่น กระโดดเชือก กระโดดยาง กระโดดตบ เล่นบาสเก็ตบอล โดยทำต่อเนื่องไม่น้อยกว่าครั้งละ 10 – 15 นาที ทุกวันๆ ละ 60 นาที หรือทำแบบสะสมเวลา ร่วมกับการนอนหลับสนิทอย่างน้อยวันละ 8 – 10 ชั่วโมง ลดปัจจัยเอื้อที่เป็นอุปสรรคต่อการนอนหลับ เช่น ไม่เล่นเกมก่อนนอน ไม่วางโทรศัพท์ไว้บนที่นอน หรือไม่เปิดทีวีทิ้งไว้ในห้องนอน เพื่อให้นอนหลับสนิท ซึ่งจะส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth hormone)ที่สำคัญต่อการเจริญเติบโต การเพิ่มความสูง และควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ให้เป็นไปอย่างปกติ
“การศึกษาวิจัยในต่างประเทศหลายแหล่งพบว่า การดื่มนมมีความสัมพันธ์กับความสูงของเด็ก และล่าสุดในปี 2555 สถาบันประวัติศาสตร์สังคมนานาชาติ ประเทศ เนเธอแลนด์ ได้ศึกษาวิจัยเรื่องการดื่มนมที่มีผลต่อความสูงของเด็กวัยเรียนใน 7 ประเทศ พบว่า การดื่มนมวันละ 245 มิลลิลิตร ร่วมกับการกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับวัย ทำให้ส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 0.4 เซนติเมตรต่อปีอย่างมีนัยสำคัญ ในปีนี้ กรมอนามัยได้รณรงค์ให้เด็กวัยเรียนดื่มนมจืดให้ได้วันละ 400 มิลลิลิตร หรือ 2 แก้วทุกวัน โดยดื่มที่โรงเรียน 1 แก้ว ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้สนับสนุนให้กับเด็กวัยเรียนในวันเปิดเรียนและปิดภาคเรียน จำนวน 260 ถุงหรือกล่อง และอีก 1 แก้ว ต้องขอความร่วมมือจากผู้ปกครองจัดให้เด็กดื่มนมเพิ่มเติมที่บ้าน ซึ่งครอบครัว โรงเรียน ชุมชน เป็นส่วนสำคัญที่จะต้องช่วยกันส่งเสริมให้เด็กวัยเรียนเจริญเติบโตสมวัย ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว